เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอเนื้อหาที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อใช้วิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาด หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป แสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา
นางสุวรีย์ ใจหาญ ที่ปรึกษาวิชาการพัฒนาสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า จากการสำรวจของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พบว่าพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนไทยอายุ 8-12 ปี มีโอกาสเสี่ยงได้รับภัยจากออนไลน์สูงมากถึงร้อยละ 60 โดยเหตุที่พบมากที่สุด ได้แก่ การกลั่นแกล้งทางออนไลน์ การด่าด้วยคำหยาบ การเข้าถึงสื่อลามก การพูดคุยเรื่องเพศบนโลกออนไลน์ การติดเกมส์ และการถูกล่อล้วง ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวมีความรุนแรงมากขึ้น
สำหรับแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่กระทรวงฯ เสนอไว้คือ การพัฒนาปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองเด็กจากการใช้สื่อออนไลน์ การส่งเสริมให้พ่อแม่รู้จักใช้สื่อออนไลน์ และการตั้งค่าความปลอดภัยสำหรับเด็ก รวมทั้งควรมีการรายงานการเฝ้าระวัง และขับเคลื่อนการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน ในการใช้สื่อออนไลน์อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้กระทรวงฯ ยังเปิดศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่ออนไลน์ เพื่อเฝ้าระวังและเตือนภัยดังกล่าว พร้อมขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้รู้เท่าทัน ใช้สื่อออนไลน์อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์
อย่างไรก็ตามปัญหาความรุนแรงในสังคมยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่า ความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นกับเด็กและสตรี เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 83.6 เฉลี่ย 5 รายต่อวัน สำหรับประเด็นที่น่าห่วงใย คือ ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องใกล้ตัว หากนิ่งเฉยอาจกลายเป็นอาชญากรรมในครอบครัว โดยกระทรวงฯ ได้ผลักดันให้การยุติความรุนแรงในสังคมเป็นวาระแห่งชาติด้วยการรณรงค์สร้างความตระหนักต่อปัญหาดังกล่าว การร่วมกันต่อต้านการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ การให้ความสำคัญกับการป้องกัน แก้ไขปัญหา เริ่มต้นจากภายในครอบครัว
Photo by Kaur Kristjan on Unsplash