ไม่พบผลการค้นหา
ตัวเลขผลกำไรล่าสุดของเฟซบุ๊กเป็นตัวยืนยันว่า ปัญหาอื้อฉาวเรื่องเอกชนนำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ไปแสวงผลประโยชน์ต่อนั้นแทบไม่ส่งผลต่อการทำธุรกิจของเฟซบุ๊ก ไตรมาสแรกของปีนี้ เฟซบุ๊กแจ้งว่าทำรายได้ 11.97 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นถึง 49% ของช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีที่ผ่านมา

เว็บไซต์มาร์เก็ตวอตช์รายงานว่า ราคาหุ้นของเฟซบุ๊กในตลาดหุ้นขยับขึ้นถึงร้อยละ 4 หลังจากที่นายมาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้บริหารเฟซบุ๊กแถลงผลงาน ซึ่งเขาระบุว่า ในช่วงเวลาสามปีข้างหน้า จะสร้างเฟซบุ๊กให้เป็นผู้ให้บริการที่ผู้ใช้รักที่จะใช้ ในขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่ดีสำหรับผู้คนและกับสังคม 

นอกจากทำรายได้เพิ่ม เฟซบุ๊กยังมีผู้ใช้เพิ่มอีก 70 ล้านบัญชีในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ทำให้มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายวันอยู่ที่ตัวเลข 1.45 พันล้านบัญชี ขณะที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 2,200 ล้านบัญชี

ผลการดำเนินงานของเฟซบุ๊กนี้เป็นไปท่ามกลางกระแสข่าวความไม่พอใจของผู้ใช้หลายส่วนในเรื่องที่เฟซบุ๊กปล่อยให้มีการนำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ไปแสวงหาผลประโยชน์ได้ ดังเช่นกรณี เคมบริดจ์แอนะลิติกา ซึ่งตกเป็นข่าวใหญ่เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาว่า บริษัทดังกล่าวได้นำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวนร่วม 50 ล้านรายในสหรัฐฯ ไปใช้เพื่อวิเคราะห์และออกแบบข้อมูล เพื่อส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจของพวกเขาในการเลือกตั้งสหรัฐฯ เมื่อปี 2016 และการนำข้อมูลผู้ใช้เฟซบุ๊กไปใช้นั้นไม่ได้รับอนุญาตแต่อย่างใด เรื่องนี้ทำให้เฟซบุ๊กถูกตำหนิอย่างหนัก ทำให้มีผู้คาดกันว่า ข่าวนี้จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของเฟซบุ๊ก

อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊กเองก็เปิดเผยว่า ผลจากข่าวในทางลบที่เกิดขึ้น ทำให้เฟซบุ๊กขยับตัวดำเนินการหลายเรื่องเพื่อจัดการปัญหา เช่น มีการว่าจ้างพนักงานเพิ่มถึง 20,000 คน เพื่อให้ช่วยรับมือในเรื่องการดูแลข้อมูลที่เป็นส่วนตัวของผู้ใช้ ทำให้มีรายจ่ายเพิ่มมากขึ้น เพราะพนักงานที่เพิ่มถึงร้อยละ 48 ดังกล่าว

นอกจากกรณีเคมบริดจ์แอนะลิติกาแล้ว เฟซบุ๊กยังได้รับแรงกดดันให้ปรับตัว เพราะถูกกล่าวหาว่าปล่อยให้ตนเองเป็นเวทีขยายวงเฮทสปีชและข่าวเท็จ ทำให้เมื่อต้นปีที่ผ่านมาเฟซบุ๊กปรับวิธีการให้น้ำหนักของการนำเสนอข้อมูลในหน้านิวสฟีดของผู้ใช้ กล่าวคือลดความสำคัญของเนื้อหาจากกลุ่มองค์กร เช่น องค์กรข่าวหรือองค์กรไม่แสวงกำไรลง หันไปเน้นเนื้อหาที่มาจากผู้ใช้ที่เป็นญาติมิตรแทน

อย่างไรก็ตาม คำถามของนักวิเคราะห์ว่าการปรับเปลี่ยนดังกล่าวส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้ใช้อย่างไรหรือไม่นั้น ยังไม่ได้รับคำตอบจากเฟซบุ๊ก แต่เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ซัคเคอร์เบิร์กเคยเตือนบรรดานักลงทุนว่า พวกเขาจะได้รับผลกระทบแน่นอนจากการที่คาดว่าผู้ใช้จะให้เวลากับเฟซบุ๊กน้อยลง แต่ฝ่ายการตลาดของเฟซบุ๊กไม่คิดว่าการใช้เวลาน้อยลงนี้จะกระทบไปถึงยอดรายได้ของธุรกิจ เพราะเชื่อว่าผู้ใช้ยังคงตอบสนองกับโพสต์ต่างๆ อย่างมาก

เว็บไซต์มาร์เก็ตวอตช์รายงานว่า สิ่งที่น่าจะมีผลกระทบต่อการดำเนินงานของเฟซบุ๊กที่แท้จริงน่าจะเป็นระเบียบใหม่ของสหภาพยุโรปในการป้องกันข้อมูลส่วนตัวที่กำลังจะออกมามีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 พ.ค.ที่จะถึงนี้ เฟซบุ๊กคาดว่าจำนวนผู้ใช้ที่เข้าใช้งานในยุโรปในแต่ละวันจะลดลง แต่ไม่ชัดเจนว่าจะนานเท่าไหร่

ที่มา: Market Watch/ The Guardian/ Technology

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: