ไม่พบผลการค้นหา
ศัพท์ภาษาอังกฤษ single-used ซึ่งหมายความว่า 'ใช้ครั้งเดียวทิ้ง' ถูกยกให้เป็นคำศัพท์แห่งปี 2018 เนื่องจากคนทั่วโลกตื่นตัวการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และพยายามหาทางแก้ปัญหาขยะที่ไม่ย่อยสลาย

ผู้จัดทำพจนานุกรมภาษาอังกฤษ 'คอลลินส์' ประกาศเมื่อวันที่ 7 พ.ย. ว่า single-used หรือ ซิงเกิลยูสด์ ถูกยกให้เป็น 'คำศัพท์แห่งปี' ประจำปี 2018 เนื่องจากคำศัพท์ดังกล่าวถูกใช้ในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยอ้างอิงจากการสังเกตและจำแนกคำศัพท์ที่เผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ในช่วงปีที่ผ่านมา และสื่อต่างๆ ก็พร้อมใจกันรายงานข่าวคราวที่เกี่ยวข้องกับปัญหาขยะ ที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์และสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติกันมากขึ้น ซึ่งขยะที่เกิดจากสินค้า 'ใช้ครั้งเดียวทิ้ง' หรือ single-used ส่วนใหญ่มักจะเป็นขยะพลาสติก

เว็บไซต์เดอะการ์เดียนรายงานว่า ภาพนกทะเลที่ป้อนเศษพลาสติกให้ลูกนกกิน รวมถึงข่าวเต่าทะเลหรือวาฬตายเพราะกินขยะพลาสติกเข้าไปเป็นจำนวนมาก สร้างความสะเทือนใจและทำให้คนทั่วโลกหันมาตื่นตัวด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและรณรงค์ลดการใช้ขยะที่ไม่ย่อยสลายต่างๆ กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ทำให้การต่อต้านผลิตภัณฑ์ใช้แล้วทิ้งกลายเป็นกระแสที่กำลังมาแรงขึ้นเรื่อยๆ

เดอะการ์เดียนยกตัวอย่างหลายประเทศที่พยายามผลักดันการบังคับใช้กฎหมายลดและแก้ปัญหาขยะ เช่น อังกฤษออกกฎหมายห้ามใช้หลอดพลาสติก แต่อนุโลมให้ใช้หลอดกระดาษที่ย่อยสลายได้แทน

ส่วนที่ออสเตรเลียมีการออกกฎหมายห้ามห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าแจกถุงพลาสติกใส่ของให้ลูกค้า แต่ให้รณรงค์การใช้ถุงผ้าหรือตะกร้าจากวัสดุธรรมชาติแทนเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกที่ไม่ย่อยสลาย

ขยะพลาสติก.jpg

ขณะเดียวกัน บีบีซีรายงานว่าคำศัพท์ single-used ถูกใช้งานเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2556 ส่วนคำศัพท์ที่น่าสนใจอื่นๆ ที่พจนานุกรมคอลลินส์รวบรวมไว้ในปีนี้ก็ยังเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการแก้ปัญหาขยะ เช่น คำว่า 'พล็อกกิง' plogging เป็นการผสมคำว่า 'pick' (เก็บ, หยิบ) และคำว่า jogging (วิ่ง) เข้าด้วยกัน และมีความหมายใหม่ที่สื่อถึง 'การวิ่งเก็บขยะ' โดยเป็นคำศัพท์ซึ่งที่มาจากการจัดกิจกรรมวิ่งเก็บขยะในประเทศสวีเดน

อีกคำหนึ่งซึ่งมีผู้ใช้กันมากขึ้น คือ vegan (วีแกน) หมายถึงกลุ่มคนที่ปฏิเสธการมีส่วนเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ทำจากสัตว์ ตั้งแต่อาหารการกินไปจนถึงหรือสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ

ทั้งนี้ กลุ่มคนที่เป็นวีแกนมีความเชื่อว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นการตัดชีวิตผู้อื่น ทั้งยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง เพราะอุตสาหกรรมปศุสัตว์ต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ในการดำเนินการ และเป็นตัวการทำให้เกิดก๊าซทำลายชั้นบรรยากาศ

ส่วนศัพท์ภาษาอังกฤษที่คอลลินส์ยกให้เป็นคำศัพท์แห่งปีเมื่อปี 2017 คือคำว่า fake news โดยเชื่อมโยงกับกระแสการเผยแพร่ 'ข่าวปลอม' ในสื่อสังคมออนไลน์ และเมื่อปี 2016 คำว่า Brexit ถูกยกเป็นคำศัพท์แห่งปี เพราะเป็นปีที่อังกฤษลงประชามติแยกตัวจากสหภาพยุโรป ทำให้เกิดการผสมคำว่า Britain และ Exit เข้าด้วยกัน

ที่มา: BBC/ Guardian

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: