ไม่พบผลการค้นหา
เลขา กสทช. เร่งผลักดันให้เกิดเทคโนโลยี 5G ให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้ไทยล้าหลัง คาดจะได้เห็นราวเดือน ต.ค. ปี 63 ย้ำถ้าไม่สำเร็จจะเกิดผลกระทบต่อภาคการผลิตและอุตสาหกรรม ประเทศสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวในงานสัมมนา "ทำอย่างไรให้ 5 จี เทคโนโลยีพลิกโลก เกิดขึ้นได้" ว่า ถ้าไทยไม่สามารถดำเนินการ 5G ได้สำเร็จ ผลที่เกิดขึ้นคือ จะกระทบภาคการผลิตและอุตสาหกรรม ภาพรวมประเทศจะสูญเสียมูลค่าเศรษฐกิจสูงถึง 2.3 ล้านล้านบาทในปี 2573 คิดเป็น 20%ของจีดีพีประเทศ หรือ 77% ของงบประมาณประเทศ แต่หากเฉพาะภาคอุตสาหกรรมจะเสียหาย 7 แสนล้านบาท-1.6 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10-30% จะกระทบจีดีพีภาคอุตสาหกรรม 

อีกทั้งกระทบกับ Smart City หรือเมืองอัฉริยะ เพราะ 5G จะเข้ามาช่วยให้การใช้ชีวิตของประชาชนสะดวกขึ้น ทั้งการเรียน ทำงาน ท่องเที่ยวและกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ยังกระทบกระทบเรื่องของ Smart Hospital หรือโรงพยาบาลอัจฉริยะ เพราะไทยกำลังเข้าสู่สังคมอีก 25 ปี ไทยจะมีผู้สูงอายุมากถึง 20 ล้านคน ซึ่ง 5G จะเข้ามาช่วยในการรักษาพยาบาลมีเทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวก จะมีการผ่าตัดที่บ้าน ช่วยประหยัดค่ารักษาพยาบาลของภาครัฐคิดเป็น 1.1 หมื่นล้านบาทต่อปี


"ที่ผ่านมาเทคโนโลยี 3G ในไทยเกิดขึ้นล้าหลัง 4 ปี ดังนั้นปัญหาเรื่องดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นอีก กสทช.พยายามหาแนวทางที่จะทำให้เทคโนโลยี 5G เกิดขึ้นให้ได้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้ประเทศไทยล้าหลัง เพราะคาดการณ์ว่าเทคโนโลยีนี้ จะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2563 นับจากวันนี้เหลือราว 790 วัน อยากให้ทุกคนสนับสนุน กสทช."


ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนคลื่นความถี่ 420 เมกะเฮิร์ต (MHz) เมื่อมี 5G จะต้องมีคลื่นความถี่มากขึ้นแน่นอน ประการต่อมา คือ โครงสร้างพื้นฐาน มีความสำคัญมาก เพราะมีผลต่อการส่งข้อมูล และการเชื่อมต่อต่างๆ ถึงกัน ดังนั้นจึงหวังว่าผู้ดำเนินการทั้ง 3 ค่าย คือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) บมจ.โทเทิ่ล แอ็คแซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) บมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น (TRUE) จะเข้าร่วมประมูล เพื่อสร้างถนนที่มีช่องทางจราจรเพิ่มขึ้นและไม่ทำให้เกิดปัญหาจราจรติดขัด