ไม่พบผลการค้นหา
สภาผู้แทนราษฎร ถกร่างกฎหมายป้องกันการทรมานฯ "รมต.สมศักดิ์" แจงหลักการหวังเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประเทศ

สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคล สูญหาย ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยเป็นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในทำนองเดียวกันอีก 3 ฉบับ โดย สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ชี้แจงหลักการและเหตุผลของกฎหมายฉบับนี้ว่า การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นการละมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่ไม่อาจกระทำได้ไม่ว่าในสถานการณ์ใด ๆ 

ดังนั้น เพื่อยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประเทศ สมควรกำหนดฐานความผิด มาตรการป้องกันและปราบปราม และมาตรการเยียวยา ผู้ได้รับความเสียหาย ตลอดจนมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ 

ขณะที่ กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ หนึ่งในผู้เสนอกฎหมายชี้แจงหลักการและเหตุผลเพิ่มเติมว่ากฎหมายฉบับนี้สะท้อนให้เห็นว่าหน่วยงานของรัฐยังละเมิดและไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดแดนภาคใต้ที่มีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กฎอัยการศึก ซึ่งสิ่งต่างๆ นี้กำลังทำลายระบบนิติธรรม หากกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาฯ เชื่อว่าจะสามารถช่วยประชาชนได้โดยเร็ว 

ทั้งนี้การซ้อมทรมานไม่ได้มีเพียงการคลุมถุงดำเท่านั้น แต่ยังมีการเปลื้องผ้าในห้องเย็นอุณหภูมิที่ต่ำ ซึ่งเกิดขึ้นจริงในสังคม ดังนั้นหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหากกฎหมายนี้ผ่านสภาฯ ทั้งสามวาระ เชื่อว่าจะเป็นเกราะป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน และจะทำให้หลักนิติธรรมที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหลายเป็นรูปธรรมและเป็นจริงในทางปฏิบัติ


กฎเหล็กห้ามละเมิดสิทธิ

ด้าน มานพ คีรีภูวดล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุว่า ที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำการให้บุคคลสูญหายหลายกรณี มีกระบวนการสืบสวนสอบสวนไม่โปร่งใส ดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้มีอำนาจแทรกแซงกระบวนการสืบสวนสอบสวนอยู่เสมอ โดยเฉพาะประชาชนที่มีการร้องความยุติธรรมทางสังคม มักจะถูกดำเนินคดี มีการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ดังนั้นตนจึงเห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเคร่งครัดในการทำหน้าที่ดำเนินการโดยยึดหลักสิทธิมนุษยชน มีกระบวนการคุ้มครองประชาชนอย่างชัดเจน และเป็นไปตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากล 


ครอบคลุมการเอาผิด

ขณะเดียวกัน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.จังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทย สนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งเป็นไปตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคล ทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ อีกทั้ง มีการกำหนดฐานความผิดที่ทรมาน ฐานความผิดที่สูญหาย การลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม ซึ่งบางร่างยังไม่มีบัญญัติไว้    

ดังนั้นควรปรับแก้ให้สอดรับกันทั้งฉบับของคณะรัฐมนตรีและของสภาฯ อีกทั้งยัง เห็นด้วยที่ระบุถึงการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร ให้ควรนำกลับมาดำเนินคดีในราชอาณาจักรได้ และความผิดที่ชัดเจนไม่ถือเป็นลักษณะทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเมืองตามกฎหมาย หรือผู้ร้ายข้ามแดน หรือเรื่องของคดีอาญาจะนำมา

กล่าวอ้าง ให้พ้นผิดไม่ได้ ซึ่งไม่มีเหตุให้ต้องยกเว้นความผิด เช่น กระทำการปราบปรามผู้ชุมนุมและเกิดการทำให้สูญหายไป กฎหมายนี้ต้องไม่คุ้มครอง รวมทั้ง ต้องยึดถือหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ห้ามไม่เจ้าหน้าที่รัฐหรือหน่วยงานของรัฐดำเนินการผลักดันให้กลับไปเผชิญอันตราย