เสียงเพลงจาก 'ระฆังการียอง' (Carillon) ดังก้อง 'ชุมชนวัดซางตาครู้ส' เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา เนื่องในวาระฉลองครบรอบ 250 ปีการก่อตั้งชุมชนเก่าแก่แห่งนี้ที่อยู่คู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรีมาเนิ่นนาน
ระฆังการียองมีความพิเศษที่เล่นเป็นเสียงโน้ตดนตรีต่างๆ ได้ มีต้นกำเนิดในดินแดนที่ราบต่ำของยุโรปสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งปัจจุบันคือบริเวณที่อยู่ในประเทศเบลเยี่ยม
ส่วนระฆังการียองของวัดซางตาครู้ส ประกอบด้วยระฆังทองเหลือง 16 ใบที่มีขนาดและเสียงโน้ตต่างกัน มีคีย์กดคล้ายเปียโน ทำจากไม้ จึงสามารถบรรเลงบทเพลงต่างๆ ได้
สถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในประเทศไทยที่ยังมีระฆังการียอง นอกเหนือจากวัดซางตาครู้ส ก็คือ 'วัดกาลหว่าร์' แต่ผู้ที่ตีระฆังการียองเป็นเพลงได้เหลืออยู่ไม่มากนักในปัจจุบัน
หนึ่งในนั้นคือ 'สวัสดิ์ สิงหทัต' วัย 78 ปี
"ปรกติ ระฆังการียอง จะใช้ก็ต่อเมื่อเวลาเรามีงานฉลองพิเศษ อย่างเช่นว่า ฉลองวันคริสต์มาส วันปัสกา หรือเทศกาลพิเศษ วันปีใหม่" สวัสดิ์บอกเล่าความเป็นมาของระฆังที่อยู่คู่กับชุมชนวัดซางตาครู้ส
"คนแรกที่เป็นคนเริ่มตีก็คือพระเรี่ยมวิรัชชพากย์ แล้วจากนั้นก็เป็นลูกชายเค้า ที่รับช่วงต่อมา ในสมัยที่ลูกชายเขารับช่วงตีระฆัง ผมยังเป็นเด็กที่ช่วยทางวัดอยู่ ก็เลยมาฝึก จะขึ้นไปดูเวลาเขาตี หัดตีจนกระทั่งตอนหลังก็ตีคล่องขึ้น ก็เลยเป็นคนที่มาตีอยู่ประจำ เป็นรุ่นที่สาม"
แม้ระฆังจะยังส่งเสียงเป็นบทเพลงได้ หลังจากผ่านกาลเวลามานับร้อยปี แต่การต่ออายุระฆังและการสานต่อทักษะตีระฆังให้เป็นบทเพลง อาจจะเสี่ยงต่อการ 'ขาดช่วง' ในอนาคต
"บางครั้งตัวที่ยึดระฆังทำท่าจะหลุดบ้าง สปริงขาดบ้าง เราก็ไปเปลี่ยน แล้วก็สายระฆังนี่เปลี่ยนบ่อย เปลี่ยนอยู่เรื่อย คือสายระฆังใช้ไปนานๆ มันจะขาด ซึ่งอันนี้ มันก็...คิดว่าเป็นความภูมิใจของชาวกุฎีจีน ที่เราสามารถมีระฆังสืบทอดมาโดยตลอด"
"เคยมีว่าเด็กก็สนใจจะมาศึกษาเรื่องตีระฆังนี้ แต่แล้วก็ ตอนหลังก็หายไป ก็เลยว่ายังหาคนที่สนใจจริงๆ ยังไม่ได้ แต่รู้สึกทางวัดก็พยายามที่จะเอาเด็กมาฝึกอยู่"
"อันนี้ถ้ามีคนสนใจมาฝึกแล้ว ผมก็พร้อมที่จะขึ้นไปฝึกให้เขา"
ทั้งนี้ ชุมชนวัดซางตาครู้ส ได้รับพระราชทานที่ดินจากพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อ 14 กันยายน พ.ศ.2312 โดยพระองค์ทรงมอบที่ดินให้แก่ชาวคาทอลิกและทหารรับจ้างชาวโปรตุเกสในสยาม