ไม่พบผลการค้นหา
สิ้นเดือน ก.ย. 64 ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะพุ่งสูงกว่า 9.3 ล้านล้าน คิดเป็นร้อยละ 58 ต่อจีดีพี ซึ่งล่าสุดบอร์ดนโยบายการเงินการคลังของรัฐมีการแก้ไขกรอบเพดานหนี้สาธารณะต้องไม่เกินร้อยละ 70 ทำให้มีเพดานหนี้สาธารณะที่ต้องเปิดช่องให้กู้อีกไม่เกินร้อยละ 12 ต่อจีดีพี

ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง รายงานสถานะหนี้สาธารณะ ณ วันที่ 30 ก.ย. 2564 และรายงานการกู้เงินและค้ำประกัน ระหว่างเดือน เม.ย. 2564 ถึง เดือน ก.ย. 2564 ได้ถูกเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2564

โดยกระทรวงการคลังได้รายงานสถานะหนี้คงค้าง ณ วันที่ 30 ก.ย. 2564 ว่ามียอดหนี้สาธาณะ จำนวน 9,337,543.02 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 58.15 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) แบ่งเป็นหนี้รัฐบาล จำนวน 8,203,698.67 ล้านบาท 

หนี้รัฐวิสาหกิจ 845,639.91 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจให้กู้ยืม ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ และธุรกิจประกันสินเชื่อ (รัฐบาลค้้ำประกัน) จำนวน 281,041.62 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ จำนวน 7,162,82 ล้านบาท

ทั้งนี้ มีผลการก่อหนี้ใหม่ในช่วงเดือน เม.ย. 2564 ถึงเดือน ก.ย. 2564 วงเงินรวม 8.32 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 1.ผลการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล วงเงินรวม 7.93 แสนล้านบาท (รัฐบาลกู้มาใช้โดยตรง วงเงินรวม 3.49 แสนล้านบาท และ 2.กระทรวงการคลังได้กู้เงินเพื่อรองรับกรณีมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ ประจำปีงบประมาณ 2564 วงเงินรวม 1.27 แสนล้านบาท

ขณะเดียวกันรัฐบาลมีการกู้เพื่อมาดำเนินแผนงาน โครงการภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงินรวม 2.89 แสนล้านบาท

รัฐบาลมีการกู้มาเพื่อดำเนินแผนงาน โครงการภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงินรวม 1.44 ล้านบาท

ประยุทธ์  สภา พระราชกำหนด กู้เงิน 1-A5409B706FE4.jpeg

หากไล่เรียงหนี้สาธารณะของไทย นับตั้งแต่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหารประเทศ เมื่อปี 2557 จะพบว่าหนี้สาธารณะไทย เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2556 ในยุครัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หนี้สาธารณะไทยอยู่ที่ 5,430,560.04 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42.19 ต่อจีดีพี

กระทั่งต่อมาปี 2557 หลังการยึดอำนาจ หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็น 5,690,814.11 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43.33 ต่อจีดีพี

นี้สาธารณะไทยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในปี 2563 เมื่อรัฐบาลออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 โดยหนี้สาธารณะอยู่ที่ 7,848,155.88 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 49.35 ต่อจีดีพี จากที่ปี 2562 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 6,901,801.55 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 41.04 ต่อจีดีพี

ประยุทธ์ เศรษฐกิจ โควิด ชะอำ 6000000.jpg

ขณะที่ก่อนหน้านี้ ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2564 ได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่อง กำหนดกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เห็นชอบให้มีการทบทวนกรอบสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จากเดิมที่กำหนดไว้ต้องไม่เกินร้อยละ 60 เป็นต้องไม่เกินร้อยละ 7โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (4) ประกอบมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติ วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 และมติคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ในการประชุม ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2564 จึงยกเลิกความใน (1) ของประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่อง กำหนดกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2561 และให้ใช้ความดังต่อไปนี้แทน

“(1) สัดส่วนหนี้สาธารณะ ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ต้องไม่เกินร้อยละ 70”

ทั้งนี้ ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย. พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ 

นั่นหมายความว่าเพดานหนี้สาธารณะที่รัฐบาลจะสามารถทำการกู้เงิน เพื่อไมให้กระทบกับกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ สามารถกระทำได้โดยไม่ให้หนี้สาธารณะมีสัดส่วนที่เกินกว่าเพดาน ร้อยละ 70 ของจีดีพี

ซึ่งปัจจุบันกรอบเพดานหนี้สาธาณะ มีจำนวน 9,337,543.02 ล้านบาท หรือร้อยละ 58.15 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) โดยยังเหลืออีก ร้อยละ 12 ที่เปิดช่องให้รัฐบาลสามารถทำการกู้เงินไม่ให้เกินเพดานร้อยละ 70

ข่าวที่เกี่ยวข้อง