ไม่พบผลการค้นหา
‘ธรรมนัส’ เผยลงนามตั้ง คกก. ปราบของเถื่อนวันนี้ พร้อมประสานหน่วยงานความมั่นคง-พาณิชย์-คลัง พร้อมวางมาตรการเด็ดขาดขึ้นบัญชีดำ มอบ ‘ไชยา’ หามาตรการเยียวยาเกษตรกรรายย่อย

วันที่ 20 ก.ย. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการปราบปรามสินค้าเกษตรกรเถื่อนว่า ในช่วงบ่ายวันนี้จะมีการลงนามตั้งคณะกรรมการฯ และไม่ใช่แค่ปัญหาสุกรเถื่อน แต่เป็นสินค้าเกษตรทุกประเภท โดยมี อนุชา นาคาศัย และไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นรองประธาน รวมถึงอธิบดีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีส่วนร่วม อาทิ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) หน่วยความมั่นคง เช่น กอ.รมน. กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ จึงถึงเวลาคิกออฟ และเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ 

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวอีกว่า ในเรื่องของการปราบปรามของเถื่อน เราต้องทำจริงจัง และหากจับได้ต้องมีการขึ้นบัญชีดำ เหมือนที่กระทรวงมหาดไทยจัดทำบัญชีผู้มีอิทธิพล ดังนั้นจึงต้องมีมาตรการขั้นเด็ดขาด หากไม่เอาจริงเอาจังก็จะเป็นอยู่แบบนี้ และยืนยันว่า ถ้าตนยังนั่งในตำแหน่งนี้อยู่ ไม่ใช่ว่าแก้ปัญหาวันนี้ แล้วพรุ่งนี้หายเงียบ 

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ยังเน้นย้ำถึงการแก้ไขปัญหาต้นทุนการเลี้ยงสุกรสูงว่า กระทรวงพาณิชย์ถือเป็นหน่วยงานที่สำคัญในการประกาศราคา ส่วนเนื้อหางานที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลังนั้น ตนจะหารือกับ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี อีกครั้งหนึ่ง 

โดยเรื่องต้นทุนการผลิตนั้น มองว่า โอกาสของพี่น้องรายย่อยมีน้อย และต้นทุนมีราคาสูง จึงมอบหมายให้ ไชยา พรหมา หามาตรการเยียวยา ส่วนเรื่องผู้ประกอบการรายใหญ่ และพ่อค้าคนกลางกดราคาหน้าเขียงนั้น ต้องมีการหารือผู้ประกอบการรายใหญ่ และผู้ค้าคนกลางว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไรเพื่อช่วยเหลือพี่น้องรายย่อย


เล็งหารือเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าเกษตร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยทั่วประเทศเข้าพบ ร.อ.ธรรมนัส และไชยา พรหมา รมช.เกษตรฯ เพื่อแสดงความยินดีกับรัฐมนตรีคนใหม่ และต้องการร้องเรียนเรื่องราคาสุกรตกต่ำ ส่งผลให้ผู้เลี้ยงสุกรขาดทุนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรตั้งแต่ปี 2564 และการนำเข้าสุกรเถื่อน รวมไปถึงภาวะสงครามในทวีปยุโรปที่ทำให้ต้นทุนค่าอาหารพุ่งสูงขึ้น 

ตัวแทนภาคเกษตรกร กล่าวอีกว่า ในปัจจุบันมีผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยกว่า 95% ขาดทุนเป็นจำนวน 2,000 กว่าบาทต่อสุกรหนึ่งตัว เมื่อคิดราคาตามน้ำหนัก ดังนั้นเราจะบริหารจัดการอย่างไร เพราะในหลายประเทศไม่มีผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยเหลืออยู่แล้ว และประเทศของเราเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ หากทำให้เกษตรกรรายย่อยแข็งแรง ห่วงโซ่ภาคการเกษตรทั้งหมดก็จะแข็งแรง ทำให้ประเทศเรามีความมั่นคงทางด้านอาหาร 

ด้าน ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นลูกชาวนา เกิดที่ จ.พะเยา ก็เห็นแม่เลี้ยงสุกรมาตั้งแต่เด็ก จึงเข้าใจวิถีชีวิตของผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยอย่างดีที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ณ เวลานี้ ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยกว่า 200,000 ครัวเรือน หรือ 95% ในภาคปศุสัตว์ คือคนส่วนใหญ่ รวมถึงปัญหาที่เกิดจากภาคปศุสัตว์ไม่เข้มแข็ง ปล่อยให้มีการนำเข้าสินค้าเกษตรเถื่อนเข้ามาในราชอาณาจักรไทยแบบผิดกฎหมาย 

ดังนั้นรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จึงสั่งได้สั่งการให้รมว.เกษตรฯ และอธิบดีปศุสัตว์ เอาจริงเอาจังในเรื่องการแต่งตั้งคณะปราบสุกรเถื่อนซึ่งทำให้ราคาสุกรของพี่น้องเกษตรกรไทยตกต่ำอย่างน่าใจหาย 

นอกจากนี้ ร.อ.ธรรมนัส ยังระบุว่า ได้หารือกับ ไชยา พรหมมา รมช.เกษตรฯ ตลอดว่า ต้องช่วยตนขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทำให้เห็นว่า ภาครัฐโดยกระทรวงเกษตรฯ และภาคประชาชนที่จะคอยเป็นหูเป็นตา เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของทุกคนดีขึ้น 

“ในวันนี้สมดุลการเกษตรนั้นไม่สมดุล เราสามารถเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารของโลกเลยก็ว่าได้ แต่มันมีเหตุผลอะไรที่เราต้องนำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศเพื่อมาเบียดบังรังแกเกษตรกรไทย หากจะนำเข้าอาจจะต้องมีการปรับภาษีให้สูงขึ้น” ร.อ.ธรรมนัส กล่าว 

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวทิ้งท้ายว่า เช่นเดียวกันในเมื่อพ่อค้ารายใหญ่มีต้นทุน และกำลังทรัพย์มากในการผลิตสินค้าก็ควรที่จะส่งออกนอกประเทศ ปล่อยให้เกษตรกรรายย่อยได้ลืมตาอ้าปากขายให้คนไทยได้กิน ผลิตในไทยกินในไทย