ปัจจุบันญี่ปุ่นคือหนึ่งใน 11 ประเทศทั่วโลกที่การทำแท้งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อบุคคลดังกล่าวได้รับการยินยอมจากบุคคลที่สาม หรือ ‘สามี’ ก่อน แม้ที่ผ่านมาจะมีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องในการผลักดันให้รัฐบาลแก้กฎหมายนี้ โดยที่ผ่านมากลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีมากมายและองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ต่างให้การสนับสนุน
The Guardian รายงานว่า คาซาเนะ คะจิยะ นักเคลื่อนไหวเพื่อ สิทธิการทำแท้งและการเข้าถึงการคุมกำเนิดชาวญี่ปุ่นกล่าวกับผู้สื่อข่าวเพียงหนึ่งวันก่อน ‘วันยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยสากล’ (Safe Abortion Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 28 ก.ย. ของทุกปีว่า “ผู้หญิงควรมีสิทธิ์ตัดสินใจว่าจะทำอะไรกับร่างกายของตัวเอง การขัดขวางสิทธิ์นั้นถือเป็นการที่ผู้หญิงถูกคุกคามทางเพศจากประเทศชาติของตัวเอง”
คะจิยะกล่าวย้ำว่า พรบ.คุ้มครองสุขภาพมารดาในญี่ปุ่นนั้น แท้จริงแล้วก็มีจุดประสงค์ในการตอกย้ำว่าผู้หญิงต้องเดินหน้าทำหน้าที่บทบาทความเป็นแม่ตามธรรมเนียมดั้งเดิมให้สมบูรณ์ที่สุด พร้อมระบุ “ญี่ปุ่นไม่ได้ต้องการที่จะปกป้องผู้หญิง แต่จริงๆ แล้วพยายามที่จะปกป้องร่างกายของผู้หญิงเหล่านั้นในฐานะที่เป็นสมบัติของสาธารณะ และในฐานะผู้ให้กำเนิดประชากรในอนาคต เราต้องการการได้รับสิทธิมนุษยชนในการเข้าถึงการคุมกำเนิดและการทำแท้งโดยที่ผู้หญิงไม่ต้องรอรับความยินยอมจากบุคคลอื่นอีกต่อไป แต่ปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นปฏิบัติกับร่างกายของผู้หญิงไม่ต่างกับการเป็นสมบัติชาติ”
“เมื่อใดก็ตามที่ผู้หญิงต้องตัดสินใจเกี่ยวกับร่างกายของตัวเอง สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมญี่ปุ่นก็คือความเห็นของผู้ชายที่มักจะมีน้ำหนักมากกว่าความสุข สุขภาพ และชีวิตของผู้หญิงเสมอ” นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี การเข้าถึงการกำเนิด และการทำแท้งของผู้หญิงญี่ปุ่นกล่าว ซึ่งขณะนี้เธอได้ยื่นคำร้องไปยังรัฐบาลให้มีการเปลี่ยนกฎหมายของญี่ปุ่นในเร็ววัน
ทั้งนี้ กฎหมายอนุญาตให้ผู้หญิงสามารถทำแท้งได้โดยไม่ต้องขอการยินยอมจากบุคคลที่สามในกรณีพิเศษ เช่น การถูกข่มขืน และกรณีที่สุขภาพของหญิงตั้งครรภ์ไม่เหมาะกับการมีบุตร
แต่หากผู้หญิงญี่ปุ่นคนใดละเมิดกฏหมายด้วยการทำแท้งในกรณีเหตุผลส่วนตัวโดยไม่ได้รับการยินยอมจากสามี หรืออาจละเมิดกฏหมายด้วยการปลอมลายเซ็นของสามีเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุตติการตั้งครรภ์ หรือกระทั่งการสั่งซื้อยาเพื่อยุติการตั้งครรภ์จากช่องทางออนไลน์ จะได้รับการลงโทษด้วยการจำคุกเป็นเวลาหนึ่งปี