ไม่พบผลการค้นหา
องค์การอนามัยโลก (WHO) กลายเป็นองค์การระหว่างประเทศที่ขึ้นมามีบทบาทนำในการให้คำแนะนำ และลงปฏิบัติการเพื่อตอบรับกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี องค์การอนามัยโลกกลับถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายกรณีถึงท่าทีที่กลับไปมา ทั้งคำแนะนำด้านสาธารณสุขและวิทยาศาสตร์ ตลอดจนการดำเนินนโยบายที่ถูกมองว่าโน้มเอียงไปทางจีน

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2562 มีการรายงานต่อรัฐบาลท้องถิ่นในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ถึงการตรวจพบผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสปริศนา รายงานดังกล่าวถูกตีพิมพ์ในอีก 4 วันต่อมา อย่างไรก็ดี เพียงชั่วเวลาข้ามสัปดาห์ของปีใหม่ รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนได้สั่งเซ็นเซอร์เนื้อหาการรายงานโรคทั้งหมด ประจวบเหมาะกับในช่วงเวลานั้นตรงกับเทศกาลตรุษจีน ที่ชาวจีนทั้งแผ่นดินใหญ่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาของตนทั่วทั้งประเทศ

การปิดบังข้อมูลของรัฐบาลจีนทำให้เกิดการแพร่ระบาดไปทั่วทุกมณฑลในช่วงปลายเดือน ม.ค. 2563 จนกระทั่งวันที่ 31 ม.ค. 2563 องค์การอนามัยโลกได้ออกประกาศถึงเชื้อไวรัสปริศนาที่กำลังระบาดอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ว่าเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของนานาชาติ บทบาทขององค์การอนามัยโลกเริ่มโดดเด่นนับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

อย่างไรก็ดี การปกปิดข้อมูลไม่ได้ส่งผลให้เกิดการระบาดในจีนแผ่นดินใหญ่เท่านั้น โควิด-19 ถูกตรวจพบนอกประเทศจีนครั้งแรกในประเทศไทยจากนักท่องเที่ยวจีน ที่เดินทางมาถึงก่อนตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2563 รายงานการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ค่อยๆ ผุดขึ้นไปทั่วทุกมุมโลก สถานการณ์ทุกอย่างสายเกินกว่าจะควบคุมเอาไว้ได้ โลกกำลังเผชิญหน้าอยู่กับการระบาดครั้งใหญ่ในรอบ 100 ปี

อนามัยโลก อนามัยใคร?

การระบาดที่แพร่กระจายไปทั่วโลก ซึ่งมีส่วนทำให้ผู้คนอย่างน้อย 330 ล้านรายติดเชื้อ และเสียชีวิตอีก 5.5 ล้านรายอาจไม่รุนแรงหรือหลีกเลี่ยงได้หากรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนไม่ปิดบังข้อมูลการตรวจพบแหล่งต้นตอของเชื้อไวรัสจากตลาดค้าอาหารทะเลในเมืองอู่ฮั่นตั้งแต่แรก อย่างไรก็ดี ท่าทีขององค์การอนามัยโลกกลับไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์จีน แต่ใช้วาทกรรมเสมือนกับว่าจนแล้วจนรอด โลกก็จะต้องเจอกับการระบาดของโควิด-19 อยู่ดี

ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกเดินทางเข้าพบ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ณ กรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2563 เพื่อหารือกับการตอบรับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกต่างจับตามององค์การอนามัยโลกว่าอาจนำข้อมูลที่ถูกปิดบังโดยจีนมาเปิดเผย เพื่อให้รัฐบาลของชาติอื่นๆ ทำความเข้าใจและสกัดกั้นโควิด-19 เอาไว้ได้ทัน แต่ผลลัพธ์กลับออกมาเป็นอีกทางหนึ่ง

000_1OG8OW.jpg

รัฐบาลจีน “ได้ตั้งมาตรฐานใหม่สำหรับการตอบรับกับการระบาด” ทีโดรสระบุถึงรัฐบาลของสีหลังเข้าพบกัน ก่อนที่จะชื่นชมรัฐบาลจีน ถึง “การเปิดกว้างในการแบ่งปันข้อมูล” ของผู้นำระดับสูงจากพรรคคอมมิวนิสต์ ต่อองค์การอนามัยโลกและทั่วโลก ในทางตรงกันข้าม หลังจากคำชื่นชมของทีโดรสต่อรัฐบาลจีนได้เพียงสัปดาห์เดียว แพทย์ชาวจีนอย่าง นพ.หลี่ เหวินเหลียง ผู้ออกเตือนการพบเชื้อปริศนาเป็นคนแรกในประเทศ ซึ่งถูกทางการจีนปกปิดข้อมูลได้เสียชีวิตลงจากโควิด-19 ทั้งนี้ มีประชาชนชาวจีนอีกจำนวนมากถูกควบคุมตัวโทษฐาน “ปล่อยข่าวปลอม” หลังออกมาพูดถึงการระบาดของโควิด-19 ในระยะแรกๆ

ท่าทีที่โน้มเอียงไปยังฝั่งจีนของทีโดรสยังไม่ยุติลงเท่านั้น เพราะในวันที่ 20 ก.พ. 2563 ทีโดรสได้ออกชมรัฐบาลจีนอีกครั้งในการประชุมความมั่นคงมิวนิก และหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการปิดข้อมูล พร้อมชื่นชมว่า “จีนได้ยื้อเวลาให้แก่โลก” ก่อนการระบาดของโควิด-19 ก่อนที่ทีโดรสจะวิพากษ์วิจารณ์ประเทศอื่นๆ ถึงการปิดพรมแดนห้ามการเดินทางเข้าออกจีนว่าเป็น “การทำอาชญากรรมซ้ำซ้อนหรือการทำให้เป็นเรื่องการเมือง” คำชมและคำวิจารณ์ของทีโดรสถูกตีพิมพ์ลงในสื่อของทางการจีนด้วยเช่นกัน

ไม่ต่างอะรไปจากคำพูดของทีโดรส เพราะองคาพยพขององค์การอนามัยโลกเองก็กลับไปกลับมาเช่นเดียวกัน หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์องค์การอนามัยโลกว่า ไม่ได้ตั้งข้อเท็จจริงอยู่บนพื้นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ แต่กลับใช้เรื่องการเมืองที่ผู้อำนวยการขององค์การมีความใกล้ชิดกับจีนมานำนโยบายสาธารณสุขโลก วอยซ์ขอชวนกลับมาถกเถียงและตั้งคำถามต่อท่าทีขององค์การอนามัยโลกอีกครั้ง ด้วยประเด็นการตัดสินใจที่เปลี่ยนไปมาขององค์การอนามัยโลกว่า อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การแพร่ระบาดย่ำแย่ลงไปกว่าเดิม

WHO แถลงไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยก่อนพลิกคำ

4 เม.ย. 2563 องค์การอนามัยโลกได้ออกแนวทางการใส่หน้ากากอนามัยเพื่อตอบรับกับการระบาดโควิด-19 ที่สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างเป็นวงกว้าง โดยองค์การอนามัยโลกชี้ว่า ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงดีไม่จำเป็นจะต้องใส่หน้ากากอนามัย และผู้ที่ยังใส่หน้ากากอนามัยอยู่นั้นไม่ได้ช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 แต่อย่างใด

องค์การอนามัยโลกระบุต่อไปอีกว่า “มันยังไม่มีหลักฐานในตอนนี้ว่าการใส่หน้ากากอนามัย (ทั้งหน้ากากการแพท์และรูปแบบอื่นๆ) ในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงในสถานที่ชุมชนที่เปิดโล่ง รวมถึงการใส่หน้ากากทั้งชุมชน จะสามารถป้องกันจากการติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจ รวมถึงโควิด-19”

000_9UZ9Z7.jpg

ซ้ำร้าย องค์การอนามัยโลกยังได้ระบุในแนวทางการใส่หน้ากากอนามัยว่า การใส่หน้ากากอนามัยจะทำให้ผู้คน “เสียการตระหนักรู้ถึงความปลอดภัย” และจะทำให้คนไม่ล้างมือหรือกักตัว โดยองค์การอนามัยโลกกล่าวเสริมว่า หน้ากากอนามัยควรถูกใช้แค่ในเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้ดูแลคนไข้ และคนป่วยเท่านั้น ส่วนบุคคลธรรมดาควรอยู่แต่ในบ้าน

ถึงแม้จะมีเสียงวิจารณ์ออกมาจากหลายฝ่าย แต่แนวทางดังกล่าวทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะไม่ใส่หน้ากากตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก อย่างไรก็ดี การติดเชื้อโควิด-19 ในประชากรโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่ง 8 มิ.ย. 2563 องค์การอนามัยโลกเปลี่ยนแนวทางคำแนะนำของตนใหม่ โดยระบุว่าประชาชนควรใส่หน้ากากเพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19

แนวทางใหม่ขององค์การอนามัยโลกระบุชัดว่า คนทุกคนควรใส่หน้ากากอนามัย ทีโดรสออกแถลงด้วยตนเองเพื่อเปลี่ยนแนวทางใหม่พร้อมระบุว่า “องค์การอนามัยโลกแนะนำให้รัฐบาลต่างๆ ควรส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปใส่หน้ากากอนามัย ในที่ชุมชนที่มีการระบาดจำนวนมาก และสถานที่ที่การเว้นระยะห่างทำได้ลำบาก เช่น ขนส่งมวลชน ในร้านค้า หรือสถานที่ที่มีผู้คนจำนวนมากหรือมีอากาศปิด”

ข้อเท็จจริงซัด โควิด-19 ติดเชื้อผ่านอากาศ

จากการแถลงข่าวขององค์การอนามัยโลกเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2563 อ้างว่า โควิด-19 ซึ่งเป็นโรคติดต่อผ่านละอองลอยนั้น จะไม่สามารถลอยตัวอยู่ในอากาศได้นานชนิดที่ว่าจะถูกจัดประเภทให้เป็นเชื้อที่สามารถแพร่กระจายผ่านทางอากาศได้ ถึงแม้ว่าองค์การอนามัยโลกจะยอมรับว่า ละอองลอยของเชื้อในอากาศระยะสั้นนั้น “ไม่สามารถตัดออก” จากปัจจัยการแพร่เชื้อได้ องค์การอนามัยโลกกลับยืนยันว่าการติดเชื้ออาจเกิดขึ้นจากสัมผัสใกล้ชิดกับหยดละอองหรือพื้นผิวที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสเป็นส่วนใหญ่

ข้อสันนิษฐานว่าโควิด-19 อาจแพร่เชื้อได้ทางอากาศไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เพราะตั้งแต่เดือน มี.ค. 2563 ผู้เชี่ยวชาญด้านละอองลอยได้ออกเตือนประชาคมโลกว่า โควิด-19 อาจเป็นภัยคุกคามชนิดใหม่ที่มนุษยชาติกำลังจะเจอ คือ โรคจากไวรัสดังกล่าวนี้สามารถแพร่เชื้อผ่านทางอากาศได้

ลิเดีย โมราวสกา และ เฉา จุนจิน ผู้เชี่ยวชาญด้านละอองลอยได้ตีพิมพ์งานวิจัยเพื่อตอกย้ำว่า  “โลกของเราควรจะเผชิญหน้ากับความเป็นจริง” ของโรคที่แพร่เชื้อผ่านทางอาอากศ โดยมันจะเป็น “สาเหตุหลักของการแพร่ระบาดของโควิด-19” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เวียดนามเว้นระยะห่างทางสังคม_AFP

คำวิพากษ์วิจารณ์ตกมายังองค์การอนามัยโลกอีกครั้ง จนกระทั่งวันที่ 30 เม.ย. 2564 เป็นเวลากว่า 10 เดือนหลังจากการแถลงว่าโควิด-19 ไม่อาจเข้าข่ายโรคที่แพร่ระบาดผ่านทางอากาศได้ องค์การอนามัยโลกได้ออกแถลงการณ์ฉบับใหม่ที่พลิกไปจากคำพูดเดิมอีกครั้ง ไม่ต่างกันไปจากกรณีการแนะนำเรื่องการใส่หน้ากากอนามัย

“หลักฐานในตอนนี้ชี้ว่า ไวรัสสามารถแพร่ระบาดหลักๆ ระหว่างคนที่มีสัมผัสใกล้ชิดกันกับอีกคน โดยเฉพาะในช่วงระยะห่าง 1 เมตร (ระยะสั้น) บุคคลสามารถติดเชื้อผ่านละอองลอยหรือละอองที่มีไวรัส ผ่านการสูดดมหรือสัมผัสโดยตรงกับดวงตา จมูก หรือปาก ไวรัสยังสามารถแพร่กระจายได้ในพื้นที่ที่มีระบบระบายอากาศไม่ดี หรือในที่ร่มที่มีผู้คนหนาแน่น ที่ที่มีผู้คนอยู่กันเป็นเวลานาน นี่คือเหตุผลว่าทำไมละอองลอยยังสามารถลอยอยู่ในอากาศ และเคลื่อนตัวไปได้ไกลกว่า 1 เมตร (ระยะไกล)” องค์การอนามัยโลกระบุ

เช่นเคย การเปลี่ยนคำแนะนำใหม่ในครั้งนี้ขององค์การอนามัยโลกสายเกินไป เพราะโลกกลับพบการติดเชื้อโควิด-19 จากการแพร่เชื้อผ่านทางอากาศมากขึ้นเรื่อยๆ หลายงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกชี้ไปในทางเดียวกันว่า โควิด-19 สามารถแพร่เชื้อกันผ่านทางอากาศได้ และเป็นปัจจัยหลักสำคัญที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดในทุกวันนี้

โลกพิสูจน์ ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการก็แพร่เชื้อได้

8 มิ.ย. 2563 องค์การอนามัยโลกแถลงข้อมูลที่ถูกนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง หลัง มาเรีย ฟาน แกร์โคฟ หัวหน้าหน่วยโรคอุบัติใหม่และโรคจากสัตว์สู่คนขององค์การอนามัยโลกระบุว่า “จากข้อมูลที่เรามี มันยังดูเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากมากที่ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการจะสามารถแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้” ฟาน แกร์ฮอฟระบุย้ำว่าการติดเชื้อในลักษณะนั้น “หาได้ยากมาก”

นอกจากนี้ ฟาน แกร์โคฟได้ระบุย้ำต่อรัฐบาลทั่วโลกว่าควรมุ่งความสนใจไปที่การตรวจหาเชื้อและการกักตัวผู้คนที่ป่วยโควิด-19 มีอาการ และตามตัวผู้ที่เคยมีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยมีอาการ “เรามีรายงานหลายฉบับจากหลายประเทศที่ลงรายละเอียดไปกับการตรวจหาผู้มีประวัติสัมผัสใกล้ชิด” ฟาน แกร์โคฟกล่าว “จากกรณีของผู้ป่วยไม่มีอาการ พวกเขาถูกตรวจติดตามจากการสัมผัสใกล้ชิด และพวกเขาไม่ได้ถูกพบว่ามีการส่งต่อการติดเชื้อในระยะที่สอง กรณีดังกล่าวหาได้ยากมาก”

อย่างไรก็ดี องค์การอนามัยโลกยอมรับว่า พอจะมีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่า ช่วงระหว่างก่อนการเกิดอาการของผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะเป็นช่วงที่ผู้ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อได้ แต่องค์การอนามัยโลกยืนยันว่า จากตัวอย่างการศึกษาที่ทางองค์การมีนั้น การติดเชื้อจากผู้ไม่มีอาการนั้นเกิดขึ้นได้ยากมาก ทั้งนี้ การแถลงดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

000_1PJ2EN.jpg

ในวันรุ่งขึ้น 9 มิ.ย. 2563 ฟาน แกร์โคฟได้ออกมาแถลงเพื่อปรับแก้คำให้สัมภาษณ์ของตนใหม่อีกครั้ง หลังจากมีคำวิพากษ์วิจารณ์จากนักระบาดวิทยาทั่วโลกว่า กลุ่มผู้ติดเชื้อไม่มีอาการเองเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการติดเชื้อที่ขยายวงกว้างออกไป เนื่องจากเชื้อที่แฝงอยู่ในร่างกายของผู้ป่วยไม่มีอาการ ยังจะคงสามารถแพร่ระบาดจากคนสู่คนได้โดยที่ไม่รู้ตัว โดย ฟาน แกร์โคฟชี้ว่าสิ่งที่เธอพูดไปนั้น นำมาจากข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างเล็กๆ เท่านั้น

“เราพยายามปะติดปะต่อสิ่งที่เรารู้” จากงานวิจัยที่มีอยู่อย่างจำกัด ฟาน แกร์โคฟกล่าว “ด้วยเหตุนี้ ดิฉันจึงใช้คำว่า ‘หาได้ยาก’ มันทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าในระดับโลกแล้ว การแพร่เชื้อจากผู้ติดเชื้อไม่มีอาการนั้นเกิดขึ้นได้ยาก” โดยองค์การอนามัยโลกระบุว่า การเก็บข้อมูลในลักษณะดังกล่าวทำได้ยาก เพราะผู้ติดเชื้อดันไม่มีอาการ ทำให้พวกเขาไม่ทราบได้ว่าผู้ติดเชื้อไม่มีอาการมีอัตราในการแพร่เชื้อเท่าใด

การแพร่ระบาดของเชื้อโอไมครอนในปัจจุบัน อาจเป็นตัวช่วยยืนยันได้ว่า การแพร่เชื้อจากผู้ติดเชื้อไม่มีอากรนั้นมีอยู่จริง และเป็นภัยเงียบที่ทำให้โควิด-19 ถูกส่งต่อจากคนสู่คนไปได้ โดยที่ผู้ติดเชื้อต่างไม่มีอาการ และทำให้วงของการแพร่ระบาดกระจายตัวกว้างออกไปมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

โอไมครอนไม่รุนแรง แต่อย่าเรียกว่าอาการเบา

เป็นที่งุนงงกันไปอีกครั้ง หลังองค์การอนามัยโลกออกมาระบุเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาว่า ถึงแม้ว่าโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ที่ส่งอาการป่วยรุนแรงน้อยกว่าเชื้อกลายพันธุ์อื่นๆ ก่อนหน้า จะมีอัตราในการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วนั้น แต่มันไม่ควรถูกเรียกว่า “อาการเบา” ค้านกันกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จากหลายประเทศทั่วโลกที่ชี้ไปในทางเดียวกันผู้ติดเชื้อมีอาการป่วยไม่มาก และหายได้เองในเวลาไม่กี่วัน

ย้อนกลับไปเมื่อ 29 พ.ย. 2564 องค์การอนามัยโลกได้ออกแถลงถึงการพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อย่างโอไมครอนว่า ยังไม่มีหลักฐานใดๆ ชี้ว่าเชื้อสายพันธุ์ใหม่นี้จะสามารถแพร่ระบาดได้เร็วขึ้น หรือส่งผลให้เกิดอาการป่วยหนักมากกว่าเชื้อกลายพันธุ์อื่นๆ ที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ 

โอไมครอน.JPG

การแถลงในครั้งนี้ขององค์การอนามัยโลก เกิดขึ้นหลังจากที่หลายประเทศตัดสินใจประกาศห้ามการเดินทางจากแอฟริกาใต้ ประเทศแรกที่มีการระบุว่าพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน โดยองค์การอนามัยโลกย้ำว่า การตื่นตระหนกและคิดไปว่าเชื้อโอไมครอนจะรุนแรง จนทำให้เกิดห้ามการเดินทางจากแอฟริกาใต้นั้น “ส่งผลภาระหนักทางเศรษฐกิจและการใช้ชีวิต” แก่แอฟริกาใต้ พร้อมกันนี้ “องค์การอนามัยโลกยืนเคียงข้างประเทศในแอฟริกาที่มีความกล้าหาญในการแบ่งปัญหาข้อมูลเพื่อรักษาชีวิต และช่วยปกป้องโลกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19”

นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกได้ชี้ว่า ทุกประเทศทั่วโลกควร “วัดความเสี่ยง และเลือกวิธีทางวิทยาศาสตร์ และใช้มาตรการในการควบคุมการระบาดให้ได้มากที่สุด” ในขณะที่โลกในช่วงปลายปีที่แล้ว ยังไม่มีข้อมูลมากนักเกี่ยวกับเชื้อโอไมครอนที่มีอัตราการแพร่ระบาดที่พุ่งสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่แพทย์ใหญ่จากแอฟริกาใต้ยืนยันมาโดยตลอดว่า ผู้ติดเชื้อโอไมครอนมีอาการไม่หนัก และสามารถหายได้เองในเวลาไม่กี่วัน

จนกระทั่งวันที่ 6 ม.ค. 2565 องค์การอนามัยโลกได้ออกแถลงอีกครั้งพร้อมระบุว่า โลกไม่ควรเรียกว่าโอไมครอนนั้นส่งผลให้ผู้ติดเชื้อป่วยด้วย “อาการเบา” ถึงแม้จะมีหลักฐานว่าเชื้อโอไมครอนนั้นไม่ได้มีความรุนแรงไปมากกว่าเชื้อกลายพันธุ์อื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้นมา คำแถลงในครั้งนี้สร้างความฉงนให้แก่ประชาชนทั่วโลกอีกครั้ง โดยองค์การอนามัยโลกออกประกาศในครั้งนี้ ด้วยเหตุผลว่าองค์การกังวลถึงการแพร่ระบาดของโอไมครอนที่รวดเร็วขึ้น จนอาจจะให้เกิดการระบาดแบบสึนามิ ซึ่งจะทำให้อัตราการรองรับผู้ป่วยจากโรงพยาบาลนั้นล้นเกินจนเกิดวิกฤต

โลกเข้าสู่การระบาดของเชื้อโอไมครอนอย่างเต็มรูปแบบ โดยเชื้อโอไมครอนทำให้มีผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาสูงขึ้นกว่า 18 ล้านราย นักวิทยาศาสตร์หลายฝ่ายเริ่มคาดการณ์ว่า โอไมครอนอาจเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของการระบาดโควิด-19 ที่กินเวลามายาวนานกว่า 3 ปี แต่องค์การอนามัยโลกกลับออกมาประกาศล่าสุดว่า ความคิดดังกล่าวยังคงไกลเกินกว่าความเป็นจริง ผู้นำโลกอาจต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการดำเนินนโยบายในแต่ละรัฐกับคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลกอย่างสมดุล