วันนี้ (29 มี.ค. 68) เวลา 19.00 น. ณ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะฝ่ายเลขานุการกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เปิดเผยถึงกรณีเหตุการณ์แผ่นที่ดินไหว ขนาด 8.2 ลึก 10 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 68 เวลา 13.20 น. โดยมีศูนย์กลางที่ประเทศเมียนมา ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบหลายพื้นที่และสถานการณ์มีความรุนแรงส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายต่อร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) จึงได้ประกาศยกระดับการจัดการสาธารณภัยกรณีแผ่นดินไหวเป็นสาธารณภัยขนาดใหญ่ (ระดับ 3) ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 - 2570 โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ เพื่อให้การอำนวยการ ประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานทุกภาคส่วนในการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างมีเอกภาพ
ทั้งนี้ เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น มีพื้นที่รับรู้แรงสั่นไหว รวม 57 จังหวัด รวมถึงกรุงเทพมหานคร โดยมี Aftershock ขนาด 2.8 – 7.1 รวม 138 ครั้ง และได้รับรายงานความเสียหายรวม 14 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน แพร่ เพชรบูรณ์ สุโขทัย พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และจังหวัดชัยนาท รวมถึงกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากที่สุด โดยมีผู้เสียชีวิต 8 ราย บาดเจ็บ 9 ราย และสูญหาย 80 ราย โดยในส่วนของความเสียหายด้านที่อยู่อาศัย พบว่า มีบ้านเรือนเสียหาย รวม 89 หลัง อาคาร 36 แห่ง และโครงการก่อสร้าง 14 แห่ง โดยอาคารส่วนใหญ่ได้รับความเสียหายบางส่วน เกิดรอยร้าว และมีเศษซากวัสดุหลุดออกจากผนังอาคาร ปัจจุบันได้มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย และเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว จำนวน 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดแพร่ อีกทั้งกรุงเทพมหานครได้มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติเต็มพื้นที่ ซึ่งขณะนี้กรมบัญชีกลางได้อนุมัติให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขยายวงเงินทดรองราชการเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (กรณีแผ่นดินไหว) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และ 76 จังหวัด ซึ่งเป็นวงเงินในอำนาจของอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จำนวน 200 ล้านบาท สำหรับใช้จ่ายด้านการดำรงชีพและด้านการปฏิบัติงานฯ
และเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการไปยังหน่วยปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง และจะมีติดตามความคืบหน้าในอีก 1 สัปดาห์ โดยมีประเด็นต่าง ๆ ประกอบด้วย การบริหารสถานการณ์และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ได้ให้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เป็นศูนย์กลางในการอำนวยการ ประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยงาน ระดมสรรพกำลังและทรัพยากรในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในภาพรวม รวมถึงให้ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ส่วนหน้ากรุงเทพมหานคร ดำเนินการให้ความช่วยเหลือและค้นหาผู้ที่ยังติดค้างอยู่ในอาคารที่ถล่ม โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ณ จุดเกิดเหตุ การแจ้งเตือนประชาชน ได้ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เร่งพัฒนาระบบ cell broadcast ที่จะสามารถส่งข้อความแจ้งเตือนไปยังโทรศัพท์มือถือของประชาชนโดยตรง เพื่อให้ประชาชนได้รับการแจ้งเตือนอย่างรวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์ การคมนาคมและการจราจร ให้กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมรองรับ หากเกิดกรณีจำเป็นต้องทำการปิดเส้นทางคมนาคมและการจราจร โดยมีระบบการแจ้งเตือนการปิดเส้นทางให้ประชาชนทราบ พร้อมประชาสัมพันธ์เส้นทางเลี่ยง รวมถึงให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับกระทรวงคมนาคม และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เร่งแก้ไขปัญหากรณีเศษวัสดุจากอาคารสูงหล่นลงมาในบริเวณด่านดินแดงของทางด่วนเฉลิมมหานคร การตรวจสอบอาคาร ให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมกับกรุงเทพมหานคร สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดตั้งคณะกรรมการ/คณะทำงาน เพื่อทำการตรวจสอบอาคารที่ได้รับผลกระทบ และยืนยันความปลอดภัยของอาคาร เพื่อให้ผู้ใช้อาคารมีความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัยของโครงสร้างอาคาร การประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร ให้กระทรวงการต่างประเทศ ทำการสื่อสารภาคภาษาอังกฤษ เพื่อสร้างความเข้าใจแก่นักท่องเที่ยวและสื่อมวลชนจากต่างประเทศที่ให้ความสนใจและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รวบรวมเบอร์โทรศัพท์สายด่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบสถานการณ์และการปฏิบัติตนอย่างปลอดภัย รวมถึงแจ้งช่องทางในการติดตามข่าวสารจากทางภาครัฐ และการแจ้งเหตุหรือขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับการเยียวยาผู้ประสบภัย ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรุงเทพมหานคร เร่งกำหนดมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโดยเร็ว
“ขณะนี้สถานการณ์อยู่ในการควบคุมและเป็นขั้นตอนของการจัดการพื้นที่ และแนวโน้มของการเกิด After Shock ลดระดับลง คาดว่าภายใน 1 - 2 วัน กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติจะพิจารณาลดระดับการจัดการสาธารณภัยลงเป็นระดับ 2 (สาธารณภัยขนาดกลาง) โดยจะโอนอำนาจการสั่งการให้เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต่อไป และขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้จะคลี่คลายลงได้โดยเร็ว และทุกภาคส่วนจะเร่งเดินหน้าช่วยเหลือประชาชนเพื่อให้กลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว” นายภาสกร อธิบดี ปภ. กล่าวทิ้งท้าย