เปิดไทม์ไลน์ พร้อมตั้งข้อสังเกต 'พานทองแท้ ชินวัตร' ใน 'คดีเช็คกรุงไทย' ความเหมือนบนเส้นทางการเงินและอำนาจทางการเมือง แต่ในคดีเดียวกันผู้ถูกกล่าวหาระดับสูงกลับไม่มีความคืบหน้าให้ได้ยินจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
'วอยซ์ออนไลน์' เปิดไทม์ไลน์เส้นทางการเงิน 9,900 ล้านบาท จากกลุ่มกฤษฎามหานคร ถึงคดีพิเศษ 25/2560 ของนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายอดีตนายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกกล่าวหาร่วมกับ นางกาญจนาภา และนายวันชัย หงษ์เหิน ในข้อหาร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน
หากไล่เรียงเรื่องราวจากต้นเหตุจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่ปี 2546 - 2561 ที่คดีกำลังจะถึงอ่านคำพิพากษา ในวันพรุ่งนี้(25พ.ย.62) อาจทำให้เราต้องตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรม ว่าด้วยบรรทัดฐานการสอบสวนในพยานหลักฐานและดุลยพินิจของการพิจารณาคดี
( พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ)
แม้ว่านายพานทองแท้เอง จะคืนเงินจำนวนที่ถูกกล่าวหาไปแล้วทั้งหมด แต่ในกรณีของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษและ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป นายทหารคนสนิทของพล.อ.เปรม ที่ได้รับเงิน จากก้อนเดียวกัน แต่การถูกเร่งรัดเอาผิดกลับสวนทางกัน
มาดูกันว่าเส้นทางการเงินที่ถูกถ่ายโอนไปยังบุคคลต่างๆ กว่า 150 ราย เหตุใดจึงมีผู้ถูกกล่าวหาที่เชื่อมโยงกับคนใน 'ตระกูลชินวัตร'
- กันยายน - ธันวาคม 2546 ผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) อนุมัติเงินกู้ ให้แก่กลุ่มบริษัทกฤษดามหานคร จำนวนกว่า 9,900 ล้านบาท
- กันยายน - ธันวาคม 2546 กลุ่มบริษัทกฤษดามหานคร ที่ได้รับเงินกู้ โอนเงินเพื่อชำระหนี้ให้ ธ.กรุงเทพ (เจ้าหนี้เดิม) และโอนเงินไปยังบริษัทในเครืออื่นและนายวิชัย กฤษดาธานนท์ (เจ้าของกลุ่มบริษัทกฤษดามหานคร)
- กันยายน 2546 - 2547 นายวิชัย กฤษดาธานนท์กับพวก โอนเงินไปยังบุคคลและนิติบุคคลอื่นๆกว่า 159 ราย
- ปี 2548 ธนาคารแห่งประเทศไทยตรวจพบการกระทำความผิดและร้องทุกข์ต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่งเรื่องให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สอบสวน
- กันยายน 2549 เกิดรัฐประหาร โดยพล.อ.สนธิ บุณรัตกริน มีการจัดตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)
- พฤศจิกายน 2549 ป.ป.ช. ส่งสำนวนการสอบสวนกรณีทุจริตปล่อยกู้กรุงไทย ให้ คตส.
- มิถุนายน 2551 คตส.สอบสวนเสร็จ มีมติว่า กลุ่มนายวิชัย ผิดฐานทุจริต และ ผู้รับโอนบางราย (รวมถึงนายพานทองแท้) มีความผิดฐานรับของโจร แต่ไม่ได้วินิจฉัยว่า ผิดฐานฟอกเงินทั้งที่ คตส.มีอำนาจสอบสวนในความผิดฐานฟอกเงินได้ (เพราะไม่พบว่ามีเจตนาฟอกเงิน)
- มิถุนายน 2555 อัยการยื่นฟ้อง อดีตนายกรัฐมนตรี นายทักษิณ, ผู้บริหารกรุงไทย และนายวิชัยกับพวก ในข้อหาทุจริต ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และไม่สั่งฟ้องนายพานทองแท้ในข้อหารับของโจร
- มีนาคม 2550 กรมสอบสวนคดีพิเศษ ตั้งคดีพิเศษที่ 36/2550 เพื่อสอบสวนการกระทำความผิดฐานฟอกเงินของผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ซึ่งได้สอบสวนพยานอื่นๆที่เป็นผู้รับเงินด้วย (รวมถึงนายพานทองแท้ นางกาญจนาภา นายวันชัย และนางเกศินี)
- พฤษภาคม 2557 เกิดรัฐประหาร โดยพ.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา
- สิงหาคม 2558 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาว่า ผู้บริหารธ.กรุงไทยและนายวิชัย-นายรัชฎา กฤษดาธานนท์ มีความผิดฐานทุจริต (คำพิพากษา ที่ อม.55/2558 )
- ปี 2560 กรมสอบสวนคดีพิเศษ สรุปสำนวนคดีพิเศษที่ 36/2550 โดยมีความเห็นควรสั่งฟ้อง นายวิชัย นายรัชฎา กับบุคคลและนิติบุคคลอื่น รวม 13 ราย (หมดอายุความเพราะเป็นนิติบุคคล กับเสียชีวิตบางราย) ในความผิดฐานฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน ส่งต่อพนักงานอัยการ
- ตุลาคม 2560 กรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดสำนวนคดีพิเศษที่ 25/2560 กล่าวหานายพานทองแท้ ชินวัตร นางกาญจนาภา หงษ์เหิน นายวันชัย หงษ์เหิน และนางเกศินี จิปิภพ (เจาะจงกล่าวหาเฉพาะผู้รับโอนเพียง 4 ราย จากบรรดาผู้รับโอนทั้งหมดหนึ่งร้อยกว่าราย) ในมูลค่าการกระทำความผิด 26 ล้านบาท และ 10 ล้านบาท (จากมูลค่าเงินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดทั้งสิ้น 9,900 ล้านบาท)
- สิงหาคม 2561 กรมสอบสวนคดีพิเศษ สรุปสำนวนคดีพิเศษที่ 25/2560 โดยมีความเห็นควรสั่งฟ้อง 3 ราย คือ นายพานทองแท้ ชินวัตร นางกาญจนาภา หงษ์เหิน นายวันชัย หงษ์เหิน ในความผิดฐานฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน ส่งต่อพนักงานอัยการ
"โดยพนักงานอัยการสั่งสอบสวนเพิ่มเติม 2 ประเด็น และคาดว่า ผลการสอบสวนเพิ่มเติมในเรื่อง การประกอบธุรกิจเกี่ยวกับรถยนต์นำเข้าของนายรัชฎา จะมีผลการสอบที่เป็นคุณแก่ผู้ถูกกล่าวหา เนื่องจาก นายรัชฎา ไม่เคยมีธุรกิจซื้อขายรถซุปเปอร์คาร์"
โดยจุดที่น่าสังเกตเมื่อไล่เรียงจากไทม์ไลน์คดีนี้ จะเห็นว่าเงินจำนวน 9,900 ล้านบาทได้เกี่ยวบุคคลกว่า 150 ราย แต่กลับมีผู้ถูกกล่าวเฉพาะบางกลุ่ม ขณะที่บุคคลรายสำคัญอย่าง 'พล.อ.เปรม - พล.ร.อ.พะจุณณ์' มีเพียงสัญญาณของความเงียบ และไม่มีการแถลงข่าวความคืบหน้าการดำเนินการแต่อย่างใด
แม้ว่าจะมีการออกมายื่นหนังสือของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ในส่วนของอายุคดีความของพลเอกเปรม เมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา แต่กลับไม่มีสัญญาณตอบรับจากกระบวนการยุติธรรม
อ่านเพิ่มเติม