4 เม.ย. ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 32 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) ในญัตติการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ ม.152
สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลุกขึ้นชี้แจงกรณี เบญจา แสงจันทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายรัฐบาลถึงการจัดการเหมืองทองอัคราและได้ตั้งคำถามถึงการเลื่อนอ่านคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการออกไป ว่า เหมืองทองอัคราเริ่มสำรวจตั้งแต่ปี 2538 ก่อนที่รัฐบาลไทยรักไทยจะเข้ามา ต่อมามีการเปิดเหมืองปี 2544 สมัยนั้น ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนตนเองดำรงตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรม ในสมัยนั้นประเทศไทยยังไม่มีความสามารถ ศักยภาพ และเทคนิคในการทำเหมืองแร่ทองคำ จึงมีการดึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยโครงการนี้ทักษิณมีวิสัยทัศน์จนทำให้ประสบความสำเร็จ ภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย หรือ TAFTA สร้างรายได้ให้ประเทศไทยรวมทั้งสิ้นกว่า 5 พันล้านบาท สร้างงานให้คนในพื้นที่กว่า 2 พันคน
สุริยะ กล่าวต่อว่า ความจำเป็นที่จะต้องปิดเหมืองทองอัคราจากสาเหตุและผลกระทบต่อสุขภาพ ชีวิต ทรัพย์สิน และความปลอดภัยต่อประชาชนในพื้นที่ การดำเนินการดังกล่าวทำให้กระทบต่อคู่สัญญา เป็นข้อพิพาทระหว่างประเทศ เกิดการฟ้องร้องจนต้องนำเรื่องเข้าสู่อนุญาโตตุลาการ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนที่ตนมาเป็น รมว.อุตสาหกรรม เมื่อเข้ามาเป็น รมว.อุตสาหกรรมในปี 2562 มาพบปัญญาหาการฟ้องร้องดังกล่าวก็แก้ปัญหาโดยยึดหลัก ‘รักษาผลประโยชน์ประเทศชาติต้องมาก่อน’ ไม่ได้ทำไปโดยพละการ แต่ดำเนินการตามคำแนะนำของคณะอนุญาโตตุลาการ
ส่วนการเลื่อนอ่านคำพิพากษานั้น สุริยะกล่าวว่า เป็นขั้นตอนหนึ่งของการเจรจาภายใต้อนุญาโตตุลาการ โดยทุกขั้นตอน มีตัวแทนของคณะกรรมการกฤษฎีกาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมเจรจาและตัดสินใจทุกครั้ง ขณะนี้ข้อพิพาทยังไม่ถึงที่สุด เชื่อว่าพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรมคนปัจจุบันจะมีคำชี้แจงเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจในประเด็นดังกล่าว
ต่อมา พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม ได้ลุกขึ้นชี้แจงในประเด็นเดียวกัน ระบุว่า ปี 2560 ประเทศไทยปรับปรุงกฎหมายแร่ครั้งใหญ่ เป็น พ.ร.บ.แร่ 2560 ออกนโยบายจัดการบริหารแร่ทองคำและกำหนดมาตรการผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และจัดตั้งกองทุนเข้ามาดูแลสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ฉะนั้น การอนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ทองคำจึงสามารถดำเนินการต่อไปได้
ในส่วนของผงทองคำที่มีการอ้างว่าบริษัทได้รับอนุญาตนำไปขายได้หรือไม่นั้น พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า เป็นธรรมดาทั่วไป ทรัพย์สินใดๆ ภายใต้การดูแลของบรษัท ณ วันที่ประกาศให้หยุดกระทำการ ทรัพย์สินนั้นไม่สามารถเอาไปทำอะไรได้ แต่ถ้าเขาดำเนินกิจการต่อได้ ทรัพย์สินนั้นก็ต้องกลับมาเป็นของผู้ประกอบการเดิมเช่นกัน ที่สำคัญ พ.ร.บ.แร่ 2560 ชัดเจนว่า ต้องมีการชำระค่าภาคหลวงให้ถูกต้องครบถ้วน และสามารถหาผู้ที่จะกลั่น (refine ) ให้มีความบริสุทธิ์ภายในประเทศ จึงจะสามารถเอาผงทองคำออกมาได้ ในที่สุด บริษัทอัคราก็สามารถหาบริษัทสำหรับกลั่นในประเทศมาดำเนินการได้ ทั้งหมดทำตามกระบวนการ ดังนั้น กรณีกล่าวหาว่าเอาผงทองไปแลกเป็นค่าชดเชยในคดีที่ดำเนินการอยู่นั้นจึงไม่เป็นความจริง
ส่วนสาเหตุที่ปี 2563-2564 บริษัทอัคราได้กลับมาดำเนินการอีกครั้งทั้งที่มีข้อพิพาทค้างกันอยู่ พิมพ์ภัทรา ชี้แจงว่า สถิติราคาทองคำในประเทศตั้งแต่ปี 2563 สูงขึ้นชัดเจน และอาจเป็นเหตุผลที่เหมืองทองอัคราให้ความสนใจและคิดจะกลับมาลงทุนใหม่อีกรอบ ที่สำคัญ คำขออาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่ 44 แปลง เขาขอมาตั้งแต่ปี 2546 ต่อเนื่องถึงปี 2548 และคณะกรรมการแร่ก็มีหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันพิจารณา รวมทั้ง พ.ร.บ.แร่ 2560 ที่มีกรอบให้ต้องคำนึงถึงประโยชน์ประชาชนเรื่องสุขภาพและกองทุน ที่สุดแล้ว มาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็ถูกต้องครบถ้วน เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย และไม่มีการร้องเรียนของชุมชนในพื้นที่ กรรมการทั้งหมดจึงอนุญาตให้อัคราได้ใบอนุญาตอาชญาบัตรสำรวจแร่ทองคำใน 44 แปลง
อีกประเด็นคือ BOI หรือมาตรการส่งเสริมการลงทุน พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ครม. ได้มีมติเมื่อ 2 ส.ค.2565 เห็นชอบนโยบายด้านอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ซึ่งตอนนั้นให้ความสำคัญเรื่องห่วงโซ่อุปทานของทรัพยากรแร่ ซึ่งเป็นปัจจัยยุทธศาสตร์ในการสร้างความมั่นคงให้ประเทศ หลายท่านอาจถามว่า ทำไมอัคราถึงได้สิทธิ์ BOI ขอตอบว่าไม่ใช่แค่อัคราเท่านั้น หากท่านมีลิเทียม โปแตช มีแร่ Rare Earth ท่านก็สามารถไปขอการสนับสนุน BOI ได้ เพราะวันนี้ แร่คือความมั่นคงของรัฐ ถ้าเห็นว่ามีศักยภาพ BOI ก็สามารถอนุมัติวงเงินสนับสนุนกิจการได้เช่นกัน
ต่อประเด็นคำถามที่ว่า เหตุใดรองนายกฯ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ถึงมาเป็นประธานนโยบายการจัดการแร่แห่งชาติ พิมพ์ภัทรา ชี้แจงว่า ไม่แปลกเลย นี่คือสายการบังคับบัญชาตามสายงาน เนื่องจากพีระพันธุ์เป็นรองนายก และ รมว.พลังงาน ซึ่งดูแลกระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ อย่าเอาเรื่องการเมืองมาปนกับการบริหารงานของรัฐ มันไม่เป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา
“ที่สำคัญ ประธานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ไม่ได้มีอำนาจอนุมัติ อนุญาตสิทธิสำรวจหรือการทำเหมืองแร่ใดๆ เพราะต้องผ่านขั้นตอนมา 7 กระทรวง 14 หน่วยงาน ในการพิจารณา ฉะนั้น ต้องแบ่งให้ถูก อย่าเอามารวมกัน” รมว.อุตสาหกรรมกล่าว
ส่วนการแก้ไขปัญหา พิมพ์ภัทรา ชี้ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมแก้ปัญหา 2 ด้าน ทำคู่ขนานกันไปคือ
พิมพ์ภัทรา ยืนยันว่า การเจรจาเป็นไปในทิศทางที่ดี โดยหลังมีการเจรจา มาตรการต่างๆ บริษัทคิงส์เกตทำตามกฎหมายทุกขั้นตอน ถูกต้องครบถ้วน อีกทั้งก่อนการเจรจาบริษัทคิงส์เกตกังวลว่าจะถูกปิดกิจการ แต่หลังการพูดคุย คณะกรรมการฝั่งกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปคลายทีละประเด็น แนวโน้มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
พิมพ์ภัทรา ยืนยันว่าการเจรจาของฝ่ายไทย เราไม่ได้เสียประโยชน์แต่อย่างใด เพราะการดำเนินการทั้งหมดที่ผ่านมา เป็นสิทธิ์ที่ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการได้ ภายใต้กรอบกฎหมาย เช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ
ประเด็นสุดท้าย ถามว่าจะจัดการกับอดีตนายกรัฐมนตรี และอดีต รมว.อุตสาหกรรมขณะนั้น ที่ออกมาตรา 44 ในการทำเรื่องนี้หรือไม่อย่างไร พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ท่านต้องให้ความเป็นธรรมเรื่องที่มาที่ไปก่อนมีมาตรา 44 เนื่องจากการใช้มาตรา 44 เหตุเพราะมีความขัดแย้งและดูแล้วจะบานปลาย หาสาเหตุไม่ได้ จึงต้องใช้มาตรา 44 อีกทั้งยังมีการไปขอความเห็นจากกระทรวงต่างๆ ซึ่งมีทั้งเห็นชอบและไม่เห็นชอบ หรือมีหมายเหตุต่างๆ แต่ทั้งหมดทั้งสิ้น กระบวนการนี้ไม่ได้ทำเพียงลำพัง ที่สุดแล้ว ทำเพื่อป้องกันและระงับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน ที่สำคัญ นายกรัฐมนตรีและอดีต รมว.อุตสาหกรรมขณะนั้น ต้องทำเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย รวมทั้งต้องปรับเปลี่ยนกฎหมาย พ.ร.บ. แร่ให้ทันสมัย และทำให้ครอบคลุมที่จะดูแลประชาชนและชุมชนโดยรอบ