สำนักงานสถิติแห่งชาติเผยแพร่ผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากรเดือน ต.ค. 2562 พบว่า ภาวะการทำงานของประชากรไทยที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป มีจำนวน 56.66 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานหรือพร้อมทำงาน 37.44 ล้านคน กับ ผู้อยู่นอกกำลังแรงงาน 19.22 ล้านคน
โดยในจำนวนผู้อยู่ในกำลังแรงงานหรือพร้อมทำงาน แบ่งเป็น ผู้มีงานทำ 37 ล้านคน ผู้ว่างงาน 3.5 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 9 หมื่นคน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานหรือไม่พร้อมทำงาน แบ่งเป็นกลุ่มแม่บ้านและคนชรา 5.67 ล้านคน เรียนหนังสือ 4.31 ล้านคน และอื่นๆ 9.24 ล้านคน
สำหรับผู้อยู่ในกำลังแรงงานและมีงานทำ 37 ล้านคน ประกอบด้วยผู้ทำงานในภาคเกษตร 11.15 ล้านคน นอกภาคการเกษตร 25.85 ล้านคน โดยผู้ทำงานในภาคเกษตรลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นการลดลงในสาขาการปลูกข้าวจ้าว ปลูกข้าวเหนียว และการปลูกพริก ส่วนผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรก็มีจำนวนลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน จำนวน 3 แสนคน เช่นกัน โดยส่วนใหญ่เป็นการลดลงในสาขาการศึกษา 8 หมื่นคน สาขาการผลิต สาขาก่อสร้างและสาขาบริหารราชการ ป้องกันประเทศ และการประกันสังคมภาคบังคับ ซึ่งลดลงเท่ากัน 7 หมื่นคน สาขาขายส่ง ขายปลีก ซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ และสาขากิจกรรมบริการอื่นๆ ลดลงเท่ากันคือ 4 หมื่นคน สาขากิจกรรมด้านสุขภาพและสังคมสงเคราะห์ลดลง 2 หมื่นคน
อย่างไรก็ตาม มีผู้มีงานทำนอกภาคเกษตร ที่มีการทำงานเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน ต.ค. 2561 ได้แก่ สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร เพิ่มขึ้น 9 หมื่นคน สาขากิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มขึ้น 2 หมื่นคน สาขาขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าเพิ่มขึ้น 1 หมื่นคน ส่วนสาขากิจกรรมทางการเงินและประกันภัยไม่มีการเปลี่ยนแปลง
เมื่อพิจารณาที่ชั่วโมงการทำงานของผู้มีงานทำต่อสัปดาห์ พบว่า ในเดือน ต.ค. 2562 ส่วนใหญ่ทำงานตั้งแต่ 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ทำงานเต็มที่ในเรื่องชั่วโมงทำงาน ที่มีจำนวน 31.53 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 85.2 ของผู้มีงานทำทั้งหมด
ส่วนจำนวนการว่างงานในเดือน ต.ค. 2562 มีทั้งสิ้น 3.55 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน ร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีจำนวนผู้ว่างงาน 3.84 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1 นับว่าปีนี้จำนวนผู้ว่างงานลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.9 หมื่นคน และจำนวนผู้ว่างงานลดลงจากเดือนก.ย. 2562 จำนวน 3 หมื่นคน
ขณะที่เมื่อพิจารณาอัตราการว่างงานตามเพศ พบว่า เพศชายมีอัตราการว่างงานสูงกว่าเพศหญิง โดยอัตราการว่างงานเพศชายอยู่ที่ร้อยละ 1 เพศหญิงร้อยละ 0.9 ส่วนกลุ่มผู้มีอายุ 15-24 ปี มีอัตราการว่างงานร้อยละ 5.3 ซึ่งปกติคนกลุ่มนี้จะมีอัตราการว่างงานสูง อย่างไรก็ตาม เดือน ต.ค. 2562 คนวัยดังกล่าวมีอัตราการว่างงานมากกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีอัตราที่ร้อยละ 5.1 ส่วนกลุ่มอายุ 25 ปีขึ้นไป มีอัตราการว่างงานร้อยละ 0.5
เมื่อเปรียบเทียบระดับการศึกษาของผู้ว่างงาน พบว่า เดือน ต.ค. 2562 มีผู้ว่างงานที่สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา 1.47 แสนคน (อัตราการว่างงานร้อยละ 1.7) รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 7.3 หมื่นคน (ร้อยละ 1.1) ระดับประถมศึกษา 6 หมื่นคน (ร้อยละ 0.7) ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า 5.6 หมื่นคน (ร้อยละ 0.9) และไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 1.9 หมื่นคน (ร้อยละ 0.3) โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า ผู้ว่างงานระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้น 1 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นลดลง 6 พันคน ระดับประถมศึกษา เพิ่มขึ้น 2.1 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า ลดลง 4.2 หมื่นคน และกลุ่มไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา ลดลง 1.2 หมื่นคน
อีกทั้งยังพบว่า ในจำนวนผู้ว่างงาน 3.55 แสนคน เคยทำงานมาก่อน 1.85 แสนคน และไม่เคยทำงานมาก่อน 1.7 แสนคน โดยในจำนวนผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา 5.2 หมื่นคน ระดับประถมศึกษา 4.2 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 4.1 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า 3.2 หมื่นคน และไม่มีการศึกษาหรือต่ำกว่าประถมศึกษา 1.8 หมื่นคน
หากแบ่งจำนวนผู้ว่างงานออกเป็นรายภูมิภาค พบว่า ภาคกลางมีจำนวนผู้ว่างงานมากที่สุดจำนวน 1.25 แสนคน ตามมาด้วยภาคเหนือ 7.1 หมื่นคน ภาคใต้ 7 หมื่นคน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6.1 หมื่นคน และกรุงเทพฯ 2.8 หมื่นคน โดยภาคกลางมีจำนวนผู้ว่างงานลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 6 พันคน ภาคเหนือเพิ่มขึ้น 1.3 หมื่นคน ภาคใต้เพิ่มขึ้น 7 พันคน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลง 3.9 หมื่นคน และกรุงเทพฯ ลดลง 4 พันคน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :