ไม่พบผลการค้นหา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ไม่พิจารณาคดี 'ประยุทธ์' ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินปิดกั้นสื่อ โจทก์จ่อยื่นฎีกาหวังสร้างบรรทัดฐานให้รัฐบาลคิดรอบคอบ ก่อนออกกฎริดรอนเสรีภาพ ‘ฐปณีย์’ ย้ำยกเลิกไม่เท่ากับเพิกถอน

วันที่ 16 ม.ค. 66 ที่ศาลแพ่ง รัชดา ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งและกรรมการบริษัทสื่อ The Reporters, ธนากร ท้วมเสงี่ยม กลุ่มประชาชนเบียร์ พร้อม พรพิมล มุกขุนทด ทนายความ ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวภายหลังรับฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีที่สื่อมวลชนและประชาชนนำโดย The Reporters, Voice, The Standard, The Momentum, THE MATTER, ประชาไท, Dem All, The People, way magazine, echo, PLUS SEVEN และประชาชนเบียร์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) เป็นจำเลยต่อศาลแพ่ง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29) ลงวันที่ 29 ก.ค. 2564 ซึ่งมีเนื้อหาห้ามนำเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือพิมพ์หรือสื่ออื่นใดที่มี “ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” และมีอำนาจให้รัฐบาลสามารถสั่งให้ กสทช. ระงับสัญญาณอินเทอร์เน็ตของผู้ใช้บริการได้

พรพิมล ทนายความ เผยว่า ในวันนี้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คืองดการพิจารณาและงดการไต่สวนในคดีนี้ไป เนื่องจาก เห็นว่าข้อกำหนดฉบับที่ 29 ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้ถูกเพิกถอนและยุติการบังคับใช้ไปแล้ว ศาลจึงพิจารณาว่าคำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้ไปแล้ว ดังนั้นศาลจึงพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คืองดการไต่สวน

ในคดีนี้โจทก์ทั้ง 12 คนเห็นว่า ‘การยกเลิกไม่เท่ากับการเพิกถอน‘ เพราะประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค. - 9 ส.ค. 2564 หมายความว่าในระหว่างนั้นกฎหมายได้บังคับใช้ไปแล้ว เป็นการออกกฎหมายโดยจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค.- 9 ส.ค. 2564 ดังนั้นการเยียวยาหรือศาลต้องวินิจฉัยว่าในระหว่างนั้น เป็นการจำกัดสิทธิประชาชนไปแล้วหรือไม่ 

อีกส่วนที่ได้อุทธรณ์ไป คือถ้าศาลได้พิจารณาเพิกถอนคำสั่ง หากมีการแจ้งคำพิพากษาไปยังจำเลย จะมีการตรวจตราหรือดูแลการออกกฎหมายของจำเลยให้รัดกุมและพิจารณาความเดือดร้อนของประชาชนมากกว่านี้ จะเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายบริหารมากขึ้น ประชาชนจะได้ไม่ต้องมาฟ้องแบบนี้อีก

พรพิมล กล่าวว่า เราคาดหวังว่าฝ่ายบริหารจะออกกฏหมายโดยคำนึงถึงประชาชน คำนึงถึงการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากขึ้น เพราะในช่วง พรก.ฉุกเฉิน ที่ผ่านมา มีกฎหมายออกเป็นรายวัน จึงคาดหวังให้ฝ่ายจำเลยตระหนักถึงเรื่องนี้มากขึ้นจากคำพิพากษา คาดหวังให้การออกกฏหมายมีบรรทัดฐาน คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน

และแม้ว่าในวันนี้ศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้น ตนขอเคารพคำพิพากษาศาลและจะพิจารณาถึงการยื่นฎีกาต่อไปร่วมกับฝ่ายโจทก์ ส่วนจะฎีกาหรือไม่จะต้องประเมินหลายส่วน เพราะเป็นการยืนตามศาลชั้นต้นไปแล้วด้วย ทางทีมทนายจะมีการหารือร่วมกับโจทก์ทั้ง 12 คนอีกครั้งหนึ่งว่ามีความประสงค์ดำเนินการต่อไปหรือไม่ เนื่องจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนคาดหวังว่าคดีเหล่านี้จะเป็นบรรทัดฐานในอนาคตต่อไป

ด้าน ฐปณีย์ เอียดศรีไชย หนึ่งในโจทก์ร่วมคดีนี้ เผยว่า ตนเคารพต่อคำพิพากษาของศาลและอยากให้เรื่องนี้กลายเป็นบรรทัดฐานในการออกกฏหมายที่จะไม่มีการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพหรือการแสดงออกของประชาชน ในกรณีนี้หากทุกคนจำกันได้ตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2564 ที่เราเจอสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดอย่างร้ายแรง มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ออกข้อกำหนดฉบับที่ 29 ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีคำสั่งว่าหากมีใครนำเสนอข่าวหรือให้ข้อมูลที่ทำให้เกิดความหวาดกลัวแก่ประชาชน รัฐมีสิทธิ์ให้ กสทช.ระงับสัญญาณอินเตอร์เน็ตกับผู้ที่โพสต์ข้อความทำให้เกิดความหวาดกลัวในขณะนั้น

ตนจึงร่วมมือกับสื่อมวลชน และภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนร่วมกันฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ โดยศาลได้มีคำวินิจฉัยให้รัฐบาลยกเลิกคำสั่งที่ 29 ฉบับนั้น จากนั้นรัฐบาลประกาศยกเลิกการบังคับใช้ ถือเป็นชัยชนะของประชาชนที่เราร่วมกันพิทักษ์สิทธิเสรีภาพที่เรามีตามรัฐธรรมนูญ จากการใช้กฎหมายของรัฐ ที่ทำให้เราสูญเสียสิทธิและเสรีภาพ และเหตุผลที่เรายังอุทธรณ์ต่อเพราะเรื่องนี้ ‘การยกเลิกไม่เท่ากับการเพิกถอน’ จึงอยากให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนข้อกำหนดนี้ เพื่อเป็นบทเรียนแก่รัฐว่าจะไม่ออกกฏหมายลักษณะนั้นอีก

“แม้วันนี้ศาลจะตัดสินตามศาลชั้นต้น แต่มองว่านั่นคือส่วนหนึ่งแล้ว ที่เป็นชัยชนะก้าวแรกของประชาชน เพราะการออกกฏหมายลักษณะนี้ของรัฐเหมือนการออกกฏหมายปิดปาก นี่คือกฎหมายปิดปากโดยรัฐ สิ่งนี้หากเราสู้ได้ว่าการออกกฏหมายลักษณะนี้ไม่ถูกต้อง ควรเป็นบรรทัดฐานว่าเราควรสู้อย่างถึงที่สุด เพราะเราไม่อยากเห็นการออกกฎหมายลักษณะนี้อีกมีคนได้รับผลกระทบเยอะ“ ฐปณีย์ กล่าว

ด้าน ธนากร ท้วมเสงี่ยม กลุ่มประชาชนเบียร์ หนึ่งในโจทก์ร่วม กล่าวว่า ตนคือหนึ่งกลุ่มที่ขับเคลื่อนและรวมตัวกันเพื่อพูดถึงปัญหาสังคม วันนี้รู้สึกดีใจครึ่งเดียว อย่างน้อยก็ชนะไปก้าวหนึ่งแต่อีกก้าวหนึ่งยังเดินไปไม่ถึง อาจต้องใช้เวลา แต่วันนี้ถือการเริ่มต้นที่สำคัญที่ภาคประชาชน สื่อมวลชน และทนายความ ร่วมกันทำงานจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง มองว่าอยากให้มีการรวมตัวลักษณะนี้อีกในอนาคต เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยใช้กระบวนการทางกฎหมาย