ไม่พบผลการค้นหา
นักประวัติศาสตร์ยุคกลางเปิดข้อค้นพบ ภูเขาไฟระเบิดปี ค.ศ.536 ทำให้ท้องฟ้าไร้แสงสว่างถึง 18 เดือน อุณหภูมิฤดูร้อนลดลง และผู้คนทุกข์ทรมาน

โรคระบาดโควิด-19 อาจทำให้หลายคนมองว่าปี 2020 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เป็นห้วงเวลาอันเลวร้ายที่อยากให้ผ่านพ้นไปเสียที ทว่าหากย้อนกลับไปเทียบประวัติศาสตร์โลกในอดีต คงพูดได้--ถึงจะไม่เต็มปากเท่าไหร่นัก ว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในโลกใบนี้อาจไม่เลวร้ายที่สุด 

ย้อนกลับไป 2018 'ไมเคิล แม็คคอร์มิค' นักประวัติศาสตร์ยุคกลาง จากรั้วมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในสหรัฐอเมริกา ย้ำว่า ห้วงเวลาสุดเลวร้ายในการ "มีชีวิต" ของมนุษยชาติ คือปี 536 โดยมีชนวนสำคัญมาจากเหตุภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่อันเป็นจุดเริ่มต้นของกลียุค 

mccormick_michael_181_605.jpg
  • ภาพ 'ไมเคิล แม็คคอร์มิค' ถ่ายโดย สเตฟานี มิทเชล, ฮาร์วาร์ด

ความเลวร้ายครั้งนั้นรุนแรงเสียยิ่งกว่า เหตุ 'กาฬมรณะ' (The Black Death) ในปี 1349 โรคระบาดจากแบคทีเรียเยอร์ซิเนีย เปสติส (Yersinia pestis) ที่พรากชีวิตชาวยุโรปไปกว่า 25-30 ล้านคน ทั้งยังเลวร้ายกว่าปี 1918 จากไข้หวัดใหญ่สเปนที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวถึง 500 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรโลก ณ ขณะนั้น 

"มันเป็นจุดเริ่มต้นของหนึ่งในช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดในการมีชีวิต เรียกว่าเป็นปีที่เลวร้ายที่สุดยังได้" แม็คคอร์มิค ย้ำ


ศัตรูที่เลวร้ายที่สุดของมนุษย์
- ความมืด -

"เมื่องดวงอาทิตย์มอบแสงที่ปราศจากความสว่างของมันออกมา ราวกับดวงจันทร์ เป็นเช่นนั้นตลอดทั้งปี" คือบทบรรยายสภาพที่เกิดขึ้นกับโลกปี 536 ในสายตาของนักประวัติศาสตร์ไบแซนไทน์คนสำคัญอย่าง 'โพรโคปิอุส' (Procopius)

ดวงจันทร์
  • ภาพดวงจันทร์ จาก unsplash

มหากาพย์ความมืดมิดที่กินเวลากว่า 18 เดือน และม่านหมอกที่ปกคลุมทั้งยุโรป ตะวันออกกลาง ไปจนถึงเอเชีย เริ่มต้นขึ้นเมื่อภูเขาไฟลูกหนึ่งในไอซ์แลนด์เกิดระเบิดขึ้นอย่างหนัก

เถ้าภูเขาไฟจากการระเบิดครั้งนั้นขึ้นไปปกคลุมท้องฟ้า ปิดกั้นแสงอาทิตย์อยู่เกิน 1 ปีเต็ม อุณหภูมิช่วงฤดูร้อนลดลงราว 1.5 - 2.5 องศาเซลเซียส อันเป็นจุดเริ่มต้นของทศวรรษที่หนาวเหน็บที่สุดในช่วง 2,300 ปีที่ผ่านมา 

ผู้คนที่ต้องใช้ชีวิตระหว่างปี 536-545 ประสบปัญหาอาหารขาดแคลนเนื่องจากไม่สามารถปลูกพืชได้ เกิดหิมะตกในฤดูร้อนของประเทศจีน พงศาวดารแห่งไอร์แลนด์ระบุถึงความล้มเหลวของการผลิตขนมปังระหว่างปี 536-539 

เมื่อก้าวเข้าสู่ปี 540 เกิดภูเขาไฟระเบิดขึ้นอีกครั้ง และอุณหภูมิช่วงฤดูร้อนลดลงอีกครั้งราว 1.4 - 2.7 องศาเซลเซียสในทวีปยุโรป

ปี 541-543 กาฬโรคต่อมน้ำเหลือง (Bubonic Plague) ได้ถือกำเนิด ก่อนที่จะรู้จักกันต่อมาในชื่อกาฬโรคแห่งจัสติเนียน (Plague of Justinian) ที่ทำให้ประชากรราว 30% - 50% ของประชากรในจักรวรรดิโรมันตะวันออกทั้งหมดต้องล้มตายลง พร้อมปิดท้ายด้วยการระเบิดของภูเขาไฟเป็นครั้งที่ 3 ในปี 547 

เหตุการณ์ทั้งหมดทำให้สภาพเศรษฐกิจโดยเฉพาะในยุโรปหยุดชะงักเกือบศตวรรษ ก่อนจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวในปี 640 จากการเริ่มเฟื่องฟูของการขุดแร่เงิน

หมายเหตุ : บทความนี้เขียนขึ้นโดยใช้การนับปีแบบคริสต์ศักราช

อ้างอิง; SCIENCE, History, Ancient.eu, National Geographic, Britannica, CDC, Cambridge