ปรากฏการณ์ดูดรอบทิศ ผนวกกับการถูกกลั่นแกล้งในทางกฎหมาย ปฏิเสธไม่ได้ว่า จะทำให้พรรคเพื่อไทย และพรรคที่ชูเชิดประชาธิปไตย ได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะต่อจำนวนตัวเลข ส.ส.ในสภา ในเวลานี้ต้องบอกว่า ยากนักที่จะได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกหน ในวิกฤติเช่นนี้ สิ่งที่ต้องทำเร่งด่วนคือถือโอกาสปฏิรูปพรรคเพื่อไทยให้สำเร็จในคราวนี้!!
**
สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ บีบให้ พรรคเพื่อไทย ต้องเร่งปฏิรูปตัวเองอย่างเร่งด่วน อดีตผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทยรายหนึ่ง บอกกับผมหลายวันก่อนว่า “ผมคิดว่าพรรคเพื่อไทยคงปฏิรูปตัวเองได้ไม่ทัน ก่อนถึงวันเลือกตั้ง (เขาหยุดนิ่งไปนาน ก่อนพูดประโยคต่อมาว่า) แต่ผมยังอยากเห็น พรรคเพื่อไทยปฏิรูปตัวเองได้สำเร็จจริงจริงนะ เพราะถ้าทำได้ นั่นเป็นโอกาสการเติบโตของฝ่ายประชาธิปไตย”
นัยยะของคำอธิบายที่อดีตผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทยรายนี้ได้ว่าไว้คือความพยายามจะชี้ชวนให้เห็นว่า “เดิมพันการเลือกตั้งครั้งนี้สูงมาก สูงในระดับที่อาจจะเป็นรอยต่อทางประวัติศาสตร์ของการเติบ���ต และถดถอยของประชาธิปไตยไทย”
สิ่งที่ใหญ่โตไปกว่า ชัยชนะของพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ และพรรคที่ชูเชิดประชาธิปไตย ในการเลือกตั้งครั้งหน้า คือ ความสำเร็จในการรักษาระบอบประชาธิปไตยให้แข็งแรงในไทย ไม่ให้ถดถอยไปกว่าเดิม
**
“เต้น-ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ” ให้สัมภาษณ์ มติชนสุดสัปดาห์ว่า นปช.ที่ถูกดูดไป “ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะรับรู้สภาพหัวใจกันมาตลอด” แว่วยินเสียงการดูดมาโดยตลอด เต้นประกาศชัดเจนว่า นี่เป็นโอกาสในการปฏิรูปขบวนการ นปช.ให้แข็งแกร่งไปกว่าเดิม “อย่าได้หวั่นไหวสิ่งทีกำลังเกิดขึ้น มันทำให้ก้าวต่อๆไป ของ นปช.จะยิ่งมีความเข้มแข็งมากขึ้นไปอีก เพราะกลุ่มสามมิตร หรือพลังดูด ทำหน้าที่เป็นหน่วยคัดแยกคนที่ใจเขาไม่พร้อมจะอยู่กับเราอีกต่อไป”
ถ้าเดินตามข้อเสนอของ ณัฐวุฒิ ก็เท่ากับว่า โอกาสที่เกิดขึ้นจาก “พลังดูดสามมิตร” ก็ไม่ใช่แค่การได้ถือโอกาสปฏิรูปขบวนการ นปช.ให้สำเร็จในคราวนี้ แต่ถือเป็นโอกาสในการปฏิรูปพรรคเพื่อไทย ใต้โครงครอบของทักษิณ ให้สำเร็จในคราวนี้ไปด้วย ในทางหนึ่งเป็นการจัดสมดุลใหม่ คิดถึง “ยุทธศาสตร์การต่อสู้ใหม่” ภายใต้ฉันทามติใหม่ที่กำลังเดินเครื่องในสังคมไทย
เพราะเมื่อมีคนออก ก็อย่าประมาทว่าจะไม่มีคนใหม่ใหม่เข้ามา ยิ่งถ้าคนที่เข้ามาใหม่มีคุณภาพที่ดีกว่า ยึดถืออุดมการณ์ประชาธิปไตยเป็นหลักนำทางการเมืองอย่างเคร่งครัดกว่า ยิ่งจะเป็นประโยชน์ต่อพรรคการเมืองและขบวนการเคลื่อนไหวในระยะยาว
เหมือนที่ ณัฐวุฒิให้สัมภาษณ์ว่า “ถ้าดูดสมาชิกพรรคเพื่อไทยออกไปก็ต้องหันไปดูด้วยว่า คนที่จะเข้ามาพรรคเพื่อไทยมีมากกว่าที่ดูดออกไปหรือไม่ เพราะเท่าที่ได้ยินมาในพื้นที่ภาคอีสาน เมื่อมีกระแสข่าวว่าจะดูดส.ส.ออกไปก็จะมีคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาอีก 3-4 เท่าตัว แต่ขณะนี้ยังติดล็อกทางการเมืองอยู่ ไม่สามารถคัดสรรผู้สมัครได้ ดังนั้นต้องรอระยะเวลา ซึ่งการที่ไหลออกและเข้ามามีความต่างอย่างมีนัยสำคัญ”
***
ในทางหนึ่ง จึงต้องบอกอย่างจริงใจว่า “ต้องถือโอกาสปฏิรูปพรรคเพื่อไทยให้สำเร็จในคราวนี้!!” ดึงสปิริต ของ “นายกทักษิณ” ที่ได้เคยมีเป้าหมายที่จะสร้างพรรคไทยรักไทย ให้เป็น “สถาบันทางการเมือง” ที่มีคุณภาพสูงกลับคืนมา ให้ได้!! เหมือน สุนทรพจน์ที่ นายกทักษิณได้เคยกล่าวไว้ ในเวทีการสัมมนาพรรคไทยรักไทย ที่โรมแรมแอมบาสซาเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2546
ทักษิณ : “เราต้องเป็นรัฐบาลอีก 20 ปี-ทำการเมืองอย่างสร้างสรรค์”
“ฉะนั้น เราต้องยืนเป็นพรรคหลักของประเทศ เราต้องเป็นรัฐบาลอีก 20 ปี เนื่องจากประเทศนี้ต้องการความต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหา”
“ที่พูดอย่างนี้ เพราะต้องการบอกให้รู้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่คู่แข่งของพรรคไทยรักไทย คู่แข่งของพรรคไทยรักไทย คือ พรรคไทยรักไทยเอง ฉะนั้นต้องทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวาน ต้องทำพรุ่งนี้ให้ดีกว่าวันนี้ อย่าไปข้องแวะ วอแวกับพรรคประชาธิปัตย์เลย เพราะเขามีวัฒนธรรมแบบรั้นๆ 50 กว่าปี มันไม่สามารถเปลี่ยนได้ง่ายๆ หรอก” “ปล่อยเขาไปเถอะ อย่าไปยุ่งกับเขาเลย ขอให้เราเดินทางโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทำการเมืองอย่างสร้างสรรค์”
“ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ยังคิดว่า แพ้ไทยรักไทย เพราะเงิน ก็จงคิดต่อไปอีก 3 สมัย ถึงจะเข้าใจว่า ไม่ได้แพ้เพราะเงิน ฉะนั้นที่บอกว่า ไทยรักไทยจะเป็น รัฐบาล 20 ปี ก็เป็นเรื่องจริง ฉะนั้นขอให้สมาชิกพรรคยึดหลักสัญญาประชาคมไว้”
“ที่พรรคประชาธิปัตย์คิดว่าแพ้ไทยรักไทยเพราะเงิน ก็ขอให้คิดต่อไปอีก 3 สมัย คงจะเข้าใจ และอีก 2 สมัยจะรู้ว่าแพ้ เพราะอะไร...รวมแล้ว 5 สมัยถึงจะบอกว่าต้องหาวิธีสู้ ที่ผมบอกว่าจะอยู่อีก 20 ปี ผมพูดความจริง”
“ถ้าเรายึดหลักนี้ คู่แข่งที่แท้จริงก็คือเราเอง ขอให้ทำให้ดี อย่าวอกแวก อย่าสนใจเพราะพรรคการเมืองบางพรรคปรัชญาเขาต่ำกว่าเรา ขนาดเราบอกว่าคิดใหม่ทำใหม่เพื่อไทยทุกคน แต่ของเขาบอกว่า โกหกไว้ก่อนพ่อสอนไว้ มันคนละเรื่อง ฉะนั้นไม่ต้องห่วง ทำงานต่อไปให้ดีทุกคน รวมพลังกัน ใครมีหน้าที่อะไรทำไป ทำให้ดี”
“เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 พรรคไทยรักไทยชนะถล่มทลาย แต่ครั้งหน้าในเดือนกุมภาพันธ์ 2548 เราจะชนะ ยิ่งกว่าถล่มทลาย”
ทักษิณ : “ขอเป็น นายก 2 สมัย หลังจากนั้น ขอเป็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทยต่อ เป็นจัดระบบให้พรรคเป็นสถาบันทางการเมือง”
สำหรับการวางแผนชีวิตทางการเมืองของ นายกทักษิณ ในเวลานั้นเขาย้ำชัดว่า “คราวที่แล้วบอกคิดใหม่ทำใหม่เพื่อไทยทุกคน คราวนี้เราจะคิดอีกทำอีกเพื่อความสุขของคนไทยทั้งแผ่นดิน ฉะนั้นผมต้องทำอีก เพราะผมยังเฟรช(fresh)อยู่ และผมตั้งใจจะอยู่ครบ 8 ปี เพราะหลัง 8 ปี เมื่ออายุ 60 ผมจะยังเฟรชอยู่หรือเปล่าก็ไม่รู้ ถ้าผมไม่ฟิต ผมไม่นั่งขวางโอกาส ผมต้องการคนที่ฟิตกว่ามาทำงานแทน”
“หลังจากสมัยหน้า (เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่สอง 48-2552) จะลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่จะเป็นหัวหน้าพรรคต่อไปอีก 4 ปี เพื่อจัดระบบให้พรรคไทยรักไทยเป็นสถาบันที่ยั่งยืนต่อไป”
“หลังจากผมทำหน้าที่เป็นนายกฯ ครบ 8 ปี ก็จะขอมาทำหน้าที่หัวหน้าพรรคอีก 4 ปี เพื่อทำให้พรรคไทยรักไทยเป็นสถาบัน จากนั้น ผมก็คงต้องลาแล้ว เพราะถึงเวลาดังกล่าวรับรองว่าดัชนีตัวเลขต่างๆ ของประเทศ ก็ไม่รู้ว่าวิ่งไปถึงไหนแล้ว เงินทุนสำรอง ค่าเงินบาท หนี้สินคงจะลดไป”
(อ้างอิงจาก หนังสือพิมพ์มติชน/28 ธันวาคม 2546-หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ/28 ธันวาคม 2546-หนังสือพิมพ์ข่าวสด/28 ธันวาคม 2546)
ถ้านับเอา “เงื่อนเวลา” ที่ นายกทักษิณ ว่าไว้ ว่าพรรคไทยรักไทยจะมีโอกาสได้เป็นรัฐบาลไปอีก 20 ปี ถ้าเริ่มเป็นรัฐบาลเมื่อปี 2544 พลังทางการเมืองชุดนี้ก็มีแนวโน้มจะมาสิ้นสุดเอาในปี 2564
มนต์ขลังจากพลังการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายและการปฏิบัติจริง ที่นายกทักษิณและเครือข่ายพรรคไทยรักไทย ต่อเนื่องมายังพรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทย ได้เคยสร้างไว้ ยังไม่ได้อ่อนแรงสักทีเดียว
ยิ่งถ้าถือโอกาสปฏิรูปพรรคเพื่อไทยให้สำเร็จได้ในคราวนี้ด้วยแล้ว จะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อ ประชาธิปไตยไทย
เหมือนกับคำพูดของ อดีตผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทยรายหนึ่งที่คัดมาในช่วงต้นบทความ “ผมยังอยากเห็น พรรคเพื่อไทยปฏิรูปตัวเองได้สำเร็จจริงจริงนะ เพราะถ้าทำได้ นั่นเป็นโอกาสการเติบโตของฝ่ายประชาธิปไตย”