ทำให้ตั้งแต่ยุค คสช. เป็นต้นมา เลขาธิการ สมช. เป็นทหารเกือบทั้งหมด ได้แก่ พล.อ.ทวีป เนตรนิยม พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ และ พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา ซึ่งทั้งหมดไม่เคยทำงานใน สมช. แต่ถูก “โยกข้ามห้วย” มายัง สมช. เพราะการจัดโผทหารไม่ลงตัว
โดยมี “พลเรือน-ลูกหม้อ สมช.” เพียงคนเดียว ที่ได้เป็น เลขาธิการ สมช. นั่นคือ “อนุสิษฐ คุณากร”
สำหรับตัวเต็ง เลขาธิการ สมช. คนใหม่ คือ พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เสนาธิการทหาร ที่ทำหน้าที่ เสนาธิการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) ที่อยู่ภายใต้โครงสร้าง ศบค. ในนามหน่วยความมั่นคง โดยมี พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็น หัวหน้า ศปม. ดังนั้นเนื้องานของ ศปม. จึงคาบเกี่ยวกับการแก้ปัญหาโควิดด้วย
ซึ่งตำแหน่ง เลขาธิการ สมช. นั้นเป็น ผู้อำนวยการ ศปก.ศบค. โดยตำแหน่ง เพราะเมื่อ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการ สมช. คนปัจจุบัน เกษียณฯ ก.ย.นี้ ก็ต้องพ้นตำแหน่งดังกล่าวไปด้วย ดังนั้นชื่อ พล.อ.สุพจน์ จึงถือเป็นตัวเต็งที่จะถูก “โยกข้ามห้วย” จาก “ถิ่นเสือป่า-บก.กองทัพไทย” มายัง สมช. ที่ ทำเนียบรัฐบาล มาเป็น “ขุนพล” ข้างกาย พล.อ.ประยุทธ์ ในการสู้กับโควิด
(พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการ สมช.)
สำหรับ พล.อ.สุพจน์ เติบโตมาใน บก.กองทัพไทย จนได้ชื่อว่าเป็น “ลูกหม้อ บก.ทัพไทย” แต่เกษียณฯ ก.ย.66 พร้อมกับ พล.อ.เฉลิมพล ผบ.ทหารสูงสุด (ตท.21) จึงหมดสิทธิ์ลุ้นขึ้นเป็น ผบ.ทหารสูงสุด โดย พล.อ.สุพจน์ เป็นรุ่นน้อง ตท.22-จปร.33 และเป็น ‘เหล่าทหารม้า’ เหมือนกัน แต่ต่างกันที่ พล.อ.เฉลิมพล โตมาจาก พล.ม.2 รอ.
ส่วน พล.อ.สุพจน์ โตมาจากทหารม้าภาคเหนือ กองพันทหารม้าที่ 18 กรมทหารม้าที่ 3 , กองพลทหารม้าที่ 1 ก่อนข้ามมาโตที่ บก.กองทัพไทย ที่หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล อดีตเจ้ากรมยุทธการทหาร
(พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม แคนดิเดต เลขาธิการ สมช.)
ส่วนโผทหารที่ไม่ลงตัว ครั้งนี้อยู่ที่ “กระทรวงกลาโหม” โดย พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกลาโหม (ตท.20) จะเกษียณฯ ก.ย. 2564 ซึ่งในบรรดา รองปลัดกระทรทวงกลาโหม ที่อาวุโสที่สุด คือ พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย (ตท.20) เกษียณฯ ก.ย. 2565 ที่สามารถขึ้นเป็น ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้
แต่ในรุ่น ตท.20 มีความตั้งใจ “ส่งไม้ต่อ” ให้ พล.อ.วรเกียรติ รัตนานนท์ เสธ.ทบ. (ตท.20) ซึ่งก็เป็นการ “โยกข้ามห้วย” อีกคน จาก “ถิ่นมัฆวาน” มายัง “กระทรวงปืนใหญ่” ดังนั้นจึงต้องโยก พล.ร.อ.สมประสงค์ ออกจาก ก.กลาโหม จึงมีการมองว่า พล.ร.อ.สมประสงค์ จะได้ข้ามแม่น้ำเจ้ากระยากลับถิ่น ทร. หรือไม่ หลังพลัดถิ่นมาถึง 2 ปี
หากเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับว่า อาจได้ขึ้นเป็น ผบ.ทร.คนต่อไป ซึ่ง พล.ร.อ.สมประสงค์ เป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท.20 กับ พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผบ.ทร.คนปัจจุบัน แต่ติดเงื่อนไขหนึ่ง คือ พล.ร.อ.สมประสงค์ เป็นคนนอก ทร. ไปแล้ว
(พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผบ.ทร.)
ซึ่งใน ทร. มีแคนดิเดตหลักๆอยู่ 2 คน ได้แก่ พล.ร.อ.สุทธินันท์ สมานรักษ์ ผบ.กองเรือยุทธการ (ตท.22) และ พล.ร.อ.ธีรกุล กาญจนะ เสธ.ทร. (ตท.21) ซึ่งทั้งคู่เกษียณฯก.ย. 2566 จึงต้องลุ้นกันอีกครั้งปีหน้า ทำให้มีการมองว่าด้วย “พลัง ตท.20” ยังแรง อาจทำให้ พล.ร.อ.สมประสงค์ ได้กลับถิ่น ทร. ขึ้นเป็น ผบ.ทร. ก่อนเกษียณฯ 1 ปี เพื่อขัดตาทัพไปก่อน
ด้วยเหตุผล พล.ร.อ.สมประสงค์ ครองอาวุโสที่สุด และขึ้นเป็น พลเอกพิเศษ แล้ว สำหรับ พล.ร.อ.สมประสงค์ เคยเป็น ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือและรักษาราชการผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารไทย ณ กรุงโรม เจ้ากรมการขนส่งทหารเรือ ผู้บัญชาการฐานทัพเรือกรุงเทพและเจ้ากรมข่าวทหารเรือ
ข้ามมาที่กองทัพอากาศ พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผบ.ทอ. เตรียมเกษียณฯ ก.ย. 2564 (ตท.21) ซึ่งภายใน ทอ. ก็มีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอด หลังการขึ้นมาของ พล.อ.อ.แอร์บูล ที่ถือว่า “พลิกโผ-เหนือเมฆ” เลยก็ว่าได้ เพราะมาจากตำแหน่ง “ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทอ.” ไม่ได้มาจาก 5 เสืออากาศ ตามที่ พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาท อดีตผบ.ทอ. ได้เสนอชื่อขึ้นมา พร้อมทั้งโยกบรรดาแคนดิเดต ผบ.ทอ. คนอื่นๆ ออกนอก ทอ. ไปอยู่ กระทรวงกลาโหม-บก.กองทัพไทย จึงเกิดคลื่นใต้น้ำภายใน ทอ. อยู่เนืองๆ
รวมทั้งเกิดเรื่องราวระหว่าง พล.อ.อ.แอร์บูล กับ พล.อ.อ.มานิต ให้ได้เห็น โดยเฉพาะการรื้อสัญญาโครงการต่างๆ และการล้างบางบริษัทอุตสาหกรรมการบิน ทอ. (TAI) ด้วย
สำหรับแคนดิเดต ผบ.ทอ. ปีนี้ ได้แก่ พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ประธานที่ปรึกษา ทอ. และ พล.อ.อ.สฤษฎ์พงศ์ วัฒนวรางกูร ผู้บัญชาการกรมควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ ซึ่งทั้งคู่เป็น ตท.21 เพื่อนร่วมรุ่น พล.อ.อ.แอร์บูล และเหลืออายุราชการอีกคนละ 1 ปีเท่านั้น ส่วนอีกคน คือ พล.อ.อ.ชานนท์ มุ่งธัญญา เสธ.ทอ. (ตท.23) เกษียณฯก.ย.67 ซึ่งชื่อ พล.อ.อ.ชานนท์ คือชื่อที่ พล.อ.อ.มานัต ปูทางไว้ให้ขึ้นเป็น ผบ.ทอ. โดย พล.อ.อ.ชานนท์ โตมาจากสายกำลังรบ เป็นนักบิน F-16 อดีตผู้ฝูงและผู้การกองบิน 4 ตาคลี เคยเป็นผู้ช่วยทูตทหารอากาศที่สวีเดน และกลับมาเติบโตใน กรมข่าวกองทัพอากาศ และขึ้นเป็นเจ้ากรมยุทธการ ทอ.
ทั้งนี้ก็มีการพูดถึงสูตร พล.อ.อ.แอร์บูล ตั้งเพื่อน ตท.21 ขึ้นเป็น ผบ.ทอ. ก่อน 1 ปี ก่อนส่งให้ พล.อ.อ.ชานนท์ ในปีหน้าก็ยังทัน แต่อีกด้านก็มีการมองว่า พล.อ.อ.ชานนท์ อาจขึ้นเป็น ผบ.ทอ. ในปีนี้เลย เพราะเป็นการส่งต่อจากรุ่นพี่ ตท.21 ถึงรุ่นน้อง ตท.23
หากปล่อยไว้ 1 ปี ก็ไม่มีสิ่งใดรับประกันได้ว่า พล.อ.อ.ชานนท์ จะได้ขึ้นเป็น ผบ.ทอ. ในปีหน้า แต่สิ่งที่เห็นได้ชัด คือ พล.อ.อ.แอร์บูล มีความพยายามทำให้การแต่งตั้ง ผบ.ทอ. เป็นไปด้วยความราบเรียบที่สุด ไม่ให้เกิดแรงต้านใน ทอ. เฉกเช่นเมื่อครั้งที่ตนเองขึ้นมา จึงมีโอกาสที่ พล.อ.อ.ชานนท์ จะได้ขึ้นเป็น ผบ.ทอ. คนต่อไป
ในส่วน ทบ. แม้จะยังไม่มีการเปลี่ยน ผบ.ทบ. แต่การวางไลน์ต่างๆนั้นน่าสนใจ โดยเฉพาะแคนดิเดต ผบ.ทบ. ในอนาคต ต่อจาก พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ที่จะเกษียณฯก.ย. 2566 หนึ่งในนั้น คือ พล.ท.เจริญชัย หินเธาว์ แม่ทัพภาคที่ 1 ที่เตรียมขึ้นเป็น ผู้ช่วย ผบ.ทบ. จ่อเป็น ผบ.ทบ. ในอนาคต โดย พล.ท.เจริญชัย (ตท.23) เกษียณฯก.ย. 2567 มาจากสายทหารเสือฯ-บูรพาพยัคฆ์
(พล.ท.เจริญชัย หินเธาว์ แม่ทัพภาคที่ 1)
ทั้งนี้ภายใน “ทหารคอแดง” ก็มีความพยายามสร้างความเป็นเอกภาพ ไม่ให้เกิดการ “แบ่งสาย” ภายในทหารคอแดงด้วยกัน เพราะแม้ว่าจะมี “ทหารคอแดง” ขึ้นมาแล้ว แต่การแต่งตั้งที่ผ่านมา ยังคงเด่นชัดในเรื่อง “สายบูรพาพยัคฆ์-วงศ์เทวัญ” ดังนั้นโผโยกย้ายปลายปี 2564 เหล่า ทบ. จึงน่าต้องติดตามว่า จะมีการ “เกลี่ยสาย” มากขึ้นหรือไม่
สิ่งสำคัญที่สุด คือ ปัจจัยหลักของการตั้ง ผบ.เหล่าทัพ-จัดโผทหารยุคนี้ ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ไม่ได้มี “อำนาจ” ในการเข้ามาจัดโผเฉกเช่นในอดีต
ซึ่งความเด่นชัดเริ่มปรากฏขึ้นในการโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล ปลายปี 2564 ที่ ผบ.เหล่าทัพ มีระยะห่างจาก “2ป.ประยุทธ์-ประวิตร” มากขึ้น ด้วยรุ่นเตรียมทหารที่ห่างกัน ทำให้สายบังคับบัญชาไม่ได้ใกล้กัน รวมทั้งเติบโตมาต่างสายกัน และโครงสร้างอำนาจภายในเหล่าทัพที่เปลี่ยนไปด้วย จึงต้องจับตาดูว่าโผทหารปีนี้จะ “ลดระยะห่าง” ระหว่าง “กองทัพ” กับ “2ป.ประวิตร-ประยุทธ์” ได้หรือไม่ โดยเฉพาะ ทบ.
แต่ถือเป็นสิ่งที่ “2ป.” ให้ความสำคัญ เพราะ “กองทัพ “ ถือเป็น “องคาพยพ” หลัก ในการเป็น “เสาค้ำอำนาจ” ของรัฐบาลอย่างหนึ่ง ซึ่งการจัดโผทหารในขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการจัดของแต่ละเหล่าทัพ ก่อนรวบรวมรายชื่อส่งกลางเดือน ส.ค.นี้ เพื่อเข้าที่ประชุม คณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล หรือ “7 เสือกลาโหม” ช่วงปลายเดือน ส.ค.นี้ ต่อไป