ไม่พบผลการค้นหา
วิกฤตโควิด-19 ระบาดทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกถดถอยอย่างรวดเร็ว จนหลายคนกังวลว่า เศรษฐกิจจะตกต่ำมากเหมือนกับวิกฤต Great Depression เมื่อปี 2472 ที่ทำให้คนอยู่กันอย่างยากลำบากกว่าสิบปี

ไวรัสโคโรนาที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก ส่งผลให้มีการปิดเมือง จำกัดการเดินทาง กิจการต่างๆ ต้องปิดชั่วคราว เมื่อเวลาผ่านไปหลายเดือน คนก็เริ่มมองเห็นวิกฤตเศรษฐกิจที่ตามมาได้ชัดเจนขึ้น 

ผู้เชี่ยวชาญหลายคน เช่น เรย์ ดาลิโอ ผู้จัดการกองทุนชื่อดังของโลก ออกมาแสดงความเห็นว่า วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดในครั้งนี้อาจไม่ใช่แค่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจจะติดลบเพียงไม่กี่เดือน แต่เป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (depression) ที่กินระยะเวลายาวนานหลายปี เหมือนกับช่วง Great Depression ช่วงปี 1929-1945 (พ.ศ. 2472 - 2488)

ดังนั้น การศึกษาช่วง Great Depression อาจช่วยให้มองเห็นภาพความรุนแรงของเศรษฐกิจในช่วงนั้น และหาวิธีรับมือได้ หาก 'วิกฤตเศรษฐกิจรอบนี้' จะยืดเยื้อออกไป


Great Depression เกิดขึ้นอย่างไร?
Reuters Great Depression คนหางาน

(คนอ่านประกาศรับสมัครงานในช่วง Great Depression)

ช่วง Great Depression เป็นช่วงเศรษฐกิจขาลงที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคอุตสาหกรรม และทำให้หลายคนเข็ดขยาดกับการลงทุนในตลาดหุ้นไปตลอดชีวิต

ก่อนเกิดวิกฤตเป็นช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง หลายคนคาดหวังจะมีชีวิตที่ดี มีบ้าน มีเงินออม เศรษฐกิจเฟื่องฟูขึ้นอย่างมาก ในยุคนั้น ใครๆ ก็ลงทุนในตลาดหุ้น จนตลาดหุ้นขึ้นสูงมาก แม้การผลิตลดลง ค่าแรงเริ่มลดลง ราคาอาหารลดลง อัตราการว่างงานก็เพิ่มขึ้น หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น ภาคการเกษตรประสบปัญหาภาวะแห้งแล้ง และธนาคารก็ปล่อยเงินกู้มากเกินไปจนขาดสภาพคล่อง

จนถึงวันที่ 24 ต.ค. ปี 2472 ที่ตลาดหุ้นร่วงหนัก หลายคนตกใจขายหุ้นทิ้ง กำไรที่เคยเห็นจากหุ้นที่ซื้อไว้หายไปอย่างรวดเร็ว ช่วงหลายปีหลังจากนั้น การใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุนก็ลดลง ส่งผลให้ผลผลิตอุตสาหกรรมลดลง หลายบริษัทต้องปิดตัว คนจำนวนมากตกงาน โดยอัตราการว่างงานในสหรัฐฯ ปี 2476 ที่เป็นช่วงต่ำสุดของ Great Depression มากถึง 15 ล้านคน 

Reuters Great Depression คนชนบทเดินทางเข้าเมือง

(คนในชนบทมุ่งหน้าเข้าเมืองเพื่อไปหางานทำในช่วง Great Depression)

ในขณะที่ภาคการผลิตลดลงไปครึ่งหนึ่ง ผู้คนอดอยากไม่มีอะไรจะกิน แต่เกษตรกรไม่มีเงินจะลงทุนเก็บเกี่ยวผลผลิตจึงต้องปล่อยให้เน่าคาต้น และเมื่อเกิดภัยแล้งจัด ส่งผลให้คน สัตว์ในฟาร์มและพืชพันธุ์ทางการเกษตรตาย คนก็ทิ้งพื้นที่ชนบทเข้าเมืองไปหางานทำ

ในช่วงนั้น คนเริ่มสูญเสียความเชื่อมั่นต่อธนาคาร จึงพากันไปถอนเงิน ธนาคารจึงต้องระงับการปล่อยกู้ เพื่อให้มีเงินสดสำรองให้คนที่จะถอนเงิน จนธนาคารล้มละลายกันไปกว่าครึ่ง แม้รัฐบาลพยายามจะให้ธนาคารและสถาบันการเงินกู้จากรัฐ โดยหวังว่าธนาคารจะไปปล่อยกู้ให้กับธุรกิจต่างๆ ต่อ และจะทำให้มีการจ้างงานต่อ แต่พอเวลาผ่านไป กระทรวงการคลังก็ไม่มีเงินจะให้ธนาคารกู้แล้ว


คนทั่วไปอยู่กับความลำบากกันอย่างไร
Reuters Great Depression คนต่อแถวรอรับอาหารฟรี

(คนต่อแถวรอรับอาหารฟรีในช่วง Great Depression)

ช่วง Great Depression ไม่ได้กระทบกับคนจนเท่านั้น แต่คนทุกชนชั้นต้องพยายามใช้มาตรการรัดเข็มขัดกันมากขึ้น หลายคนตกงาน ส่วนคนที่ไม่ตกงานก็จะถูกขอให้ลดเงินเดือน หรือลดเวลาการทำงานเป็นพาร์ตไทม์แทน แม้แต่อาชีพที่เคยมีรายได้สูงอย่างแพทย์และทนายความก็รายได้ลดลงประมาณร้อยละ 40

ในช่วงนั้น จำนวนคนไร้บ้านก็เพิ่มขึ้น การซ่อมแซมเสื้อผ้าเองเป็นเรื่องปกติ และภาพที่เห็นได้ทั่วไปคือการต่อแถวรอรับอาหารฟรี ในนิตยสารและรายการวิทยุมักสอนวิธีบริหารงบค่าอาหารด้วยการอบ ตุ๋น และทำอาหารแบบหม้อใหญ่ 1 หม้อกินกันได้หลายคน เช่น มักกะโรนีและชีส ซุปต่างๆ และเนื้อแห้งบนขนมปัง

โบสถ์ต่างๆ มักทำอาหารแบ่งปันคนในชุมชน หลายครอบครัวต้องปลูกผักสวนครัวกินเองเพื่อประหยัดเงิน บางเมืองอนุญาตให้คนในชุมชนเปลี่ยนพื้นที่รกร้างว่างเปล่าไปเป็นสวนปลูกผักผลไม้

หลายบ้านไม่ค่อยมีเงินเหลือไปทำกิจกรรมผ่อนคลายนอกบ้าน คนแถวบ้านก็มักจะมาเล่นไพ่และบอร์ดเกมกัน เช่น สแครบเบิลและเกมเศรษฐี (โมโนโพลี) ซึ่งได้รับความนิยมมากในช่วงนั้น ส่วนวิทยุก็เป็นความบันเทิงที่ไม่เสียเงิน รายการตลก ละครวิทยุ ดนตรีในวิทยุได้ทำหน้าที่เบี่ยงเบนความสนใจของผู้คนไปจากความยากลำบากในชีวิต

Reuters Great Depression คนคิดบอร์ดเกม Monopoly

(ชาร์ลส แดร์โรว ตกงานและได้นำเกมโมโนโพลีที่เคยเล่นที่บ้านเพื่อนไปเสนอขาย จนได้รับความนิยมมากในช่วง Great Depression)

แม้จะมีอัตราว่างงานสูง แต่ช่วงนั้นผู้หญิงแต่งงานแล้วหลายคนออกไปทำงานกันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เพื่อให้ครอบครัวมีรายได้เพิ่มขึ้น แม้ค่าแรงผู้หญิงมักจะน้อยกว่าผู้ชายก็ตาม ซึ่งช่วงนั้นก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ผู้หญิงแต่งงานแล้วไปทำงานที่มีแต่ผู้ชายอยู่เป็นเรื่องไม่เหมาะสม แม้ผู้หญิงส่วนใหญ่จะไปทำงานเป็นเสมียน เลขานุการ ครู โอเปอเรเตอร์รับโทรศัพท์ พยาบาล หรือทำงานในภาคบริการ ซึ่งสังคมยังไม่ค่อยยอมรับให้ผู้ชายเข้าไปทำงานตำแหน่งเหล่านี้ก็ตาม 

เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ โดยเฉพาะผู้ชายที่ไม่สามารถหาเลี้ยงครอบครัวได้เหมือนเดิม จนทำให้อัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดที่สุดในปี 2481 และวิกฤตเศรษฐกิจยังทำให้มีปัญหาครอบครัวด้วย แต่หลายคู่ไม่มีเงินจะหย่าร้างกัน ทำให้อัตราการหย่าร้างต่ำลง ขณะที่อัตราการละทิ้งครอบครัวไปเลยเพิ่มขึ้น 

นอกจากนี้ ยังมีการประเมินว่าผู้ชายและผู้หญิงมากกว่า 2 ล้านคนที่เดินทางท่องเที่ยวไปเรื่อยๆ ในจำนวนนี้ หลายคนเป็นวัยรุ่นที่รู้สึกว่าเป็นภาระของครอบครัว จึงออกจากบ้านหางานทำ การกระโดดขึ้นรถไฟฟรีโดยไม่จ่ายเงินก็เป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไป แม้จะเป็นวิธีที่อันตราย


หนทางสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจ
Reuters Franklin D. Roosevelt แฟรงคลิน ดี รูสเวต์

(แฟรงคลิน ดี รูสเวลต์ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2476)

เมื่อแฟรงคลิน ดี รูสเวลต์ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขาได้ประกาศให้ปิดธนาคาร 4 วัน เพื่อให้รัฐบาลผ่านร่างปฏิรูปกฎหมาย ปฏิรูประบบการเงิน เปลี่ยนกฎควบคุมตลาดหุ้น จากนั้นก็เร่งช่วยเหลือการผลิตทางอุตสาหกรรมและการเกษตร สร้างงาน กระตุ้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

รัฐบาลอนุมัติโครงการการสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม ผลิตกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ยากจน ผ่านกฎหมายประกันสังคม ตั้งโครงการช่วยหางานประจำที่ยั่งยืนให้กับคนประมาณ 8.5 ล้านคนในช่วงปี 2478 - 2486 

โครงการใหม่ๆ ของรูสเวลต์ทำให้รัฐบาลเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชนมากขึ้น ชาวอเมริกันหลายครอบครัวได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินในระดับหนึ่งหรือได้รับความช่วยเหลือในการหางาน ทำให้ครอบครัวที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลไม่ได้ถูกตีตรามากเท่าช่วงก่อนหน้านั้น


ผลจาก Great Depression

ความยากลำบากจากช่วง Great Depression ในสหรัฐฯ ส่งผลกระทบไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สุดโต่งเกิดขึ้นในหลายประเทศในยุโรป เช่น พรรคนาซีของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ในเยอรมนี ซึ่งนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 2482 หน่วยงานจัดหางานในสหรัฐฯ จึงหันมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการทหารในสหรัฐฯ ให้เข้มแข็งขึ้น แม้ขณะนั้นสหรัฐฯ จะยังไม่ได้เข้าร่วมสงคราม

รูสเวลต์ตัดสินใจสนับสนุนอาวุธสงครามให้กับฝ่ายสัมพันธมิตร อุตสาหกรรมการผลิตอาวุธและอุปกรณ์ทางการทหารจึงเฟื่องฟูขึ้น สร้างงานให้กับภาคเอกชนจำนวนมาก และเมื่อญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ในปี 2474 สหรัฐฯ จึงเข้าร่วมสงคราม โรงงานผลิตอาวุธจึงขยายตัวอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังมีการเกณฑ์ทหารในปี 2475 ลดอัตราการว่างงานให้เหลืออยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ช่วง Great Depression จึงสิ้นสุดลง

ที่มา : History, TED, ZME Science