องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 'ฮิวแมนไรท์วอทช์' หรือ HRW ออกรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 2018 โดยประเมินสถานการณ์จากปี 2017 ที่ผ่านมา พบว่าเป็นปีที่ประสบความสำเร็จสำหรับแวดวงสิทธิมนุษยชน เพราะผู้นำโลกได้แสดงให้เห็นว่า พร้อมจะต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน และสกัดกั้นการเรืองอำนาจของลัทธิเผด็จการประชานิยม ซึ่งเมื่อผนวกรวมกับภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนอย่างแข็งขัน และทำงานกับหลากหลายภาคส่วน ทำให้ทั่วโลกได้พิสูจน์ตัวเองร่วมกันว่า การต่อสู้กับรัฐบาลที่กดขี่ละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องที่ไม่เกินความพยายาม
นายเคนเนธ รอธ ผู้อำนวยการใหญ่ของ ฮิวแมนไรท์วอทช์ ย้ำว่ากระแสขวาจัดและการมุ่งสู่ระบอบอำนาจนิยมในหลายพื้นที่ของโลกเคยเป็นประเด็นที่น่าวิตกกังวลว่าจะทำให้เกิดความรุนแรง แต่การเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมช่วยให้เกิดความหวังว่าการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนจะขยายแนวร่วมต่อไปได้ โดยรอธย้ำว่า "สิทธิมนุษยชนไม่ใช่การเลือกคุ้มครองเฉพาะคนที่เราชอบ แต่เป็นเรื่องพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนต้องได้รับโดยเท่าเทียมกัน"
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประเทศไทย ฮิวแมนไรท์วอทช์กลับมองว่ารัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่สามารถรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาคมโลกและสหประชาชาติในช่วงก่อนหน้านี้ ที่ว่าจะเคารพสิทธิมนุษยชนและคืนประชาธิปไตยให้กับพลเมือง แม้จะประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ แต่กลับไม่มีการยุติการกดขี่สิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง กักขังผู้เห็นต่าง แต่ไม่ลงโทษผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกด้วย
ในด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ฮิวแมนไรท์วอทช์รายงานว่า มีการสั่งปิดหรือคุกคามสื่อมวลชนจำนวนมากที่รายงานข่าววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นวอยซ์ทีวี พีซทีวี วิทยุสปริงนิวส์ หรือทีวี 24 แม้ในตอนหลัง สถานีเหล่านี้จะได้รับอนุญาตให้กลับมาออกอากาศอีกครั้ง แต่ก็ต้องอยู่บนเงื่อนไขของการเซ็นเซอร์ตัวเอง รวมถึงไม่อนุญาตให้พิธีกรที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา กลับเข้าร่วมรายการ
ขณะเดียวกันยังมีการสกัดกั้นการชุมนุมอย่างสงบของประชาชนในจังหวัดสงขลา ที่ต้องการแสดงจุดยืนต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ส่วนการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พรบ.คอมพิวเตอร์ และกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เพื่อปราบปรามผู้เห็นต่างจากรัฐ ก็ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง มีคนอย่างน้อย 66 คนถูกตั้งข้อหาด้วยกฎหมายอาญามาตรา 116 และตั้งแต่การรัฐประหาร มีการจับคนในข้อหา 112 แล้วถึง 105 คน
ในส่วนของการควบคุมตัวตามอำเภอใจ การกักขังคนในค่ายทหาร และการใช้ศาลทหาร ก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ในไทย ยังมีการเรียกสมาชิกพรรคเพื่อไทย และกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ รวมถึงบุคคลอื่นๆ ปรับทัศนคติ และแม้ว่าจะมีการยกเลิกการใช้ศาลทหารในคดีพลเรือนแล้ว แต่คดีเก่าอีก 369 คดียังค้างอยู่ที่ศาลทหาร ซึ่งอาจทำให้จำเลยไม่ได้รับความเป็นธรรมตามมาตรฐานสากล
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการบังคับสูญหาย เช่น กรณีโกตี๋ หรือนายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) รวมถึงปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่รัฐบาลไม่ปล่อยให้มีการตรวจสอบ ดำเนินคดีกับทหารหรือเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ ที่มีส่วนสังหารหรือทรมานชาวมุสลิมในพื้นที่
ส่วนปัญหาการจัดการกับแรงงานข้ามชาติ ผู้อพยพและผู้ลี้ภัย ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข มีการออกคำสั่งโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เรื่องการผลักดันเรือผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาออกจากน่านน้ำไทยเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ส่วนผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ที่ติดค้างอยู่ในห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองตั้งแต่ปี 2014
นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังไม่ยอมให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เข้าไปตรวจสอบและอนุมัติสถานะผู้ลี้ภัยให้กับชาวโรฮิงญาที่เข้ามาในประเทศ และยังไม่ยอมร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัยด้วย ส่วนปัญหาแรงงานต่างด้าวก็ยังไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ ต้องเผชิญกับการละเมิดและกดขี่จากนายจ้าง รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ
นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำภาคพื้นเอเชีย กล่าวว่ารัฐบาลทหารของไทยใช้อำนาจที่ไร้การตรวจสอบนำพาประเทศจ่อมจมลงสู่ห้วงเหวของการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่หนักข้อยิ่งขึ้น แทนที่จะมอบคืนสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ คณะผู้ปกครองทหารกลับดำเนินคดีผู้เห็นต่าง ห้ามการชุมนุมประท้วงโดยสงบและปิดกั้นสื่อ
“คำสัญญาลมๆแล้งๆของพลเอกประยุทธ์จันทร์โอชา ไม่อาจใช้เป็นข้ออ้างที่จะทำราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับประเทศไทย”นายอดัมส์กล่าว
“รัฐบาลทั่วโลกควรผลักดันรัฐบาลทหารของไทยให้ยุติการลิดรอนสิทธิมนุษยชนโดยทันทีและเคารพในหลักสิทธิเสรีภาพ พร้อมทั้งนำประเทศกลับคืนสู่การปกครองโดยพลเรือนตามหลักประชาธิปไตย”
อ่านเพิ่มเติม: