ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ปฏิเสธอันตรายของไวรัสโควิด-19 จนกระทั่งเมื่อช่วงดึกวันพุธที่ผ่านมา ผู้นำสหรัฐฯ ได้ประกาศมาตรการรุนแรง "ห้ามพลเมืองจากภาคพื้นยุโรปเดินทางเข้าสหรัฐฯ เป็นเวลา 30 วัน" และจะต่อสู้กับ “ไวรัสต่างชาติ” ซึ่งทำให้บรรดาผู้นำจากสหภาพยุโรปแสดงความไม่พอใจต่อความเคลื่อนไหวนี้ที่สร้างความปั่นป่วนให้กับสนามบินต่างๆ และชี้ว่านี่เป็นการตัดสินใจของทรัมป์โดยไม่ได้มีการหารือกันก่อน
สำนักข่าวเอเอฟพี ได้รายงานความเห็นของเคลลี แมกซาเมน รองประธานด้านความมั่นคงแห่งชาติและนโยบายระหว่างประเทศของ Center for American Progress ที่มองว่าการตัดสินใจของทรัมป์มีแต่จะยิ่งทำให้เกิดคำถามเพิ่มขึ้นถึงบทบาทการเป็นผู้นำทางประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ หุ้นส่วนและพันธมิตรจำนวนมากคงตั้งคำถามว่าสามารถเชื่อใจสหรัฐฯให้เป็นผู้นำในการเผชิญกับความท้าทายใหญ่ๆ ของโลกได้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการระบาดใหญ่ของไวรัส การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ โดยมองว่านี่จะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และพันธมิตรในมิติอื่นๆ
การแข่งขันเพื่อเป็นผู้นำระหว่างจีน-สหรัฐฯ
การระบาดของไวรัสโควิด-19 ถูกพบครั้งแรกเมื่องช่วงปลายปีที่แล้วในเมืองอู่ฮั่นของจีน โดยมีแนวโน้มว่าต้นตอมาจากตลาดค้าเนื้อสัตว์ป่า ในช่วงแรกรัฐบาลจีนพยายามปิดข่าวซึ่งรวมถึงการจับกุมแพทย์ที่ออกมาแจ้งเตือนการระบาดด้วย แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าทางการจีนจะเปลี่ยนมาใช้อำนาจละมุนในตอบสนองต่อไวรัสโควิด-19 โดยประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเพิ่งเดินทางเยือนเมืองอู่ฮั่นเพื่อเป็นสัญญาณประกาศถึงความสำเร็จในการควบคุมไวรัส จีนยังส่งอุปกรณ์ทางแพทย์ไปอิตาลีซึ่งเป็นประเทศมีการระบาดรุนแรงที่สุดอันดับสองอีกด้วย
จีนยังใช้วิกฤตนี้เป็นเครื่องมืองัดข้อกับคู่แข่งด้านอิทธิพลในทุกมิติอย่างสหรัฐฯ บทความหนึ่งที่เผยแพร่ใน Global Times สื่อรัฐบาลจีนบอกเป็นนัยว่า จีนอาจจะหยุดส่งออกหน้ากากและอุปกรณ์ทางการแพทย์หากรัฐบาลของทรัมป์ยังเดินหน้ากดดันหัวเว่ย บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน ขณะที่โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนกล่าวหาผ่านทวิตเตอร์ว่า กองทัพสหรัฐฯ อาจเป็นผู้นำเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มายังอู่ฮั่น
ด้านรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งได้เสนอความช่วยเหลือทั่วโลก 100 ล้านดอลลาร์ ช่วยประเทศต่างๆ รับมือกับการระบาดใหญ่ครั้งนี้ ก็ได้ย้ำว่าไวรัสชนิดนี้เริ่มระบาดจากเมืองอู่ฮั่นของจีน โดยนายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ยังคงเรียกไวรัสชนิดนี้ว่า “ไวรัสอู่ฮั่น” ส่วนนายโรเบิร์ต โอไบรอัน ที่ปรึกษาความมั่นคงของทรัมป์ก็ได้ออกมาโต้กลับจีนเช่นกันว่าไวรัสชนิดนี้ไม่ได้เริ่มขึ้นในสหรัฐฯ แต่เกิดขึ้นมาเป็นเวลาหนึ่งแล้วในอู่ฮั่น เป็นเรื่องโชคร้ายที่มีการปิดบังเรื่องโรคระบาดนี้แทนที่จะรับมือด้วยวิธีที่ดีที่สุด ซึ่งการปกปิดของจีนทำให้ประชาคมโลกเสียเวลาไปนานถึง 2 เดือน ในการหาทางรับมือวิกฤต หากทีมผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลกและศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ CDC ได้รับเชิญเข้าไปในพื้นที่ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ก็คิดว่าจะสามารถบรรเทาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในจีนและที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกตอนนี้ได้อย่างมาก
การโต้กลับของเทคโนแครต?
ไมเคิล กรีน ที่ปรึกษาระดับสูงด้านเอเชียของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งปัจจุบันเป็นรองประธานอาวุโสของ Center for Strategic and International Studies มองว่าในขณะที่ชาวญี่ปุ่นและชาติอื่นในเอเชียไม่ได้รับการปฏิบัติที่น่าตกใจแบบชาวยุโรป แต่ก็คงมีการตั้งคำถามอย่างหนักถึงภาวะการนำของอเมริกาในตอนนี้ ขณะที่ผลกระทบที่กว้างกว่านั้นคือการเปลี่ยนแปลงเรื่องเล่าทางการเมือง โดยประธานาธิบดี 'สีจิ้นผิง' ซึ่งครั้งหนึ่งถูกมองว่าเป็นบุคคลที่ไม่สามารถแตะต้องได้ในจีนก็เผชิญเสียงวิจารณ์ ในขณะที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตให้กำลังใจบรรดาแพทย์
กรีนระบุว่าชัยชนะของทรัมป์ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2559 การลงประชามติออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร และชัยชนะอื่นๆ ของฝ่ายประชานิยม ถูกมองเป็นหลักฐานพิสูจน์ว่าเทคโนแครตล้มเหลวหลังจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ หรือ The Great Recession เมื่อช่วงปลายทศวรรษ 2000 และสงครามอิรัก แต่เขาก็มองว่าเป็นไปได้มากที่ผลในระดับมหภาคซึ่งเกิดขึ้นในเวลานี้ อาจเป็นไปได้ว่ากลุ่มประชานิยมทางการเมืองล้มเหลว และเทคโนแครตได้ออกมาเป็นฮีโร่ นี่อาจเป็นวิธีการที่ประวัติศาสตร์ทางการเมืองเปลี่ยนแปลง
ที่มา The Jakarta Post/CBS News