ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Exploring the Dynamics: การค้าโลกใหม่” ที่โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท วานนี้ (20 ธ.ค.66)
ภูมิธรรม กล่าวว่า โลกปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงเร็ว ถ้าไม่เข้าใจจะก้าวตามไม่ทัน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันการค้าโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด มีความไม่แน่นอนสูงจากปัจจัยต่างๆทั้ง การเมือง เทคโนโลยี ดิจิทัล สังคม สิ่งแวดล้อม ล้วนเป็นเงื่อนไขที่จะเป็นกติกาการค้าโลกในอนาคต ซึ่งบางส่วนได้กระทบต่อการดำเนินธุรกิจแล้ว อาทิ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามรัสเซีย-ยูเครน สงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ กระทบกระเทือนห่วงโซ่อุปทานของโลก และวันนี้โลกมีความท้าทายใหม่จากสถานการณ์โลกและวิกฤติต่างๆ ต้องเตรียมความพร้อมรับมือมาตรการใหม่ก็จะเกิดขึ้น สร้างผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ตัวอย่างเช่น สหภาพยุโรปได้ออก 3 มาตรการใหม่ นั้นคือ
1.กฎระเบียบด้านการไม่ตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation Regulation) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ครอบคลุมสินค้า 6 ชนิดที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ ได้แก่ การเลี้ยงปศุสัตว์ โกโก้ กาแฟ น้ำมันปาล์ม ยาง และ ถั่วเหลือง โดยต่อไปการนำสินค้าเหล่านี้เข้าสหภาพยุโรป บริษัทต่างๆ จะต้องมีการพิสูจน์ได้ว่าสินค้าที่ตนเองนำเข้านั้นไม่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า
2.กฎระเบียบสอบทานธุรกิจด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม (EU Corporate Sustainability Due Diligence Directive: CSDDD) ที่ทางสหภาพยุโรปเพิ่งตกลงกันไปเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และคาดว่าจะประกาศใช้ช่วงต้นปี 2024 โดยภายใต้ CSDDD นี้ ทั้งบริษัทในสหภาพยุโรปและที่ทำธุรกิจใน EU จะต้องพิสูจน์ทราบว่ากิจกรรมทางการค้าต่างๆ ของตนเองนั้น ไม่กระทบต่อทั้งสิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม
3.มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ให้ผู้นำเข้าสินค้า 6 กลุ่ม ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า ไฮโดรเจน และสินค้าปลายน้ำบางรายการ อาทิ นอตและสกรูที่ทำจากเหล็กและเหล็กกล้า ต้องรายงานการปล่อย CO2 โดยเริ่มให้มีการรายงานบางส่วนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2023 ก่อนที่จะเริ่มใช้มาตรการ CBAM อย่างสมบูรณ์ ในวันที่ 1 ม.ค. 2026
จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจไทยไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะธุรกิจที่มีการค้า ส่งออก หรือไปเปิดในสหภาพยุโรป ซึ่งจะเห็นได้ว่าการปรับตัวของภาคธุรกิจเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นสำหรับการเติบโตและอยู่รอดภายใต้ระเบียบการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน
ที่ผ่านมาจะเห็นว่าธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยสามารถปรับตัวให้เข้ากับระเบียบการค้าโลกใหม่ พิสูจน์ได้จากข้อมูลล่าสุดของการจัดอันดับใน DJSI (Dow Jones Sustainability Index) ที่มีบริษัทของไทยจำนวน 15 บริษัทที่ได้รับการประเมินให้อยู่ใน DJSI Worldซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิม 3 บริษัท โดยมีหลายบริษัทที่ได้รับการจัดให้เป็นบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมของตนอีกด้วย
สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย ควรตระหนักและเตรียมพร้อมเพื่อรองรับต่อระเบียบการค้าโลกใหม่นี้ ยังไม่สามารถสู้ธุรกิจขนาดใหญ่ได้ ซึ่งในส่วนนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ในการเข้าไปช่วยส่งเสริมและขับเคลื่อนให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อมของไทย มีความตระหนักและพร้อมที่จะรองรับต่อระเบียบการค้าโลกใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวโน้มในเรื่องของความยั่งยืน(Sustainability) การจะสร้างความตระหนักและเตรียมพร้อมผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อมให้สามารถเตรียมพร้อมต่อระเบียบการค้าโลกใหม่
“ต้องปรับมุ่งสู่การสร้างความสมดุลระหว่างการเป็นโลกาภิวัตน์และท้องถิ่นภิวัตน์ พึ่งพาตนเองให้ได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้ได้มากที่สุดและอยู่ในกระแสของโลกาภิวัตน์ จุดสมดุลเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับสังคมไทยในทุกมิติ ในฐานะตัวแทนรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ พร้อมที่จะขับเคลื่อนรัฐบาล นโยบายการค้าของไทยทั้งตั้งรับ ปรับตัว เชิงรุก เปลี่ยนรัฐบาลไทยให้เป็นรัฐที่ส่งเสริม ไม่ใช่รัฐอุปสรรค ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการค้า จะป็นรัฐสนับสนุนเอื้ออำนวยให้เอกชนมีเครื่องมือไปต่อสู้ในโลกอย่างแข็งแรง เสริมศักยภาพในการแข่งขันท่ามกลางกระแสการค้าโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างเต็มที่” ภูมิธรรม กล่าว