แหล่งข่าวในเรือนจำระบุกับ BBC พม่าว่า ทหารนำตัวอองซานซูจีไปที่อาคารของรัฐบาลในกรุงเนปิดอว์ เมื่อช่วงวันจันทร์ที่ผ่านมา (24 ก.ค.) หลังจากอองซานซูจีใช้เวลานานนับปี ในการถูกคุมขังเดี่ยวในวัย 78 ปี หลังจากเธอถูกศาลของเผด็จการเมียนมาตัดสินให้รับโทษจำคุกนาน 33 ปี ด้วยการพิจารณาคดีแบบลับ ซึ่งดำเนินการโดยกองทัพเมียนมา
ทั้งนี้ ตลอดเวลา 2 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่อองซานซูจีถูกควบคุมตัวโดยกองทัพเผด็จการเมียนมา แทบไม่มีรายงานเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ และสุขภาพของเธอที่ได้รับการรายงานออกมาจากเรือนจำเลย
ไม่มีการยืนยันจากกองทัพเมียนมา เกี่ยวกับการย้ายตัวอองซานซูจีออกจากคุก แต่การกักบริเวณในบ้านอาจเป็นสัญญาณเชิงบวกจากฝ่ายที่ยึดครองอำนาจอยู่ในขณะนี้ ซึ่งต้องเผชิญกับเสียงเรียกร้องมากมาย ที่ต้องการให้มีการปล่อยตัวผู้นำประเทศ ที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยอย่างอองซานซูจี
มีข่าวลือว่าอองซานซูจีกำลังป่วย แต่กองทัพเมียนมาปฏิเสธรายงานดังกล่าว โดยเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา แหล่งข่าวจากเรือนจำเนปิดอว์ที่เป็นสถานที่คุมขังอองซานซูจี ระบุกับ BBC พม่าว่า อองซานซูจีมีสุขภาพที่ดี ในขณะที่ ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย เปิดเผยในเดือนนี้ว่า เขาได้เดินทางไปเยี่ยมอองซานซูจี แต่เขาไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติม นอกจากการระบุกับผู้สื่อข่าวในไทยว่า อองซานซูจีในเรือนจำดูปกติดี
BBC พม่ารายงานว่า กองทัพเมียนมาได้จัดให้มีการพบกันระหว่าง อองซานซูจี และ ทีคุนมยัต ประธานสภาผู้แทนราษฎรเมียนมา อย่างไรก็ดี กองทัพเมียนมาปฏิเสธว่าการหารือดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจริง
นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร ความขัดแย้งนำเมียนมาเข้าไปสู่สงครามกลางเมือง ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปหลายพันคน โดยมาตรการคว่ำบาตรจากทั่วโลกที่ถูกบังคับต่อกองทัพเมียนมา ไม่สามารถหยุดความรุนแรงในเมียนมาได้
อองซานซูจี ในวัย 78 ปี ผู้ที่เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ถูกกักบริเวณในบ้านพักจนถึงเดือน มิ.ย.ปีนี้ ก่อนที่เธอจะถูกย้ายตัวไปขังเดี่ยวในเรือนจำกรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงของเมียนมา ทั้งนี้ เธอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาจากเผด็จการเมียนมา ในขณะที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนประณามการพิจารณาคดีของศาลเมียนมา ว่าเป็นเพียงแค่เรื่องหลอกลวง
อองซานซูจีเป็นลูกสาวของนายพลอองซาน วีรบุรุษแห่งอิสรภาพพม่า โดยเธอเป็นที่รู้จักในฐานะผู้นำขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยเพื่อต่อต้านเผด็จการทหาร ทั้งนี้ เธอยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) อย่างไรก็ดี เธอถูกเผด็จการเมียนมาสั่งกักบริเวณในบ้านพักเมื่อปี 2532 จนกระทั่งอองซานซูจีได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในรางวัลเชิงสัญลักษณ์ด้านประชาธิปไตยชั้นนำของโลก ก่อนที่เธอจะได้รับการปล่อยตัวเธอจากการถูกคุมขังในปี 2553 และกลายมาเป็นบุคคลโด่งดังในเมียนมาและทั่วโลก
แต่ต่อมาอองซานซูจีถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เธอมีส่วนปกป้องเมียนมาจากข้อกล่าวหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (ICJ) ตั้งขึ้นต่อเมียนมา หลังจากมีการกล่าวอ้างเป็นวงกว้างว่า เมียนมามีการกระทำการทารุณโหดร้ายต่อชาวมุสลิมโรฮิงญา ในขณะที่รัฐบาลของอองซานซูจียังคงอยู่ในอำนาจ ทั้งนี้ มีชาวโรฮิงญาเกือบล้านคนหนีออกจากเมียนมาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และตอนนี้อาศัยอยู่ในบังกลาเทศในฐานะผู้ลี้ภัย
ที่มา: