ไม่พบผลการค้นหา
กฟน. เดินหน้าส่งมอบเสาไฟกว่า 15,000 ต้น จากทุกโครงการนำสายไฟฟ้าใต้ดิน หลังแก้ปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งทะเลสำเร็จ

เมื่อวันที่ (20 กุมภาพันธ์ 2561) นายชัยยงค์ พัวพงศกร ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดเผยถึงความสำเร็จของการนำเสาไฟฟ้าไปใช้ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลว่า ตามที่ กฟน. ได้ทำแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ป้อมพระจุลจอมเกล้า จ.สมุทรปราการ ร่วมกับกองทัพเรือ โดยการนำเสาไฟฟ้าที่ชำรุด หัก และยางรถยนต์เก่า มาทำเป็นแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ดักตะกอน ระยะทางกว่า 1,100 เมตร ที่ผ่านมา กฟน. ได้ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นแล้วพบว่า เสาไฟฟ้าสวมด้วยยางรถยนต์สามารถเป็นแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลได้ดียิ่ง เนื่องจากช่วยลดความแรงของกระแสน้ำทำให้มีปริมาณการสะสมของตะกอนหลังเขื่อนเพิ่มมากขึ้น ต้นกล้าและลูกไม้ที่อยู่หลังแนวป้องกันมีปริมาณหนาแน่นขึ้น รวมถึงฟื้นฟูธรรมชาติมีการกลับมาอาศัยของสัตว์น้ำนานาพันธุ์และนกนานาชนิด มีแนวโน้มการอยู่รอดเพิ่มสูงขึ้น ส่วนยางรถยนต์ที่สวมอยู่กับเสาไฟฟ้าจากผลการศึกษาไม่พบการสลายตัวที่เป็นพิษต่อสภาพแวดล้อม หรือส่งผลกระทบทางลบต่อการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตและป่าชายเลนแต่อย่างใด

1519140646861.JPEG

ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลการศึกษาการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลในครั้งนี้ทำให้ กฟน. รู้สึกยินดีที่แนวทางดังกล่าวช่วยลดผลกระทบที่เกิดกับประชาชนริมชายฝั่งทะเลเป็นจำนวนมากทำให้เสาไฟฟ้าที่รื้อถอนและไม่ใช้งานแล้วนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ จึงมีแผนเพิ่มจำนวนการนำส่งเสาไฟฟ้าจากโครงการสายไฟฟ้าใต้ดินในทุกโครงการ เพื่อมอบให้กับโครงการปลูกป่าในใจคนตามศาสตร์พระราชาของ กทม. เพื่อนำไปสร้างแนวป้องกันคลื่นการกัดเซาะชายฝั่งทะเลกรุงเทพฯ เขตบางขุนเทียน เป็นระยะทางประมาณ 4.7 กิโลเมตร โดยล่าสุด ได้ดำเนินการส่งมอบเสาไฟฟ้าจากพื้นที่โครงการสายไฟฟ้าใต้ดินบนถนนพหลโยธิน พญาไท และสุขุมวิท แล้วจำนวนทั้งสิ้น 1,344 ต้น นอกจากนี้ ภายใน 5 ปี (2561-2566) กฟน. มีเป้าหมายส่งมอบเสาไฟฟ้าเพื่อใช้กันคลื่นกัดเซาะบริเวณชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน จำนวน 10,000 ต้น และมอบเสาไฟฟ้าให้แก่กองทัพเรือใช้ในบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า จำนวน 5,000 ต้น อีกด้วย

1519140657347.jpg

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน กฟน. มีแผนงานโครงการที่จะดำเนินการก่อสร้างท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินให้เสร็จสิ้นภายในปี 2564 รวมระยะทางกว่า 214.6 กิโลเมตร โดยจะดำเนินการส่งมอบเสาไฟฟ้าให้กับ กทม. ต่อไป สำหรับเสาไฟฟ้าของ กฟน. ผลิตเป็นแท่งคอนกรีตมีคุณสมบัติที่เหมาะสมแข็งแรง อายุการใช้งานนานประมาณ 30 ปี ซึ่งมีอายุการใช้งานมากกว่าเสาไม้ทั่วไปกว่า 30 เท่า อีกทั้งยังมีความยืดหยุ่นจากโครงสร้างลวดเหล็กภายในเสาไฟฟ้า ทำให้สามารถรับแรงดัดได้มากถึง 4.5 ตันเมตร หรือหักโค้งได้ประมาณ 7-8 เซนติเมตร ทำให้มีความแข็งแรงทนทานสามารถรองรับความรุนแรงของคลื่นทะเลที่มากระทบได้มากขึ้นอีกด้วย


Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
187Article
76559Video
0Blog