ไม่พบผลการค้นหา
สภาสถาปนิก แถลงปมคัดเลือกผู้ออกแบบอาคารสุวรรณภูมิหลังที่สอง โดยกลุ่มดวงฤทธิ์ ปัดลอกเลียนแบบอาคารจากสนามบินอื่น ด้านนายกสมาคมสถาปนิก ชี้ ทอท.ใช้เกณฑ์คุณภาพตัดสินคัดเลือกผู้ออกแบบแต่ยังสอดคล้องหลักวิชาชีพสถาปัตยกรรม ยังไม่ฟันธง ทอท. ทำผิดหรือไม่

สภาสถาปนิก แถลงข่าวกรณีการคัดเลือกผู้ออกแบบอาคารผู้โดยสาร หลังที่สอง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จากกรณีกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน หรือกลุ่มนายดวงฤทธิ์ บุนนาค ที่เป็นผู้ชนะงานออกแบบโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่สอง วงเงิน 329 ล้านบาท ยังไม่สามารถลงนามสัญญาได้ เนื่องจากต้องตรวจสอบเรื่องจริยธรรมวิชาชีพ หลังจากมีกระแสข่าวว่ามีการลอกเลียนแบบดีไซน์สนามบินจากที่อื่น และผู้ที่ได้รับการคัดเลือกไม่ใช่ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดด้านเทคนิค

โดย พล.ร.อ. ฐนิธ กิตติอำพน นายกสมาคมสถาปนิก ระบุว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด มหาชน หรือ ทอท. ใช้เกณฑ์คุณภาพในการตัดสินคัดเลือกผู้ออกแบบ ซึ่งเป็นการพิจารณาเฉพาะคะแนนด้านเทคนิค โดยไม่ใช้ราคาเป็นส่วนประกอบในเกณฑ์การตัดสิน ซึ่งสอดคล้องกับหลักการวิชาชีพสถาปัตยกรรม ตลอดจนแนวทางตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560

พล.ร.อ. ฐนิธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่สามารถตัดสินได้ว่า ทอท.กระทำผิดหรือไม่ ซึ่งอยู่ที่ ทอท.เองว่าจะปรับวิธีคิดอย่างไรหลังเกิดปัญหาขึ้น 

พล.อ.อ. ม.ล. ประกิตติ เกษมสันต์ เลขาธิการสภาสถาปนิก กล่าวว่า ทอท. ดำเนินการจัดจ้างด้วยข้อบังคับพัสดุของ ทอท. โดยมีกรรมการคัดเลือกและผู้สังเกตุการณ์จากหน่วยงานภายนอกร่วมด้วย และเชิญสภาสถาปนิกร่วมเป็นที่ปรึกษา ซึ่งแม้ว่าจะไม่นำราคามาเป็นส่วนประกอบในการตัดสินใจ แต่ถือว่าเอกสารด้านราคาเป็นสาระสำคัญ จนทำให้คณะกรรมการคัดเลือกพิจารณาตัดสิทธิ์ผู้ที่มีคะแนนด้านเทคนิคสูงสุด

ขณะที่ผู้แทนสภาสถาปนิก ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการคัดเลือก เคยแสดงความกังวลเกี่ยวกับการบริหารโครงการในประเด็นต่างๆ เช่น การศึกษาความเหมาะสม การจัดทำโปรแกรมความต้องการพื้นที่ใช้สอย การดำเนินโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ควรมีที่ปรึกษาด้านบริหารโครงการ รวมถึงตำแหน่งที่จะก่อสร้างไม่สอดคล้องกับผังแม่บทเดิม

ขณะที่ พล.อ. ม.ล.ประกิตติ ยังตั้งข้อสังเกตุว่า การดำเนินการของ ทอท. ได้เร่งดำเนินการก่อนที่ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการพัสดุภาครัฐ 2560 มีผลบังคับใช้ จึงไม่ได้ใช้วิธีประกวดแบบ 2 ขั้นตอน ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งอาจทำให้มีผู้เสนองานน้อยราย ซึ่งอาจทำให้ ทอท. ไม่ได้รับประโยชน์สูงสุดในการคัดเลือกผู้ออกแบบ 

ด้านนายชาญณรงค์ แก่นทอง อุปนายกสภาสถาปนิกคนที่สอง ชี้แจงว่า กรณีการลอกเลียนแบบดีไซน์จากสนามบินอื่น โดยรูปแบบที่ได้รับการคัดเลือก ถูกนำไปเปรียบเทียบกับงานออกแบบของสถาปนิกต่างชาตินั้น ผู้ออกแบบ หรือนายดวงฤทธิ์ บุนนาค ได้ชี้แจงว่าเป็นแนวคิดของนายดวงฤทธิ์เอง และมีหลักฐานที่แสดงว่ามีการพัฒนาแนวคิดไปในทิศทางเดียวกันกับงานที่เคยออกแบบไว้ในอดีต

ซึ่งนายชาญณรงค์ ยอมรับว่า จนถึงเวลานี้ที่ยังไม่มีการร้องเรียนมายังสถาปนิกเกี่ยวกับการลอกเลียนแบบดังกล่าว รวมถึงการที่สภาสถาปนิกยังไม่มีหลักฐาน แบบ รูป แผนผัง หรือเอกสารเพียงพอ จึงยังไม่สามารถดำเนินการตัดสินในเรื่องดังกล่าวได้ ซึ่งตามข้อ 23 ของข้อบังคับสภาสถาปนิกว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรม 2558 หากผู้เสียหาย หรือบุคคลทั่วไปรายใดที่พบเห็นว่ามีการทำผิด ก็สามารถร้องเรียนมายังสภาสถาปนิกได้ ทั้งนี้หากตรวจสอบแล้วพบว่าทำผิดจริง อาจมีโทษถึงขั้นถอนใบอนุญาต 

โดยเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. เปิดเผยว่า หลังจากคณะกรรมการ(บอร์ด) ทอท. มีมติเห็นชอบให้กลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน ดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก-อีเอ็มเอส-เอ็มเอชพีเอ็ม-เอ็มเอสอี-เออาร์เจ หรือกลุ่มนายดวงฤทธิ์ บุนนาค เป็นผู้ชนะงานออกแบบโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่สอง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วงเงิน 329 ล้านบาทนั้น ซึ่งยังไม่สามารถลงนามสัญญาได้ จึงต้องหารือกับสภาสถาปนิกเพื่อหาความชัดเจน คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในหนึ่งถึงสองสัปดาห์นี้ ซึ่งหากล่าช้าจะส่งผลกระทบต่อทีโออาร์ดิวตี้ฟรีและการก่อสร้าง

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าที่ผ่านมาการประมูลการออกแบบอาคารผู้โดยสารสุวรรณภูมิหลังที่ 2 มีขั้นตอนการประมูลถูกต้องตามระเบียบพัสดุ ซึ่งหลักเกณฑ์ในการให้คะแนนมีเรื่องพื้นที่เชิงพาณิชย์ และส่วนฟังก์ชั่นที่เกี่ยวกับความปลอดภัย 

ทั้งนี้หลังจากลงนามในสัญญาได้ คาดว่าจะใช้เวลาในการออกแบบประมาณ 10 เดือน หลังจากนั้นจะประมูล และคาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างได้ในปลายปีหน้า แล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2564 หรือ ต้นปี 2565

อ่านเพิ่มเติม: