เมื่อเวลา 10.40 น. วันที่ 1 ธ.ค. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 9 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) โดยมี ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม ได้เข้าสู่วาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ... ในวาระที่สอง ที่ค้างการพิจารณาไว้ที่มาตรา 9/1 ตั้งแต่การประชุมนัดที่ผ่านมา โดย ชวน ได้กำชับให้สมาชิกร่วมมือกัน เพราะกฎหมายดังกล่าวใช้เวลาพิจารณามามากแล้ว
ระหว่างนั้น จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ได้ย้ำเตือนว่า การลงมติในมาตรา 9/1 นั้น เป็นการลงมติซ้ำโดยมีกรรมาธิการฯ อ้างว่า สมาชิกฯ อาจจะสับสนกับคำถาม ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่าเป็นกระบวนการที่ขัดต่อข้อบังคับ จึงขออนุญาตแสดงจุดยืนไม่เห็นชอบ โดยการไม่ร่วมแสดงองค์ประชุมและลงมติในมาตรานี้ แต่จะไม่ออกจากห้องประชุม
จากนั้นสมาชิกฯ ได้หารือกันต่ออีกครู่หนึ่ง โดยทั้งฝ่ายคณะกรรมาธิการฯ เสียงข้างมากและเสียงข้างน้อย อภิปรายแสดงความเห็นต่อการลงมติอีกครั้งนั้น อาจไม่ชอบด้วยข้อบังคับหรือไม่อย่างไร ฝ่ายที่เห็นว่าไม่ขัดต่อข้อบังคับก็ยืนยันว่าเกิดความเข้าใจผิดจริงจึงต้องลงมติกันใหม่ และก่อนการลงมติดังกล่าวนั้นก็ได้ถามความเห็นสมาชิกในห้องประชุมแล้ว ไม่ได้เป็นการทำตามอำเภอใจ
ต่อมา ชวน จึงได้เรียกสมาชิกให้เข้าประชุมเพื่อเตรียมลงมติ เวลา 10.51 น. ก่อนจะยุติไม่ให้สมาชิกมีการอภิปรายต่อไปอีก โดยระบุว่า ไม่ต้องเถียงทะเลาะกันแล้ว
จนกระทั่งเวลา 11.38 น. ชวน ได้แจ้งว่า ตนได้ทราบจากผู้คุมเสียงฝ่ายรัฐบาลแล้ว ว่าต้องใช้เวลาอีกนานในการตามสมาชิกให้มาประชุม ขณะนี้องค์ประชุมมีจำนวน 221 คน ยังขาดอยู่อีก 10 กว่าคน เพื่อไม่ให้เสียเวลาจึงได้สั่งปิดประชุม ในเวลา 11.41 น.
สภาล่มรวม 3 ครั้งหลังเปิดสมัยประชุมรัฐสภา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเปิดสมัยประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2565 เป็นต้นไป ก่อนหน้านี้สภาผู้แทนราษฎรได้องค์ล่มมาแล้ว 2 ครั้ง โดยเมื่อวันที่ วันที่ 3 พ.ย. 2565 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 3 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ ระหว่างวาระรับทราบรายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง ญัตติเพื่อพิจารณาศึกษาสอบหาข้อเท็จจริงกรณีการปิดอ่าวมาหยา จ.กระบี่ ที่กรรมาธิการฯ พิจารณาเสร็จแล้ว พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นเสนอให้ที่ประชุมลงมติเพื่อตรวจสอบองค์ประชุม หลังเห็นว่าเวลานี้มีสมาชิกฯ อยู่ในห้องบางตา
ทำให้ สุชาติ ตันเจริญ รองประสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ประธานการประชุมจึงรีบตัดบทว่า “พอแล้วครับ เดี๋ยวตกเครื่องบินครับ รีบกลับ” ก่อนจะปิดการแสดงตน และแจ้งต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้มีองค์ประชุม 183 คน ยังห่างไกลจากองค์ประชุมที่เกินกึ่งหนึ่งคือ 238 คน จึงได้สั่งปิดประชุมทันทีทั้งที่เปิดประชุมสภาฯ ได้ไม่กี่ชั่วโมง
ครั้งที่สอง คือ วันที่ 23 พ.ย. 2565 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 6 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) ระหว่างวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ...ที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ที่ประชุมส่วนมากเห็นด้วยกับมาตรา 8/1 ที่คณะกรรมาธิการเพิ่มขึ้นใหม่
จากนั้น ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุมได้เรียกสมาชิกฯ เข้ามาเป็นองค์ประชุม โดยหลังจากรอองค์ประชุมอยู่ 5 นาที แล้วเห็นว่าองค์ประชุมยังไม่ครบ ก็ได้ตัดสินใจปิดการประชุม พร้อมกล่าวขอบคุณสมาชิกฯ ที่มาร่วมประชุม ส่วนสมาชิกฯ ที่ไม่มาประชุม จะเปิดเผยชื่อเพื่อให้ประชาชนได้สอบถามเอง
ฝ่ายค้าน ไม่ยอมลงมติใหม่ ลั่นไม่ร่วมสังฆกรรม
ต่อมา พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย สมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) พร้อมด้วย ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรล่มครั้งล่าสุด ว่า ที่ผ่านมาเรายืนยันและคัดค้านมาตลอดว่าในการลงมติไปแล้วไม่สามารถกลับมาลงคะแนนใหม่ได้ พอวันนี้ก็มาเข้ามาตราเดิม ซึ่งเราได้พูดแล้วว่าถ้าทางรัฐบาลจะลงมติใหม่ เราจะไม่ร่วมสังฆกรรมด้วย และเราก็จะไม่เป็นองค์ประชุม ซึ่งหลังจากนี้ก็จะเป็นหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาล ที่จะหาองค์ประชุมมาเอง ซึ่งบรรยากาศแบบนี้เกิดขึ้นกับสภาฯ เชื่อว่าไม่ดีแน่
“ฝ่ายค้านได้ส่งสัญญาณว่าจะไม่เป็นองค์ประชุมตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ฉะนั้น เรื่องนี้รัฐบาลต้องตอบคำถามให้ได้ว่า คนของท่านหายไปไหน ทำไมองค์ประชุมไม่พอ ซึ่งถ้าองค์ประชุมครบมาตราอื่นๆเราพร้อมที่จะร่วมประชุมด้วย” สมคิด กล่าว
ด้าน ณัฐวุฒิ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราจะได้ยินว่าองค์ประชุมเป็นของรัฐบาล รัฐบาลจะรับผิดชอบเพียงผู้เดียว แต่ฝ่ายค้านเราไม่ได้มองเท่านั้น ที่ผ่านมาเราให้ความร่วมมือในเรื่องประชุม แต่ในครั้งนี้เป็นเรื่องของหลักการ ในกรณีที่มีความแตกต่างกับกฎหมายฉบับอื่นๆ ซึ่งจะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าที่พรรคก้าวไกล หรือฝ่ายค้านเองก็เคยใช้การนับคะแนนใหม่ใน พ.ร.บ. สุราก้าวหน้า ซึ่งนั่นเป็นไปตามข้อบังคับของการประชุม ที่คะแนนห่างกันไม่ถึง 25 คะแนน จึงนำไปสู่การขอให้นับคะแนนใหม่
แต่ในกรณีที่เกิดขึ้นใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งขอให้มีการนับคะแนนใหม่ ไม่ใช่เช่นนั้น และกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อเช้านี้ (1 ธ.ค.) ทั้งตนและ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ได้ขอความชัดเจนจากประธานสภาฯ และตัวแทนวิปฝ่ายรัฐบาลว่าใช้ข้อบังคับการประชุมข้อใด ในการขอให้มีการลงคะแนนใหม่ดังนั้น เราจำเป็นที่ต้องยืนยันในหลักการว่า เมื่อไม่มีกฎหมายให้อำนาจในการดำเนินการได้ เราก็ไม่สามารถร่วมดำเนินการได้
“ท้ายที่สุด เรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล เพราะไม่ว่าจะเป็นกฎหมายฉบับนี้ หรือฉบับถัดไป ล้วนแต่เป็นกฎหมายที่ฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้เสนอ ฉะนั้น หากไม่รับผิดชอบองค์ประชุมได้ ก็เสมือนว่าท่านไม่รับผิดชอบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ได้เช่นเดียวกัน เรื่องนี้ไม่ใช่เกมการเมือง แต่เป็นความชอบธรรมในทางกฎหมาย ซึ่งไม่ปรากฏว่าสิ่งที่รัฐบาลหรือสภาทำในวันนี้ มีความชอบธรรม ดังนั้น เรามีความชัดเจนในจุดยืน และจะเป็นจุดยืนที่จะใช้ในช่วงบ่ายของวันที่ 7 ธ.ค. ” ณัฐวุฒิ กล่าว
'ชินวรณ์' สวน 'ฝ่ายค้าน' อ้างหลักการทำสภาฯ ล่ม เย้ยเอาอะไรมาแลนด์สไลด์
ขณะที่ แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล นำโดย ชินวรณ์ บุญเกียรติ์ ส.ส. นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ได้ชี้แจงกรณีสภาล่มว่า กรณีที่ฝ่ายค้านออกมาย้ำว่า ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ดำเนินการโดยไม่ชอบ ที่ให้มีการลงมติใหม่ ชินวรณ์ ย้ำว่า การลงมติในสัปดาห์ที่แล้ว เป็นเรื่องของกระบวนการที่สื่อสารผิดพลาด ซึ่งตนเป็นคนท้วงต่อประธานสภา ว่าเป็นความเข้าใจผิดของเพื่อนสมาชิกในการลงคะแนน และในช่วงนั้นเองก็ได้ไปคุยกับกรรมาธิการเสียงข้างน้อยและฝ่ายค้านว่า ถ้าหากว่า มาตรา 9/1 แพ้แล้ว ก็จะให้ถอนมาตรา 9/2 ถึงมาตรา 9/20 ต่อไป เพราะเรื่องเกี่ยวเนื่องกัน
ขณะที่กรรมาธิการเสียงข้างน้อยก็พร้อมรับ เพราะจะทำให้สภาไม่เสียเวลา แต่พอกลับมานั่งบันลังก์ในฐานะประธานกรรมาธิการฯ ปรากฎว่า คะแนนออกมา เนื่องจากความเข้าใจที่ผิดพลาด กรรมาธิการฯเสียงข้างน้อยชนะไป จึงได้เรียนกับประธานสภาฯ ว่า เมื่อมีความผิดพลาดขอให้ใช้อำนาจตาม มาตรา 9 เพื่อลงมติใหม่ แต่ประธานก็ไม่ได้ใช้อำนาจและถามมติในที่ประชุมว่า เห็นด้วยกับการให้ลงมติใหม่หรือไม่ ที่ประชุมก็เห็นชอบ กระบวนการลงมติใหม่จึงเป็นเรื่องของมติสภาที่ออกมาชัดเจนแล้ว และถูกต้องตามรัฐธรรมนูญทุกประการ
นวรณ์ ยังระบุว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ตั้งต้นมาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วว่าจะไม่เห็นด้วย และจะไม่ร่วมเป็นองค์ประชุม ก็เป็นที่ชัดเจนว่า ฝ่ายค้านเตรียมการที่หยิบยกเอาประเด็นที่เป็นเทคนิคในทางการเมืองเกี่ยวกับข้อบังคับการประชุมเท่านั้น เพื่อมาเล่นการเมืองอย่างต่อเนื่องจนถึงสัปดาห์นี้
“เสียงข้างมากเป็นความรับผิดชอบของฝั่งรัฐบาลครับ แต่องค์ประชุมผมถือว่าเป็นความรับผิดชอบของทุกฝ่าย การทำงานในสภาฯ ควรร่วมมือกัน นี่คือนิติบัญญัติ ส่วนจะไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลก็เป็นอีกเรื่อง แต่หากเล่นการเมืองทุกเรี่องโดยเกินความจำเป็น ฝ่ายค้านจะแลนด์สไลด์ได้อย่างไร”
ทั้งนี้ ชินวรณ์ ย้ำว่า ในสมัยประชุมสุดท้ายนี้ อยากเรียกร้องให้ฝ่ายรัฐบาลให้รับผิดชอบต่อองค์ประชุม และขอให้ฝ่ายค้านรับผิดชอบต่อองค์ประชุมเช่นเดียวกัน ถือเป็นการแสดงให้เห็นว่า ฝ่ายค้านจะรักษาผลประโยชน์ของประชาชน