ไม่พบผลการค้นหา
ที่ประชุมกรรมการสรรหาตุลาการศาล รธน.เผยแพร่มติให้ 5 ตุลาการ 'นุรักษ์ - ชัช - จรัญ - อุดมศักดิ์ - บุญส่ง' พ้นจากตำแหน่งต้องคัดเลือกและสรรหาใหม่ตาม รธน.ใหม่ ล่าสุดกรรมการสรรหาเปิดรับสรรหา 1 ที่ตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี 1 คน ขณะที่อีก 4 ตุลาการ เลขาฯวุฒิสภายันไม่ขาดคุณสมบัติ

เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีนายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน ประชุมเป็นครั้งแรกเพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่าประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันก่อนที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 ใช้บังคับตามมาตรา 79 วรรคสองนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้ต้องสรรหาหรือคัดเลือกในประเภทใด ตามมาตรา 8 (1) (2) และ (5) ตามบทเฉพาะกาลมาตรา 80 วรรคสี่

โดยที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาฯได้เผยแพร่ผลมติคณะกรรมการสรรหา ซึ่งประกอบด้วยนายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด และนายนิรันดร์ กัลยาณมิตร บุคคลซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินแต่งตั้งเป็นกรรมการสรรหา โดยมีมติวินิจฉัยให้ต้องมีการคัดเลือกและสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมด 5 ราย ดังนี้

1.นายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ต้องได้รับการคัดเลือก ตามมาตรา 8 (1) จากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา  

2.นายชัช ชลวร ตุลากาศาลรัฐธรรมนูญ ต้องได้รับการคัดเลือก ตามมาตรา 8 (1) จากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 

3.นายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต้องได้รับการคัดเลือกตามมาตรา 8 (1) จากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 

4.นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต้องได้รับการคัดเลือกตามมาตรา 8 (2) จากที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด

และ5.นายจรัญภักดี ธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต้องได้รับการสรรหาตามมาตรา 8 (5) จากผู้ทรงคุณวุฒิที่เคยรับราชการไม่ต่ำกว่าอธิบดี หัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า หรือไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดไม่น้อยกว่า 5 ปี 

ทั้งนี้ การเปิดรับสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 1 คนจะเปิดสรรหาในตำแหน่งในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้รับหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการหรือเทียบเท่า หรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี เพียง 1 คนนั้น โดยจะเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย. - วันที่ 3 ก.ค. ที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา อาคารสุขประพฤติทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ ซึ่งล่าสุดยังไม่มีผู้มาสมัคร

สำหรับ 5 ตุลาการที่ถูกวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งได้อยู่ในตำแหน่งก่อนหน้านี้ แม้จะอยู่เกินวาระตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดก็ตาม แต่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ในบทเฉพาะกาล มาตรา 79 กำหนดให้ประธานและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปในวันก่อนที่ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวใช้บังคับ และตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 24/2560 ยังคงให้ 5 ตุลาการดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีตุลาการที่ได้รับแต่งตั้งใหม่ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง (1) (2) และ (5) จะเข้ารับหน้าที่ และให้เป็นอำนาจคณะกรรมการสรรหาฯจะเป็นผู้วินิจฉัยว่าตุลาการทั้ง 5 คนจะต้องมีการคัดเลือกและสรรหาตามประเภทใด

เลขาฯวุฒิสภา ยัน 5 คนที่พ้นเก้าอี้ต้องอยู่ต่อจนกว่าคนใหม่เข้ามา

ขณะที่ นายนัฑ ผาสุข เลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะเลขานุการกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า คณะกรรมกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้วินิจฉัยแล้วว่า พบว่ามี 5 ตุลาการที่อยู่ในชุดปัจจุบันต้องพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งขณะนี้ต้องดำเนินการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 3 คน ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด 1 คน และให้สรรหาผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้รับหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการหรือเทียบเท่า หรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี อีก 1 คน รวมแล้วต้องดำเนินการคัดเลือกและสรรหาใหม่ 5 คน 

นายนัฑ ระบุว่า ส่วนกรณีที่นายจรัญ ภักดีธนากุล ซึ่งเป็นตุลาการจากสาขาผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ ให้พ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ต้องเปิดให้มีการสรรหาสาขานิติศาสตร์ เพราะขณะนี้มีนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่อยู่แล้วจึงครบจำนวน 1 คนในสาขานิติศาสตร์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้

ดังนั้น ขณะนี้ประธานศาลรัฐธรรมนูญ 1 คน และตุลาการอีก 4 คนที่ต้องพ้นจากตำแหน่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่ต้องจะสรรหาใหม่ แต่กฎหมายให้ 5 คนที่กรรมการสรรหาวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งไปนั้นจะต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีตุลาการ 5 คนใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน ส่วนตุลาการอีก 4 คนไม่ถือว่าขาดคุณสมบัติ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้อยู่ต่อ แต่จะมีสายรัฐศาสตร์อยู่ 2 คน คือ นายปัญญา อุดชาชน และนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ แม้รัฐธรรมนูญจะให้มีผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ 1 คน ทำให้ต้องสรรหาในตำแหน่งผู้รับหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการหรือเทียบเท่า หรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุด เพียงอีก 1 คนเท่านั้น จึงจะครบองค์คณะตุลาการทั้งหมด 9 คน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง