ไม่พบผลการค้นหา
‘หมอวรงค์’ ยื่นผู้ตรวจการฯ สอบ จนท.รัฐ จงใจปกปิดข้อเท็จจริงอาการป่วย ‘ทักษิณ’ เอื้ออภิสิทธิ์รักษาตัวห้องพิเศษ ชี้แถลงการณ์กรมราชทัณฑ์มีความกำกวม บอกคนเป็นหมออ่านแล้วตลก

วันที่ 25 ต.ค. ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี ยื่นร้องต่อสำนักงานผู้ตรวจการฯ เพื่อขอให้ดำเนินการตามมาตรา 66 (3) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2560 เพื่อเสนอต่อ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ทราบ จากกรณีที่รัฐบาลต่อกรณีที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ ในห้อง VVIP ชั้น14 ท่ามกลางข้อสงสัยของประชาชน

นพ.วรงค์ กล่าวว่า ตามข้อเท็จจริง ทักษิณ ถูกศาลฎีกาแผนกคดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองลงโทษจำคุก ฐานทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่หลายคดีจึงได้หลบหนีออกนอกประเทศ แต่เมื่อเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 22 ส.ค. 2566 จึงถูกเจ้าพนักงานควบคุมตัวส่งศาลฎีกา อ่านคำพิพากษารวม 3 คดี โทษจำคุกรวม 8 ปี และถูกส่งตัวไปรับโทษจำคุก ณ เรือนจำกลางคลองเปรม ก่อนจะถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำประมาณ 7ชั่วโมง ก่อนที่จะย้ายตัวไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 

ต่อมาเมื่อมีพระบรมราชโองการฯ พระราชทานอภัยโทษจึงลดโทษจำคุกเหลือ 1 ปี แต่ยังคงพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ โดยไม่มีคำชี้แจงใดๆ จากกรมราชทัณฑ์ หรือนายแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ ว่าเจ็บป่วยด้วยโรคอันใด ป่วยหนักเพียงใดจึงได้สิทธิรักษาตัว ณ โรงพยาบาลนอกเรือนจำ ทั้งที่ก่อนเดินทางมารับโทษ ได้ปรากฎภาพ ทักษิณ ออกกำลังกาย ชกกระสอบทราย แสดงให้เห็นว่า ร่างกายมีความแข็งแรงไม่มีอาการบ่งบอกว่าจะเจ็บป่วย จึงทำให้ประชาชนบางส่วนเชื่อว่า มีการใช้อภิสิทธิ์อ้างว่าเจ็บป่วย เพื่อออกไปรักษาตัว

นพ.วรงค์ กล่าวว่า จากพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐ ประกอบกับการปกปิดข้อเท็จจริงเรื่องอาการเจ็บป่วย ถึงขนาดที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่สามารถรักษาให้ทุเลาได้ จนต้องส่งไปที่โรงพยาบาลตำรวจ และรับรักษาไว้เกินกว่า 60 วัน โดยอ้างว่า เป็นความลับของผู้ป่วยตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งฟังไม่ขึ้น 

อีกทั้งการที่ ทักษิณ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจไม่ได้ใช้สิทธิตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่เข้ารักษาเพราะข้ออ้างว่า โรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่อาจรักษาให้ทุเลาได้ ตามเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ บ่งชี้ได้ว่า การเจ็บป่วยของ ทักษิณ เป็นเพียงข้ออ้างที่จะไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อเปิดช่องให้ออกมารักษาตัวนอกเรือนจำ ได้พักในห้องพิเศษที่มีความสะดวกสบายมากว่าการต้องนอนในเรือนจำ 

นพ.วรงค์ ย้ำว่า กรมราชทัณฑ์จงใจไม่ปฏิบัติตามหน้าที่บังคับใช้กฎหมายที่กรมมีหน้าที่ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรมต้องปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดตามคำพิพากษา คือ จำคุก

“การกระทำของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผู้บัญชาการเรือนจำ แพทย์ผู้รักษาที่เรือนจำและโรงพยาบาลตำรวจ ถือได้ว่า เป็นการร่วมมือกันทำลายกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ทำลายความเป็นนิติรัฐของประเทศ ทำลายหลักนิติธรรม ด้อยค่า และขัดขวางทำให้เสื่อมเสียซึ่งคำพิพากษาของศาลยุติธรรม มิให้เกิดผล” นพ.วรงค์ กล่าว 

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ การฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหลายบทหลายมาตรา เช่น ม.3 และ ม.4 ม.27 และม.53 นั้นสร้างความไม่เป็นธรรม สร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม จนอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในสังคมได้

นพ.วรงค์ ย้ำว่า หาก ทักษิณ ยังป่วยอยู่ และแพทย์มีความเห็นต้องรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ อธิบดีมีอำนาจที่ต้องรายงานต่อปลัดกระทรวงยุติธรรม แต่การแถลงการณ์นั้นมีความกำกวม ใช้คำว่า ผ่าตัดออร์โธปิดิกส์ และรักษาตัวที่ห้องไอซียูศัลยกรรมประสาท เมื่ออ่านแล้วรู้สึกหัวเราะ เพราะเป็นการใช้ศัพท์วิชาการ หากแปลเป็นภาษาเข้าใจง่ายคือ ผ่าตัดกระดูก และเอ็น 

จึงอยากให้โรงพยาบาลตำรวจชี้แจงว่า ทักษิณ เข้ารับการผ่าตัดตรงไหน กระดูก และเอ็น หรือมีความผิดปกติที่ระบบประสาทส่วนไหน ดังนั้นจึงชี้ได้ว่า คำแถลงการณ์นั้นไม่สัมพันธ์กับข้อเท็จจริง 

นพ.วรงค์ กล่าวทิ้งท้ายว่า โรงพยาบาลตำรวจก็แค่แถลงว่า ทำไมถึงรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่ได้ มันดูเหลื่อมล้ำมากเกินไป แต่เชื่อว่าคนไทยมีจิตใจอารี หากแถลงแบบตรงไปตรงมา คนไทยอาจส่งกำลังใจให้ทักษิณ แต่หากไม่ตรงไปตรงมาพี่น้องประชาชนเขาก็อึดอัด 

“ตามปกติแล้วการเจ็บไข้ได้ป่วยจะมีคณะแพทย์ที่แถลงแบบตรงไปตรงมา แม้แต่นายกฯ ไม่สบายก็จะมีแถลง แต่ครั้งนี้เห็นได้ชัดว่า เขาไม่แถลง เพราะถ้าเขาแถลงเขาจะติดบ่วงกฎหมายจริยธรรม จงใจให้มันผิด” นพ.วรงค์ ตั้งข้อสังเกต