ไม่พบผลการค้นหา
ส.ส.พรรคก้าวไกล อัดมาตรการเยียวยา รบ.เปรียบฝนตกไม่ทั่วฟ้า ไร้เหลียวแลแรงงานในระบบ แนะอัดเม็ดเงินอุดหนุนค่าจ้าง แลกรักษาสภาพงานไม่ปลดคน ชี้ทางออกรัฐสวัสดิการที่ถ้วนหน้าเท่าเทียม

วันที่ 28 พ.ค. นายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวในการอภิปรายกฎหมาย 3 ฉบับ ว่า วิกฤตโควิดในครั้งนี้ได้สร้างผลกระทบกับพี่น้องประชาชนอย่างถ้วนหน้า ไม่มีเลือกปฏิบัติ แต่ด้วยเหตุใดความช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาลถึงได้เลือกปฏิบัติ มาตรการของรัฐบาลต่างๆ ที่ออกมามีปัญหาไม่ถ้วนหน้าและล่าช้าไม่ทันการณ์ เหมือนฝนที่นอกจากจะตกไม่ทั่วฟ้าแล้ว ยังจะไม่ตกตามฤดูกาลอีกด้วย ประชาชนได้รับความเดือดร้อนโดยตรงจากการประกาศปิดสถานประกอบการต่างๆ ของรัฐบาล และยังมีผลกระทบโดยอ้อมจากการที่เศรษฐกิจถดถอย คนไม่มีกำลังที่จะใช้จับจ่ายใช้สอยได้ เพราะขาดรายได้ ความละเลย เพิกเฉยต่อหน้าที่ในการช่วยเหลือเยียวยาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล มีราคาที่ประชาชนเป็นผู้จ่าย ทั้งการจ่ายเป็นคราบน้ำตา ความหิวโหย ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซ้ำร้ายไปกว่านั้น สำหรับบางคนต้องจ่ายด้วยชีวิต วิกฤตครั้งนี้ที่รัฐบาลประกาศว่า ไทยชนะ โดยต้นทุนของชัยชนะประชาชนคนหาเช้ากินค่ำต้องเป็นผู้จ่ายและแบกรับ

ชี้ไร้เหลียวแลแรงงานในระบบ - พบปัญหารายได้ลดลงทุกเดือน   

ส.ส.ปีกแรงงาน พรรคก้าวไกล กล่าวว่า เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทของรัฐบาล มีให้กับประชาชน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกพี่น้องแรงงานนอกระบบ ได้รับ 5,000 บาทต่อคนต่อเดือนที่กว่าจะได้รับก็ล่าช้า ต้องให้พี่น้องประชาชนพิสูจน์ความจนและต้องรอคอย หนำซ้ำต้องรอลุ้นว่าตัวเองจะโชคดีได้รับหรือไม่ กลุ่มที่สองคือเกษตรกร ที่ได้ครัวเรือนละ 5,000 บาท ต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน

กลุ่มที่สาม คือ แรงงานในระบบประกันสังคมกลับเป็นกลุ่มที่ถูกทอดทิ้งไม่ได้อะไรเลยจากการเยียวยา พี่น้องแรงงานในระบบประกันสังคมก็เดือดร้อนไม่แพ้กัน ไม่ได้อยู่ดีมีสุขแบบที่รัฐบาลคิด โดยปกติได้ค่าแรงวันละ 325 บาท ซึ่งพี่น้องแรงงานจะทราบกันดีว่าชีวิตอยู่ได้ด้วยโอที และเงินพิเศษจิปาถะ เช่น ค่าชิ้นงาน ค่ากะ ค่าข้าว และจำเป็นต้องทำโอทีให้ได้เพิ่มวันละ 3 ชั่วโมง นอกเหนือจากที่ต้องทำ 8 ชั่วโมงอยู่แล้ว เพื่อให้มีรายได้ตกวันละ 500 บาท และจะต้องทำงานเดือนละ 26 วัน เดือนนึงจะมีรายได้ตกอยู่ประมาณ 13,182 บาท เพื่อให้มีรายได้พอมีชีวิตยังชีพไปได้ ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำและค่าใช้จ่ายที่สูงขนาดนี้

"แต่เศรษฐกิจเริ่มไม่ดีมาตั้งแต่ก่อนโควิดแล้ว จะเห็นได้ว่าพอเริ่มปี 2563 โรงงานหลายแห่งเริ่มลดการผลิตลง ซึ่งจะไม่ต้องทำงานล่วงเวลา ไม่มีโอที เงินเดือนก็จะลดไปราวๆ 3,000 บาทต่อเดือน เหลือเพียงเดือนละ 10,010 บาท พอช่วงกุมภาพันธ์ สถานการณ์โควิดเริ่มระบาดในจีน เศรษฐกิจยิ่งแย่ลงอีก โรงงานหลายแห่งเริ่มลดชั่วโมงทำงาน ซ้ำร้ายยังลดวันทำงานลงอีก อาจเหลือเพียงรับเดือนละ 7,700 บาท จากนั้นมี.ค. สถานการณ์เริ่มเลวร้ายหนักเข้าไปอีก มีโรงงานบางแห่งที่เริ่มประกาศให้บางคนหยุดงาน ถ้านายจ้างให้หยุดงาน แรงงานจะได้รับค่าชดเชยจากนายจ้าง ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 75 ที่ทำให้เพื่อนๆ แรงงานจะได้เงิน 75 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนที่ได้รับ แต่แรงงานก็ยังต้องแบกภาระไม่ได้เงินเองอีก 25 เปอร์เซ็นต์ ทำให้รายได้ตลอดทั้งเดือนมี.ค. จะเหลือเพียง 6,337 บาท" นายสุเทพ กล่าว

ประกาศ ก.แรงงาน แรงงจูงใจผู้ประกอบการหยุดกิจการ - เลิกจ้าง

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า พอประกาศกฎกระทรวงแรงงานว่า กิจการสามารถอ้างเหตุสุดวิสัยในการสั่งหยุดงานได้ ทีนี้โรงงานต่างๆได้ปิดกันเป็นดอกเห็ด เมื่อประกาศนโยบายเช่นนี้ สิ่งที่เกิดขึ้น คือ นายจ้างมีแรงจูงใจที่จะประกาศหยุดงานมากขึ้น เนื่องจากจากเดิมที่หลายแห่งก็พยายามประคับประคองให้ยังจ้างงานอยู่ เพราะการที่นายจ้างสั่งหยุดงานแล้วก็ยังต้องจ่ายค่าจ้าง 75 เปอร์เซ็นต์ ตามมาตรา 75 ของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

แต่เมื่อกิจการหลายแห่งอ้างเหตุสุดวิสัยในการปิดชั่วคราว นายจ้างจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเอง แต่ลูกจ้างจะไปรับเงินจากกองทุนชดเชยการว่างงานของประกันสังคม และได้เงิน 62 เปอร์เซ็นต์ของค่าแรงตามเพดานของประกันสังคมแทน ทำให้พี่น้องแรงงานที่ต้องประสบชะตากรรมร่วมกันจากมาตรการของรัฐบาล จะเหลือเงินที่จะใช้แต่ละเดือนเพียงเดือนละ 5,239 บาท เท่านั้น ซ้ำร้ายรัฐบาลเองก็ไม่ได้เอางบประมาณมาจ่าย แต่ใช้เงินของกองทุนชดเชยการว่างงานที่เงินหลัก ๆ มาจากการสมทบของพี่น้องแรงงานและนายจ้างเข้ากองทุนประกันสังคม ซึ่งรัฐสมทบเพียงแค่ 0.25 เปอร์เซ็นต์ และรัฐบาลยังไม่ได้ตั้งงบประมาณมาคืนในภายหลังด้วย

แนะอัดเม็ดเงินอุดหนุนค่าจ้าง - แลกรักษาสภาพงานไม่ปลดคน 

นายสุเทพ กล่าวด้วยว่า วิกฤตโควิดยังเป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นถึงความเปราะบางของระบบสวัสดิการสังคมในประเทศนี้ รัฐบาลประกาศชัยชนะแต่เต็มไปด้วยประชาชนที่พ่ายแพ้ การเยียวยาประชาชนเป็นได้เพียงการสงเคราะห์และการเยียวยาที่ไม่ทั่วถึง ไม่ถ้วนหน้า ทิ้งคนไว้ข้างหลังมากมาย ดังนั้น ทางออกของการแก้ปัญหานี้คือ รัฐสวัสดิการที่ถ้วนหน้าเท่าเทียม เงินกู้เงินจำนวนมหาศาลในครั้งนี้ จะสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าให้กับประชาชนทุกคนโดยครอบคลุม ไม่ต้องพิสูจน์ความเดือดร้อน ไม่ต้องพิสูจน์ความจน โดยจะให้เงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อคนต่อเดือนแก่ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป 

หากครอบครัวใดมีสมาชิกที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ก็จะได้เสริมอีกรายละ 1,000 บาท เพื่อเป็นหลักประกันให้กับประชาชนทุกคน สามารถดำรงชีพได้อยู่เหนือเส้นความยากจนทุกคนอย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี แม้จะต้องใช้งบประมาณมากขึ้น แต่จะตัดปัญหาเรื่องวุ่นวายในการพิสูจน์สิทธิ ปัญหาการบริหารจัดการ งานธุรการ แปลว่าเมื่อถึงเวลาทุกคนจะได้รับเงินเยียวยาทันที ประชาชนจะมีความมั่นใจว่าไม่อดตาย วางแผนได้ว่าจะต้องใช้ชีวิตอย่างไร

นอกจากนี้ ต้องมีมาตรการเพื่อรักษาการจ้างงาน ป้องกันไม่ให้คนต้องตกงานด้วย เพราะเมื่อลูกจ้างตกงานจะมีปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมาก พรรคก้าวไกลจึงเสนอจัดงบประมาณอีก 1 แสนล้านบาท เพื่ออุดหนุนค่าจ้างงานให้ลูกจ้างในระบบ 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่เกิน 5,000 บาทต่อราย และฐานเงินเดือนไม่เกิน 30,000 บาท เพื่อให้สภาพการจ้างยังคงอยู่ ข้อแม้ของเงินอุดหนุนนี้คือนายจ้างจะต้องรักษาการระดับการจ้างงานให้เท่าเดิม ไม่ปลดคนออก ทำให้แรงงานยังคงมีรายได้ และยังคงมีงานทำต่อไป

ข้อเสนอดังกล่าว จะทำให้พี่น้องประชาชนกลับมารู้สึกมั่นคง วางแผนได้และจะให้ความร่วมมือ เกิดเป็นความร่วมมือร่วมใจของพี่น้องประชาชน ไม่กลัว ล็อกดาวน์ หากเกิดการระบาดระลอกใหม่ รัฐบาลก็จะได้รับความเชื่อถือจากประชาชน อีกทั้งนี่จะเรียกได้เต็มปากว่าคือความมั่นคงที่แท้จริง ที่ไม่ได้มาจากการใช้อำนาจ ไม่ได้มาจากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่เป็นความมั่นคงของพี่น้องประชาชนทุกคน

อ่่านเพิ่มเติม