ไม่พบผลการค้นหา
กำหนดการเดินทาง 'กลับบ้าน' ของทักษิณ ชินวัตร ค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่าจะเป็นวันที่ 22 พ.ค.2566 การตัดสินใจครั้งนี้เขาประกาศว่า อยากใช้ชีชีวิตบั้นปลายเลี้ยงหลาน และพร้อมเผชิญกับคุกตารางที่รออยู่ แต่ก่อนจะให้เรื่องจะสรุปจบง่ายๆ กับคุก 10 ปี วอยซ์ชวนทำความเข้าใจ 'เส้นทางคดี' ของรัฐบาลทักษิณหลังถูกยึดอำนาจในปี 2549 ว่ามีความผิดปกติแค่ไหน อย่างไร
ึเปิดแฟ้มคดีทักษิณ


คตส. ซูเปอร์องค์กรชงคดี คณะรัฐประหารทำคลอดกับมือ

หลังรัฐประหารรัฐบาลทักษิณเมื่อ 19 กันยายน 2549  คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ดำเนินการหลายอย่างในการปรับเปลี่ยนกระบวนการยุติธรรมปกติ

เครื่องมือพิเศษแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่คือ

1) คตส. หรือคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ตั้งขึ้นมาเพื่อจัดการกับ ‘ทักษิณ ชินวัตร และครม.’ โดยเฉพาะ

2) ป.ป.ช. ยุบชุดเดิม แต่งตั้งชุดใหม่โดยคณะรัฐประหาร

ในส่วนของ คตส. มีการจัดการดังนี้

หลังรัฐประหาร 11 วัน มีการตั้ง 'คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน' หรือเรียกต่อมาว่า คตส.จำนวน 12 คน (ลาออก 2 คน) โดยประกาศ คปค. ระบุให้ตรวจสอบเฉพาะ 'รัฐบาลทักษิณเท่านั้น'

“เนื่องด้วยปรากฏว่าการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งโดยผลของการปฏิรูปการปกครองฯ มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองและผู้อื่น ทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศอย่างร้ายแรง จึงสมควรดำเนินการตรวจสอบการดำเนินงานและโครงการต่างๆ ที่ได้รับอนุมัติหรือเห็นชอบโดยบุคคลในคณะรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีดังกล่าวว่าเป็นไปโดยไม่สุจริตหรือไม่”

ซูเปอร์องค์กร

คตส. มีอำนาจเสมือนเป็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  แต่บวกอำนาจเพิ่มของ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (ป.ป.ง.), สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.), กรมสรรพากร, คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สามารถเรียกข้อมูลได้จากทุกหน่วยงาน

 ข้ามอัยการสูงสุดได้

กระบวนการดำเนินคดีกับนักการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริต โดยปกติจะเริ่มจาก ป.ป.ช. รวบรวมสำนวนหลักฐานทั้งหมด ส่งอัยการ เพื่อพิจารณาว่ามีน้ำหนักพอจะส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ แต่สำหรับ คตส. คณะรัฐประหารได้ให้อำนาจพิเศษเพิ่มเติมว่า หาก คตส. (ซึ่งเหมือนเป็น ป.ป.ช.) ส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุด แล้วอัยการสูงสุดเห็นแย้ง คตส.ยังยืนยันก็สามารถยื่นฟ้องศาลฎีกาฯ ได้โดยตรงเลย

มีอำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์

คตส.ในประกาศฉบับแรกของคณะรัฐประหาร ยังไม่มีอำนาจอายัด ยึดทรัพย์อย่างชัดเจน จนกระทั่งต้องออกประกาศฉบับที่ 2 ขอบเขตการตรวจสอบของ คสต.เป็นได้ทั้งโครงการ, ครม., บุคคล และสัญญาต่างๆ 

สรุปอำนาจของ คตส. ได้ดังนี้ 

1. ตรวจสอบการดำเนินงานหรือโครงการที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. หรือรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณที่มีเหตุสงสัยว่าทุจริต ประพฤติมิชอบ

2. ตรวจสอบสัญญา สัญญาสัมปทาน การจัดซื้อจัดจ้าง ในรัฐบาลทักษิณที่เหตุสงสัยว่าทุจริต หรือประพฤติมิชอบ

3.ตรวจสอบการปฏิบัติราชการใดๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐ หน่วยงานรัฐ ที่มีเหตุสงัยว่าทุจริต หรือประพฤติมิชอบ

4.หากมีพฤติการณ์ว่าเกี่ยวข้องทุจริต หรือร่ำรวยผิดปกติ  ให้มีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์ที่เกี่ยวข้องของผู้นั้น คู่สมรส หรือบุตรไว้ก่อนได้

ตั้งเรื่องได้เอง

ไม่จำเป็นต้องเป็นข้อกล่าวหาทุจริตที่มีอยู่ใน ป.ป.ช.หรือ สตง.เท่านั้น แต่ คตส.สามารถพิจารณาตั้งเรื่องเองตามที่เห็นสมควร หรือรับเรื่องจากบุคคลภายนอกเพื่อดำเนินการได้เลย 

ในส่วนของ ป.ป.ช. คณะรัฐประหารมีการจัดการดังนี้ 

1) ยุบ ป.ป.ช.ชุดเดิมทั้งหมด แล้วตั้งชุดใหม่ขึ้นเอง 9 คน (ประกาศ คปค.ฉบับที่ 19) ได้แก่  

ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ (ประธาน) / กล้าณรงค์ จันทิก / วิชา มหาคุณ / สมลักษณ์ จัดกระบวนพล / ใจเด็ด พรไชยา / ประสาท พงษ์ศิวาภัย / ศ.ภักดี โพธิศิริ / ศ.เมธี ครองแก้ว /  / วิชัย วิวิตเสวี

2) การลงมติของ ป.ป.ช.จากเดิมต้องใช้เสียง 2 ใน 3 เปลี่ยนเป็นใช้เสียงข้างมากแทน (ประกาศ คปค.ฉบับที่ 31) ซึ่งส่งผลให้การลงมติต่างๆ เป็นไปได้ง่ายขึ้น

คำสั่งพิเศษของคณะรัฐประหารที่เพิ่มอำนาจให้ ป.ป.ช.ได้ถูกแก้ไขให้อยู่ในกฎหมายปกติของ ป.ป.ช.ในเวลาต่อมา เช่น การลงมติโดยใช้เสียงข้างมาก และยังกำหนดเพิ่มเติมให้คดีทุจริตที่ศาลตัดสินลงโทษนั้นไม่มีอายุความด้วย ส่วนโทษจำคุกสูงสุดนั้นในช่วงปี 2558 เคยเพิ่มโทษสูงสุดนักการเมืองทุจริตไปถึง ‘ประหารชีวิต’ แต่สุดท้ายแก้กลับในยุค คสช.เหลือโทษสูงสุด ‘จำคุกตลอดชีวิต’

ดูเหมือน ‘การเช็คบิล’ ยังไม่จบเพียงเท่านั้น หลังรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยังตรา พ.ร.ป. วิธีพิจารณาความคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 25 , 27 และ 28 ส่งผลให้ศาลสามารถพิจารณา ‘ลับหลังจำเลย’ ได้ , คดีไม่นับอายุความหากจำเลยไม่อยู่ในประเทศ, คดีไม่ขาดอายุความ

“จะเห็นได้ว่า พ.ร.ป.ฯ 60 ทั้งสามมาตรานี้ มุ่งหมายใช้กับกรณีคุณทักษิณ และคุณยิ่งลักษณ์ โดยเฉพาะ” ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้ากล่าวไว้

เปิดแฟ้มคดีทักษิณ
คตส. 2 เวอร์ชัน ชุดแรกไม่ผ่าน 
  • การมีซูเปอร์องค์กรอย่าง คตส. อันที่จริงก็ไม่ได้ smooth as silk แม้จะใช้อำนาจคณะรัฐประหารตั้งขึ้นก็ตาม เพราะการหาคนมาทำงานจุดนี้ไม่ลงตัวนักในช่วงแรก ทำให้ต้องมีการออกประกาศ คปค. สองครั้ง
  • หลังการรัฐประหาร 5 วัน (24 ก.ย.2549) มีประกาศ คปค. เรื่อง ‘การตรวจสอบทรัพย์สิน’ โดยตั้งคณะกรรมการ คตส. 8 คน ซึ่งมี สวัสดิ์ โชติพานิช อดีตประธานศาลฎีกา อดีต กกต. เป็นประธาน ส่วนกรรมการมาจาก ‘ตำแหน่ง’ ในหน่วยงานต่างๆ คือ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน, เลขา ป.ป.ช., เลขา ป.ป.ง., เจ้ากรมพระธรรมนูญ, ผู้ว่า ธปท., เลขา กลต.
  • คณะกรรมการชุดนี้ทำงานได้อาทิตย์เดียว ก็ถูกเด้งด้วยการที่ คปค.ออกประกาศใหม่ ตั้ง คตส.ชุดใหม่เป็น ‘ชื่อบุคคล’ 12 คนแบบจำเพาะเจาะจง และให้อำนาจแบบ 'ใหญ่' และ 'โหด' กว่าเดิม 
  • เหตุที่ต้องประกาศตั้งกรรมการชุดใหม่เนื่องจากสวัสดิ์ขัดแย้งกับจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินในขณะนั้นซึ่งเป็น คตส.เหมือนกัน เกี่ยวกับการทำงานร่วมกัน ที่สำคัญคือ การตีความ ‘ขอบเขต’ อำนาจของ คตส.ที่ต่างกัน
  • สวัสดิ์เห็นว่า คตส.สามารถตรวจสอบได้เฉพาะโครงการที่ผ่านการอนุมัติจาก ครม.หรือรัฐมนตรีเท่านั้นตามประกาศ คปค. ซึ่งมุมมองนี้จะทำให้ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบกรณีหุ้น (ชินคอร์ป) ซึ่งเป็นเรื่องของเอกชนได้ เพราะไม่ได้กระทำการในนามรัฐบาล นอกจากนี้ คตส.ยังไม่มีอำนาจยึดทรัพย์หากหลักฐานไม่ชัดเจน ขณะที่จารุวรรณ และผู้สนับสนุนอีกหลายคนใน คตส.และ ป.ป.ช. เห็นว่านั่นเป็นการตีความแบบแคบเกินไป ต่อมาคุณหญิงจารุวรรณ และทีมอดีต ส.ว. อาทิ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ, สัก กอแสงเรือง, เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ, เสรี สุวรรณภานนท์ เป็นต้น ได้ยกร่าง (ประกาศ คปค.) ฉบับใหม่และเดินทางเข้าพบ คปค.เพื่อหารือเรื่องดังกล่าว
  • นั่นทำให้ คปค. ต้องออกประกาศฉบับใหม่ในสัปดาห์ถัดมา (30 ก.ย.49) เพื่อแต่งตั้ง คตส.ชุดใหม่ โดยระบุ ‘ชื่อบุคคล’ ที่ต้องการเป๊ะๆ 12 คน โดยสวัสดิ์ โชติพานิช ก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่วันต่อมาสวัสดิ์ได้แจ้งการลาออกโดยไม่ระบุเหตุผล
  • ในจำนวน 12 คนนั้น มี ‘กล้าณรงค์ จันทิก’ ซึ่งเป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งทั้ง ป.ป.ช. และ คตส. โดยเขาระบุว่าเป็นเรื่องดีเพราะจะได้ทำหน้าที่ประสานงานได้สะดวก
  • นอกจากนี้ในประกาศดังกล่าวยังเพิ่มอำนาจ คตส.อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอำนาจเห็นแย้งอัยการสูงสุดแล้วฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้โดยตรง  และการยึดอายัดทรัพย์ซึ่งนำมาใช้กับคดี ‘ยึดทรัพย์ทักษิณ’
ึเปิดแฟ้มคดีทักษิณ
ใครเป็นใครใน คตส.

หลังการรัฐประหารไม่นาน คปค เรียก ‘ตัวตึง’ ที่เกี่ยวข้องกับงานตรวจสอบทุจริตเข้าพบ คือ กล้านรงค์ จันทิก อดีตเลขาธิการ ป.ป.ช. และคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่า สตง. ในเวลานั้น เพื่อหารือเตรียมการจัดตั้งองค์กรตรวจสอบการทุจริตในรัฐบาลทักษิณ

ต่อมาจึงได้ออกประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน เพื่อตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) จากการดำเนินงานหรือโครงการต่างๆ โดยบุคคลหรือคณะรัฐมนตรีในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ กำหนดให้มี คตส. 12 คนโดยกำหนดรายชื่อมาเสร็จสรรพ แต่ปรากฏว่าเหลือทำงานจริงเพียง 10 คน เพราะลาออกไป 2 คน

คนที่ 1 คือ สวัสดิ์ โชติพานิช ลาออกตั้งแต่วันแรก เขาเคยเป็นประธาน คตส.ชุดแรกที่ทำงานได้เพียงสัปดาห์เดียวก็โดนตั้งแง่สารพัด เข้าขากันไม่ได้กับคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่า สตง.ซึ่งทรงอิทธิพลมากในขณะนั้น กดดันกันจนสุดท้าย คปค.ออกประกาศตั้ง คตส.ชุดที่ 2 ซึ่งมีชื่อสวัสดิ์อยู่ในนั้นด้วย แต่เขาตัดสินใจลาออก

คนที่ 2 คือ จิรนิติ หะวานนท์ ซึ่งนั่งเป็นอนุกรรมการไต่สวนคดีการจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิงของกทม. และอยู่ในอนุกรรมการตรวจสอบหุ้นชินคอร์ป จิรนิติทำงานเกือบปีแล้วจึงลาออก โดยให้เหตุผลว่า คณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) มีมติเห็นชอบให้เขาไปดำรงตำแหน่งประธานแผนกคดีผู้บริโภคของศาลอุทธรณ์ ภาค 2 ที่ จ.ระยอง

รู้จักประวัติของ  10 คตส. 

1.นาม ยิ้มแย้ม (ประธานกรรมการ)

นาม ยิ้มแย้ม เคยเป็นประธานอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนของ กกต. (กรณี พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ) ซึ่งมีมติให้ยุบพรรคไทยรักไทย 

ย้อนไปในคดียุบพรรคไทยรักไทย สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ร้องเรียน กกต.ว่า พรรคไทยรักไทยจ้างพรรคการเมืองขนาดเล็กอย่างพรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทยลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อหนีเกณฑ์ร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยร่วมกับเจ้าหน้าที่ กกต.ปลอมแปลงข้อมูลสมาชิกพรรคเล็กเมื่อปี 2549 อัยการสูงสุดส่งฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการมีมติ ‘ยุบพรรคไทยรักไทย’ 9 ต่อ 0 เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2550

นาม ยิ้มแย้ม ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองประธานศาลฎีกา และเป็นประธานอนุกรรมการสอบสวน ได้สรุปสำนวนความผิดว่า ผู้บริหาพรรคไทยรักไทยเกี่ยวข้องกับการว่าจ้างพรรคเล็กลงสมัคร และเสนอให้ กกต. แจ้งข้อกล่าวหาต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ หัวหน้าพรรค ขณะที่พรรคไทยรักไทยกล่าวหานามว่า มีความสนิทสนมกับชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรค ปชป. แต่ทั้งนามและ ปชป.ออกมาปฏิเสธ 

นาม ยิ้มแย้ม คือรุ่นพี่ในคณะนิติศาสตร์ มธ.ของ ชวน หลีกภัย ทั้งคู่ถือว่ามีความสนิทสนมไปมาหาสู่กันในสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล อีกทั้งเขายังเคยพักอาศัยอยู่ที่บ้านนายชวนที่ซอยหมอเหล็ง ระหว่างรับราชการเป็นผู้พิพากษา นอกจากนี้เขายังได้รับการสนับสนุนจาก สุทัศน์ เงินหมื่น อดีต รมว.ยุติธรรม และสนิทสนมกับสวัสดิ์ โชติพานิช อดีตประธานศาลฎีกา ซึ่งสวัสดิ์มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดพัทลุง ทั้งหมดนี้ทำให้เขาถูกมองว่าเป็นผู้ฝักใฝ่พรรคประชาธิปัตย์ 

ปี 2552 มีรายงานข่าวว่า นาม ยิ้มแย้ม ได้รับเทียบเชิญจากพรรคประชาธิปัตย์ให้รับตำแหน่งที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม จากวงประชุม ครม.เมื่อ 6 ม.ค.2552 แต่เกิดเสียงคัดค้านจากแกนนำพรรคหลายคน เพราะกังวลว่าพรรคจะถูกโจมตี เนื่องจากนามเคยถูกกล่าวหาว่าพยายามช่วยเหลือพรรคประชาธิปัตย์จากการทำสำนวนคดียุบพรรคไทยรักไทย และคดีรถดับเพลิงที่มี อภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่า กทม. ตกเป็นจำเลย 

2. แก้วสรร อติโพธิ

แก้วสรร อติโพธิ เป็นที่รู้จักในหลายวงการ จากบทบาทอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และงานทางการเมือง โดยช่วงปี 2539 เขาดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) และ ส.ว. กรุงเทพฯ เป็นประธานกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมในปี 2543 ก่อนลาออกเพื่อลงสมัครเป็น กกต. ชุดที่ 3 แต่ไม่ได้รับคัดเลือก หลังรัฐประหาร 2549 แก้วสรรถูกทาบทามจากคณะรัฐประหาร ให้มาเป็น ป.ป.ช. แต่ที่สุดก็ไม่ได้รับการแต่งตั้ง เพราะ มีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของคณะรัฐประหาร ให้เหตุผลว่า เนื่องจากแก้วสรรไม่ได้เป็นศาสตราจารย์ จึงอาจเป็นข้อโต้แย้งถึงคุณสมบัติในเป็น ป.ป.ช. 

แก้วสรรยังเคยทำงานด้านพิธีกรในรายการแกะรอยคอร์รัปชัน ออกอากาศทางช่อง 5 ก่อนที่จะหวนกลับสู่เวทีการเมืองในปี 2551 ในนามผู้สมัครผู้ว่า กทม. สังกัดอิสระ แต่ไม่ได้รับเลือก

แก้วสรรเป็นที่รู้จักจากการวิจารณ์ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ โดยในเดือนสิงหาคม 2549 เขาได้ขึ้นเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และสนับสนุนกรณีฉีกบัตรเลือกตั้ง ในยุคต่อมาแก้วสรรร่วมเคลื่อนไหวและขึ้นเวที กปปส. โดยโจมตียิ่งลักษ์ ชินวัตร ด้วยการนำภาพอริยบทต่างๆ ของยิ่งลักษณ์มาวิจารณ์บนเวที ยกตัวอย่างเช่น

“น้องสาวของทักษิณ ถูกนำมาเชิด ทำงานที่ไม่มีศักยภาพ ไม่เหมาะกับสุขภาพจิต ฟั่นเฟือนหมดแล้ว ดูรูปร่างหน้าตาก็จะเห็น โดนคดีต่างๆ มากมาย กลายเป็นสมทรงของไอ้ฟักไปซะแล้ว น่าสงสารมาก รับไม่ไหว ออกทีวีเมื่อไหร่ก็เสียงคลุมเครือจะร้องไห้ ลงรถก็จะหกล้ม ดูสิครับเนี่ย”

“ตอนนี้ระบอบทักษิณไม่เหลืออะไร ได้แต่กอดทฤษฎีเสียงข้างมากเป็นใหญ่ กอดหีบเลือกตั้ง ซึ่งทฤษฎีนี้นำไปสู่ความโง่อีกแล้ว ทักษิณและระบอบของเขาคิดว่า ความชอบธรรม อำนาจอธิปไตยมาจากการเลือกตั้ง ได้มาแล้วทำอะไรก็ได้”

23 มี.ค. 2557  แก้วสรรขึ้นปราศรัยที่เวทีชุมนุม กปปส. สวนลุมพินี โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า ให้ทหารประกาศกฎอัยการศึกเพื่อปราบปราม หากเมื่อไรเสื้อแดงกดดัน ป.ป.ช. หรือศาล หรือคนกรุงเทพฯ

“บอกมึงอย่าขยับ ขอกูข่มขืนต่อไป เมื่อไหร่มันมาถึงจุดนั้นเมื่อไหร่ เมื่อไหร่มันมาถึงจุดนั้นเมื่อไหร่ ไม่ต้องเลือกตั้ง ประกาศกฎอัยการศึก” 

3. กล้านรงค์ จันทิก 

กล้านรงค์ จันทิก คืออดีตเลขาธิการ ป.ป.ช. ช่วงปี 2542-2546 ภายหลังพ้นตำแหน่ง เขาสมัครเป็นกรรมการ ป.ป.ช แต่ไม่ได้รับเลือกจากวุฒิสภา 

ต่อมาในปี 2549 กล้านรงค์ได้ร่วมลงนามทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอ ‘นายกรัฐมนตรีพระราชทาน’ ร่วมกับนักวิชาการ วุฒิสภา ราชนิกุล แพทย์อาวุโส ศิลปินแห่งชาติ ฯลฯ  รวม 96 คน เพื่อขอพระราชทานรัฐบาลชั่วคราว-นายกฯ คนใหม่ และเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ บริหารประเทศชั่วคราวจนกว่าจะมีการเลือกตั้งแล้วเสร็จ หลังจากที่ทักษิณประกาศยุบสภาไปเมื่อ 24 ก.พ.2549 เพื่อให้ กกต.จัดการเลือกตั้งใหม่ ในวันที่ 2 เม.ย.2549  

กล้านรงค์ ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ว.กรุงเทพฯ จนกระทั่งภายหลังการรัฐประหารปี 2549 เขาได้รับแต่งตั้งจาก คปค. ให้เป็น ป.ป.ช. จนกระทั่งครบวาระการดำรงตำแหน่ง

หลังการรัฐประหารยกที่สองในปี 2557 กล้านรงค์ ได้รับการแต่งตั้งเป็น สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ในปี 2562 

ช่วงที่กล้านรงค์ ดำรงตำแหน่งใน สนช. เขามีชนักติดหลังเรื่องการชี้แจงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน จำนวน 1.9 ล้านบาท หลังมีหญิงคนหนึ่งเรียกร้องความเป็นธรรมผ่านยูทูบ กรณีที่ภรรยาของกล้านรงค์เป็นหนี้แล้วไม่จ่าย ซึ่ง ‘เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ’ เคยเรียกร้องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ โดยได้ข้อมูลจากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค1 ซึ่งภรรยาและกล้าณรงค์ เป็นโจทย์ กับ ยมนา สุธาสมิท เป็นจำเลย โดยคำพิพากษาตัดสินว่า มีเช็คจำนวน 1.9 ล้านบาทเป็นของพันทิวา ทำให้นายกล้านรงค์มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน หากกล้าณรงค์ไม่ได้มีการยื่นไว้ ป.ป.ช.ต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างที่ดำเนินการกับนักการเมืองคนอื่นมาตลอด

ปัจจุบัน กล้านรงค์คือ หนึ่งใน 250 สว.ชุดพิเศษ ที่แต่งตั้งโดย คสช. และเขาโหวต ‘งดออกเสียง’ ในวาระการเสนอชื่อพิธาเป็นนายกฯ เมื่อวันที่ 13 ก.ค.2566 

4. คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา

คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เติบโตในหน้าที่จนกระทั่งได้เป็นผู้อำนวยการ สตง. ภูมิภาค ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงาน สตง. และ เป็นข้าราชการซี 10 ในตำแหน่งรองผู้อำนวยการ สตง. 

ก่อนมาเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เส้นทางอาชีพของจารุวรรณใช่ว่าราบรื่น เนื่องจากกฎหมายของสำนักตรวจเงินแผ่นดินเดิมก่อนที่จะมีการยึดอำนาจในปี 2549 กำหนดให้ตำแหน่ง ‘คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน’ และตำแหน่ง ‘ผู้ว่าการ สตง.’ มาจากการสรรหา

กฎหมายกำหนดว่า ประธานสรรหาจะต้องส่งชื่อคนที่ได้รับเลือกเพียง 1 คนไปให้ที่ประชุมวุฒิสภาเห็นชอบเป็นผู้ว่าการ สตง. แต่ในคราวนั้นมีการเสนอ 3 ชื่อ และที่ประชุมวุฒิฯ ให้คุณหญิงจารุวรรณเป็น ‘ผู้ว่าการ สตง.’ ในวันที่ 31 ธ.ค.2544 นำมาซึ่งความขัดแย้งกับคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งไม่เห็นด้วยที่จะให้จารุวรรณดำรงตำแหน่งดังกล่าว ถึงขนาดมีการบุกยึดห้องทำงานของคุณหญิงจารุวรรณและเปลี่ยนกุญแจใหม่

ทักษิณ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีขณะนั้น พยายามที่จะแก้ปัญหา แต่ก็แก้ไม่ได้ ทำให้ถูกกล่าวหาว่า คนใน 'ระบอบทักษิณ' นั่นเองที่ชักใยต่อต้านจารุวรรณ

เมื่อทหารยึดอำนาจในปี 2549 พล.อ.สนธิได้ออกคำสั่ง คปค.ฉบับที่ 12 ให้ยุบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน แต่ให้จารุวรรณ เป็นผู้ว่าการ สตง. ต่อไปและใช้อำนาจแทนคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน นอกจากนี้ยังออกประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 แต่งตั้งจารุวรณให้ควบตำแหน่ง คตส. เพิ่มอีกด้วย

ในปี 2550 ทีมทนายของทักษิณส่งหนังสือต่อ คตส.เพื่อคัดค้านการเข้ามานั่งในตำแหน่ง 'อนุกรรมการ คตส.ไต่สวน คดี  CTX' ที่จารุวรรณดูแล โดยให้เหตุผลว่า จารุวรรณมีส่วนรู้เห็นและมีส่วนได้ส่วนเสียกับกรณีที่กล่าวหาทักษิณ รวมทั้งเคยมีความโกรธเคืองกับทักษิณจากกรณีการสรรหาผู้ว่าการ สตง.มาก่อน 

อย่างไรก็ตาม เมื่อ คตส.หมดวาระลง จารุวรรณยังคงดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (31 ธ.ค.2544 –5ก.ค.2553) ในช่วงก่อนจะพ้นตำแหน่งผู้ว่าฯ สตง. ได้เกิดปัญหาเรื่องการตีความข้อกฎหมาย เมื่อจารุวรรณอ้างประกาศคณะรัฐประหาร คปค. ฉบับที่ 29 ขอรักษาการในตำแหน่งผู้ว่าฯ สตง. ต่อไปจนกว่าการสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และผู้ว่าฯ สตง. คนใหม่จะเสร็จสิ้น ก่อนที่ต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกาจะตีความว่าจารุวรรณขาดคุณสมบัติการเป็นรักษาการผู้ว่าฯ สตง. แล้วเนื่องจากมีอายุครบ 65 ปีในเดือนตุลาคม 2553 เรื่องไปถึงศาลปกครองจนมีคำพิพากษายืนยันว่า จารุวรรณ ได้พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าฯ สตง. ไปแล้ว โดย พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินได้รับเลือกให้เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินในปี 2557 ยุค คสช.

ระหว่างดำรงตำแหน่งในสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน จารุวรรณถูกวิพากษ์วิจารณ์กรณีเอื้อประโยชน์แก่เครือญาติและขาดความโปร่งใส เช่น ถูกกล่าวหาว่าตั้งลูกของตนเองเป็นเลขานุการส่วนตัวโดยได้รับเงินเดือนจากรัฐ และพาลูกท่องเที่ยวต่างประเทศในการไปราชการของตนเองซึ่งได้รับค่าใช้จ่ายจากรัฐ ฯลฯ แต่จารุวรรณชี้แจงว่า สามารถทำได้ตามกฎหมาย กระทั่งวันที่ 7 ต.ค.2564 ที่ประชุม ป.ป.ช. ได้ยกคำร้องตีตกข้อกล่าวหาดังกล่าว  

อีกกรณีคือ จารุวรรณ ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 กรณีจัดให้มีการสัมมนาที่ จ.น่าน เมื่อ 31 ต.ค.2546 ทั้งที่ไม่ได้สัมมนากันจริง แต่จัดสัมมนาเพื่อให้ข้าราชการที่มีรายชื่อเข้ารับการสัมมนาได้ไปร่วมงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทานที่จัดขึ้นในวันเดียวกันแล้วเบิกค่าเดินทาง ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายต่างๆ ในงบเดียวกัน 294,440 บาท คดีนี้ต่อสู้กันหลายชั้นศาล จนกระทั่งในที่สุด ศาลฎีกาได้พิพากษาให้จารุวรรณมีความผิดตาม มาตรา 157 จำคุก 9 เดือน และโทษปรับลดเหลือ 15,000 บาท รอการลงโทษ 2 ปี

5. บรรเจิด สิงคะเนติ 

บรรเจิด สิงคะเนติ เป็นที่รู้จักในฐานะนักกฎหมายมหาชน เติบโตในอาชีพการงาน ทั้งการเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมายหลังการรัฐประหาร 2549,  กรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง และศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ, กรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน (คตส.) ตามประกาศของคณะรัฐประหาร  

บรรเจิด ถือว่ามีบทบาทอย่างมากในช่วงที่มีการเคลื่อนไหวโค่นล้ม ‘ทักษิณ ชินวัตร’ โดยเขาเคยกล่าวว่า “รัฐนี้จะกลายเป็น 'ทักษิณประเทศ' เพราะกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ" ( 16 มี.ค.2549) 

บรรเจิด ยังเป็นแกนนำกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์​ เคยขึ้นเวทีพันธมิตรฯ ประกาศคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง บนเวทีพันธมิตร โดยให้เหตุผลว่า ขัดต่อนิติธรรม นิติรัฐ และสร้างความแยก และขัดต่อรัฐธรรมนูญ

1 ส.ค.2556 เมื่อวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ลาออกจากตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ บรรเจิดก็สมัครเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก 

ในปี 2560 บรรเจิด ในฐานะคณบดี คณะนิติศาสตร์ นิด้า ถูกนักศึกษายื่นฟ้องกรณีขัดขวางการสอบของโจทก์ (นักศึกษา) และหลังจากโจทก์สอบวิทยานิพนธ์ผ่านแล้ว จำเลยได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ส่งวิทยานิพนธ์ตรวจสอบรูปเล่ม และไม่ส่งผลการอนุมัติต่อสภามหาวิทยาลัย  เนื่องจากไม่พอใจที่โจทก์ร้องเรียนการดำเนินงานการบริหารคณะนิติศาสตร์ของตัวเองที่ดำเนินการไม่เรียบร้อยก่อให้เกิดความเสียหายแก่นิด้าและนักศึกษา ซึ่งโจทก์ร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ตั้งแต่ปี 2554 เรื่อยมา ต่อมาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาคดีให้บรรเจิดมีความผิดตามมาตรา 157  ตัดสินจำคุก 1 ปี ปรับ 10,000 บาท แต่ให้รอการลงโทษ 

ปัจจุบัน บรรเจิด ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และได้รับการแต่งตั้งเป็รกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เมื่อ 27 มิ.ย. 2566

6. จิรนิติ หะวานนท์  (ลาออก) 

จิรนิติ หะวานนท์ เริ่มรับราชการในตำแหน่งผู้พิพากษาประจำกระทรวง, ผู้พิพากษาศาลจังหวัดขอนแก่น, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกระทรวง, ผู้พิพากษาศาลแพ่ง ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลแพ่ง, เลขานุการศาลฎีกา, ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์, ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์ภาค 2, ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลอุทธรณ์, อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง, ผู้พิพากษาศาลฎีกา, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล

จิรนิติ ได้รับแต่งตั้งเป็น กรรมการ คตส. และอนุกรรมการไต่สวนคดีรถดับเพลิง ของ กทม. มูลค่ากว่า 6,687 ล้านบาท แต่สุดท้ายลาออกจากตำแหน่ง คตส.ไปในปี 2550 โดยระบุเหตุผลว่า ก.ต.มีมติเห็นชอบให้ไปดำรงตำแหน่งประธานแผนกคดีผู้บริโภคของศาลอุทธรณ์ ภาค 2 ที่ จ.ระยอง จึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ คตส.ต่อได้

ระหว่างจิรนิติเป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกา ปี 2560 เคยเป็นเจ้าของสำนวนและองค์คณะคดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีอาญาและแพ่งที่ ป.ป.ช. กล่าวหา เกษม นิมมลรัตน์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย คนสนิทของเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ และอดีตที่ปรึกษานายก อบจ.เชียงใหม่ กรณียื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ

ปัจจุบัน จิรนิติ ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐรรมนูญ และเป็นหนึ่งในผู้ลงมติเห็นชอบ สั่ง ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ปมหุ้น ITV  เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 

7. สวัสดิ์ โชติพานิช (ลาออก)

สวัสดิ์ โชติพานิช คืออดีตประธานศาลฎีกา อดีต กกต.ฝ่ายสืบสวนสอบสวน  27 พ.ย.2540 - 26 พ.ค. 2544) โดยในช่วงหลังรัฐประหาร 2549 สวัสดิ์ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารให้ดำรงตำแหน่งประธาน คตส. ตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 23 ต่อมา คปค.แต่งตั้ง คตส.ชุดใหม่ตามประกาศฉบับที่ 30 แม้ยังมีชื่อสวัสดิ์อยู่ แต่สวัสดิ์ได้ยื่นขอลาออก

ต่อมา สวัสดิ์ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 และเป็นหนึ่งกรรมการกฤษฎีกา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 10 

8. อุดม เฟื่องฟุ้ง

อุดม เฟื่องฟุ้ง อดีตรองประธานศาลฎีกา ผู้พิพากษาอาวุโสศาลอาญา และอดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งในปี 2535–2536 และขึ้นเป็นรองประธานศาลฎีกาในปี 2536–2540 ในปี 2540 เคยชิงเก้าอี้ประธานศาลฎีกากับนายปิ่นทิพย์ สุจริตกุล แต่ปิ่นทิพย์ได้รับเลือกเป็นประธานศาลฎีกา ทำให้ต้องไปเป็นประธานศาลอุทธรณ์ ในปี 2540–2542

เขาเคยดำรงตำแหน่งเป็นนายกสภาวิทยาลัยภาคเทคโนโลยี อาจารย์ผู้บรรยายสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา อาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยรามคำแหง สื่อมวลชนวิเคราะห์ว่าเนื่องจากเขาไม่เคยดำรงตำแหน่งในบริษัทหรือองค์กรธุรกิจใดๆ ทำให้ได้รับความนิยมในหมู่ผู้พิพากษา 

นอกจากนี้ยังเป็นแกนนำคนสำคัญในวิกฤตตุลาการ ในสายของ ‘ประมาณ ชันซื่อ’ อดีตประธานศาลฎีกา ซึ่งอยู่คนละฝ่ายกับ ‘สวัสดิ์ โชติพานิช’ อดีตประธานศาลฎีกา และเป็นอดีตตัวละครเอก ใน คตส. ที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ก่อกำเนิดขึ้น ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนที่ฝากผลงานไล่เช็คบิลคดีที่ดินรัชดาจนศาลตัดสินจำคุกอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร 2 ปี 

9. สัก กอแสงเรือง (โฆษกคณะกรรมการ)

สัก กอแสงเรือง คืออดีตนายกสภาทนายความ อดีตเลขาธิการเนติบัณฑิตยสภา และยังเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร (ส.ว.) จากการเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายน ปี 2549

 10. วิโรจน์ เลาหะพันธุ์

วิโรจน์ เลาหะพันธุ์ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร อดีตอธิบดีกรมศุลกากร อดีตนายกสมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2528-2532) และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบัญชีภาษีอากร  

11. เสาวนีย์ อัศวโรจน์

เสาวนีย์ อัศวโรจน์ เริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์​ และเป็นนิติกรของกรมเศรษฐกิจการพานิชย์ กระทรวงพาณิชย์ ต่อมาในปี 2546-2549 เสาวนีย์ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยหลังรัฐประหาร 2549 เธอได้รับแต่งตั้งจาก คปค. ให้เป็นหนึ่งใน คตส. 

หลังพ้นตำแหน่ง คตส. เสาวนีย์ ไปที่ปรึกษากฎหมายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทำงานเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. อีกครั้ง ปัจจุบันยังคงเป็นอาจารย์สอนกฎหมาย ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

12. อำนวย ธันธรา

อำนวย ธันธรา คืออดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ในช่วงที่มีคำพิพากษาจำคุก พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธาน กกต. และ กกต. อีก 2 คน คนละ 4 ปี ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการช่วยเหลือพรรคไทยรักไทย 

ึเปิดแฟ้มคดีทักษิณ
1 ปี 9 เดือน ‘คตส.’
ชงพันคดีทักษิณ 9 จาก 14 คดี (จำคุกรวม 10 ปี)

จุดเริ่มต้นของคดีส่วนใหญ่ที่มาถึงมือ คตส.จะมาจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ชงเรื่องให้ คตส. 23 เรื่อง แต่ คตส.รับไว้ 13 เรื่อง โดยระบุว่า พบมูลความผิดที่ทำให้รัฐได้รับความเสียหายเป็นเงินกว่า 1.8 แสนล้านบาท 

ตามคำสั่งคณะปฏิวัติ คตส. มีระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี ก่อนจะมีการขยายเวลาทำงานเพิ่มอีก 9 เดือน (หมดวาระ 30 มิถุนายน 2551) โดยในระยะแรก คตส. ได้เริ่มปฏิบัติการตรวจสอบ 8 เรื่อง คือ  

  1. การจัดซื้อชุดอุปกรณ์ตรวจสอบวัตถุระเบิก CTX 
  2. ท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน สนามบินสุวรรณภูมิ 
  3. ภาษรเงินได้เกี่ยวกับการขายหุ้น
  4. เงินกู้ EXIM BANK
  5. การออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว
  6. การจัดซื้อต้นกล้ายาง
  7. การจ้างก่อสร้างและจัดซื้ออุปกรณ์ ห้องปฏิบัติการกลาง (central lab)
  8. แอร์พอร์ตลิงค์

ต่อมา คตส. มีมติเพิ่มเรื่องเข้ากระบวนการตรวจสอบอีก 5 เรื่อง คือ 

  1. กล่าวหาธนาคารกรุงไทย 
  2. การจัดซื้อจัดจ้างเอกชนโดนการเคหะแห่งชาติ บ้านเอื้ออาธร 
  3. กิจการโทรคมนาคมในส่วนของภาษีสรรพสามิต
  4. การจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของ กทม. 
  5. การจัดซื้อที่ดินของกองทุนฟื้นฟู (ที่ดินรัชดาภิเษก)

ในบรรดา 13 เรื่องที่ คตส. ตรวจสอบ มีอยู่ 9 คดีที่เป็นคดีอาญาเกี่ยวพันกับทักษิณ ชินวัตร โดยตรง และยังมีเพิ่มเติมอีก 1 คดี คือ คดียึดทรัพย์ที่ประกอบไปด้วย 5 ประเด็นย่อยซึ่ง คสต.รวบรวมพยานหลักฐานส่งอัยการเพื่อส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และศาลพิพากษายึดทรัพย์

รายละเอียด 'คดีทักษิณ’ รวม 9 คดี มีดังนี้

1.คดีร่ำรวยผิดปกติ

จำเลย : ทักษิณ ชินวัตร และพวกรวม

เนื้อหาคดี :  กล่าวหาว่าทักษิณ ให้บุคคลอื่น (นอมินี) ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แทน โดยบริษัทเป็นคู่สัญญาของหน่วยงานรัฐ เข้าไปส่วนได้เสียในผลประโยชน์ในกิจการโทรคมนาคม ฯลฯ คตส. ดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ และอายัดทรัพย์ไว้ส่วนหนึ่งจำนวน 62,000 ล้านบาท ก่อนทำสำนวนคดีส่งให้อัยการดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 

ทั้งนี้ 5 กรณีที่ใช้เป็นฐานในการยึดทรัพย์ ได้แก่ แปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต / ปรับลดส่วนแบ่งค่าสัมปทานโทรศัพท์ระบบเติมเงิน เอไอเอส / แก้สัญญาให้รัฐร่วมรับผิดชอบค่าใช้เครือข่ายร่วมกับเอไอเอส ทำให้ ทศท. และ กสท. เสียหาย / สนับสนุนธุรกิจดาวเทียมไอพีสตาร์ เอื้อประโยชน์บริษัท ชินคอร์ปฯ และไทยคม / เอ็กซิมแบงก์อนุมัติเงินกู้ให้พม่า 4,000 ล้านบาท 

พิพากษา : ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยึดทรัพย์ทักษิณ รวม 46,373 ล้านบาท 

สถานะคดี : ยึดทรัพย์แล้ว

2.คดีที่ดินรัชดา 

จำเลย : ทักษิณ ชินวัตร และพจมาน ชินวัตร (นามสกุลเดิม) 

เนื้อหาคดี : คดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก กล่าวหาคุณหญิงพจมาน ชินวัตร จัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก 33 ไร่ 78 ตรว. ราคา 772 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ต.ค.2551 โดยทักษิณ ขณะเป็นนายกฯ ร่วมลงนามในฐานะคู่สมรส 

พิพากษา : ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาลับหลัง สั่งจำคุก 2 ปี 

สถานะคดี : หมดอายุความ

3.คดีหวยบนดิน

จำเลย : ทักษิณ ชินวัตร และพวก 47 คน

เนื้อหาคดี : การตรวจสอบโครงการที่ผ่านโดยมติครม.ทักษิณในการออกสลากพิเศษแบเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว ของสำนักสลากกินแบ่งรัฐบาล

พิพากษา : ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาเฉพาะทักษิณ สั่งจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา

4.คดีแปลงสัญญาสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต

จำเลย : ทักษิณ ชินวัตร

เนื้อหาคดี : แก้ไขสัญญาสัมปทานมือถือ จากจ่ายสัมปทานทั้งหมด เป็นการให้เสียภาษีส่วนหนึ่ง โดยนำรายจ่ายภาษีสรรพสามิต มาหักลบค่าสัมปทานได้ 

พิพากษา : ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สั่งจำคุกสองกระทง 2 ปี และ 3 ปี รวมเป็น 5 ปี

5.คดีเอ็มซิมแบงก์ปล่อยกู้รัฐบาลเมียนมา

จำเลย : ทักษิณ ชินวัตร

เนื้อหาคดี : ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ให้เงินกู้เพื่อซื้อเครื่องจักรและพัฒนาประเทศแก่รัฐบาลสหภาพพม่า โดยมีการขยายเงินกู้จาก 3,000 ล้านเป็น 4,000 ล้าน เพื่อให้รัฐบาลเมียนมานำไปพัฒนาระบบโทรคมนาคมตามที่ร้องขอ ซึ่งบริษัทไทยคมเป็นบริษัทที่ได้ประโยชน์

พิพากษา : ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สั่งจำคุก 3 ปี

6.คดีจัดซื้อ CTX

จำเลย : ทักษิณ ชินวัตร, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ข้าราชการระดับสูงใน บทม. และบริษัทเอกชนหลายกลุ่มรวม 25 คน

เนื้อหาคดี : โครงการจัดซื้อจัดจ้าง เปลี่ยนสายพานลำเลียงกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสารและเครื่องตรวจวัตถุระเบิดสนามบินสุวรรณภูมิ (CTX) คตส.หมดอายุ จึงส่งเรื่องต่อให้ ป.ป.ช. และ ป.ป.ช.ไม่ฟ้อง

สถานะคดี : ป.ป.ช.พิจารณาไม่ส่งฟ้อง

7.คดีกรุงไทยปล่อยกู้

จำเลย : ทักษิณ ชินวัตร และพวกรวม 27 ราย

เนื้อหาคดี : คดีธนาคารกรุงไทย ปล่อยกู้ให้กับกลุ่มกฤษดามหานคร 

พิพากษา : ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยกฟ้อง

สถานะคดี : ยกฟ้อง พยานโจทก์ไม่มีน้ำหนัก

8.คดีทีพีไอ

จำเลย : ทักษิณ ชินวัตร 

เนื้อหาคดี : ทักษิณอนุมัติให้กระทรวงการคลังเข้าไปบริหารจัดการแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TPI 

พิพากษา : ศาลฎีกาฯ ยกฟ้องทักษิณ เพราะเห็นว่า ไม่มีเจตนาพิเศษ

สถานะคดี : ยกฟ้อง

9.ซื้อเครื่องบินแอร์บัสฯ

จำเลย : ทักษิณ ชินวัตร และพวกรวม 4 คน

เนื้อหาคดี : อนุมัติสั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัส แบบ A340-500 และ A340-600 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี 2545-2547 ทำให้การบินไทยมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น

สถานะคดี : ป.ป.ช. พิจารณาไม่ส่งฟ้อง

ึเปิดแฟ้มคดีทักษิณ


กลุ่ม 5 อาจารย์นิติศาสตร์ มธ. วิจารณ์คำพิพากษา 
5 กรณีย่อย ในคดีใหญ่ ‘ยึดทรัพย์’ 
  • 26 ก.พ.2553 เป็นวันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินคดี ‘ยึดทรัพย์’ ครอบครัวชินวัตร มูลค่า 46,373,687,455.70 บาท ให้ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากมีความผิด กรณี ‘ร่ำรวยผิดปกติ’ จากการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะนายกฯ
  • หลังคำตัดสินราว 2 สัปดาห์ มี ‘กลุ่ม 5 อาจารย์นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์’ ได้แก่ วรเจตน์ ภาคีรัตน์, ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช, ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, ธีระ สุธีวรางกูร, ปิยบุตร แสงกนกกุล ออกแถลงการณ์วิเคราะห์คำพิพากษาดังกล่าวโดยประกาศชัดเจนว่า วิจารณ์บนหลักวิชาการเพื่อประโยชน์สาธารณะเท่านั้น นับเป็นกลุ่มนักกฎหมายกลุ่มเดียวที่ออกมาพูดเรื่องนี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวในเวลานั้น
  • เหตุที่ต้องหยิบยกข้อวิจารณ์ของกลุ่ม 5 อาจารย์ฯ เพราะภายใต้คดียึดทรัพย์นั้น ประกอบด้วยกรณีต่างๆ 5 เรื่องที่นำมากำหนดความผิดเพื่อยึดทรัพย์ ในจำนวนนั้น 3 คดี ถูกฟ้องแยกต่างหากเป็นคดีอาญาที่มีโทษจำคุกด้วย
  • 5 กรณีที่อยู่ในคดียึดทรัพย์ ได้แก่

(1) เอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้พม่า 4 พันล้าน (มีคดีอาญา)

(2) แปลงสัญญาสัมปทานมือถือเป็นภาษีสรรพสามิต (มีคดีอาญา) 

(3) หวยบนดิน (มีคดีอาญา)

(4) แก้ไขสัญญาโรมมิ่งหรือเชื่อมโยงเครือข่ายให้เอไอเอส

(5) ดาวเทียมไทยคมคุณสมบัติผิดไปจากสัญญา

  • ข้อสรุปของกลุ่ม 5 อาจารย์ แยกแยะได้เป็น 2 ส่วนคือ กระบวนการ กับ เนื้อหาคดี ซึ่งรวบยอดได้ว่า ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการ และไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาทั้ง 5 กรณีในทางเนื้อหา เนื่องจากเห็นว่าเป็นนโยบายที่ฝ่ายบริหาร (รัฐบาลทักษิณ) ทำได้โดยชอบ และทั้งหมดล้วนทำตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนด
  • ต่อให้เห็นว่า ทั้ง 5 กรณีเป็นความผิด แต่การตัดสินว่าความผิดนั้นเป็นของนายกฯ ทั้งหมดไม่น่าจะถูกต้อง เพราะเรื่องต่างๆ อนุมัติโดย ครม.บ้าง รัฐมนตรีบ้าง หรือหน่วยงานของรัฐบ้าง ดังนั้น ลำพังการเชื่อมโยงว่า นายกฯ มีหน้าที่ดูแลทุกหน่วยงานและการแต่งตั้งให้คุณให้โทษรัฐมนตรีต่างๆ อยู่ในอำนาจนายกฯ ลำพังการเชื่อมโยงนี้ยังไม่เพียงพอจะชี้ว่า การกระทำต่างๆ คือการใช้อำนาจหน้าที่นายกฯ หากเห็นว่ากรณีต่างๆ ไม่เหมาะสมในทางนโยบายอย่างไร ก็ต้องว่ากล่าวกันทางการเมือง
  • นอกจากนี้ คำสั่งยึดทรัพย์ ศาลยึดจากมูลค่าหุ้นชินคอร์ปที่ครอบครัวชินวัตรถือครองทั้งหมด ในส่วนที่เพิ่มขึ้นนับเวลาตั้งแต่ทักษิณดำรงตำแหน่งนายกฯ วันแรกของวาระแรกเป็นต้นไป กลุ่ม 5 อาจารย์ฯ เห็นว่า แม้ 5 กรณีนั้นผิดจริง ก็ไม่อาจคำนวณง่ายๆ เพราะแต่ละกรณีเกิดขึ้นต่างเวลากัน ไม่ใช่ตั้งแต่วันแรกที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ที่สำคัญการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นชินคอร์ปในตลาดหลักทรัพย์ก็มีหลายปัจจัย
  • รายละเอียดบทวิเคราะห์กลุ่ม 5 อาจารย์ฯ สรุปให้เข้าใจง่ายๆ โดยคร่าว ดังนี้

1) คดีนี้ศาลฎีกานำประกาศ คปค.หลายฉบับมาบังคับคดี โดยเฉพาะฉบับที่มีการตั้ง คตส. กลุ่ม 5 อาจารย์ฯ ไม่เห็นด้วยที่ศาลจะยอมรับอำนาจคณะรัฐประหารที่ตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แม้ในอดีตศาลเองเคยมีการวางแนวยอมรับคณะรัฐประหารในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ไว้

2) ขัดหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม และหลักว่าด้วยกระบวนการทางกฎหมายที่ดี เนื่องจากต้นทางของคดีมาจากองค์กรที่คณะรัฐประหารแต่งตั้งขึ้น คดีที่ คตส.เลือกพิจารณาก็ล้วนเป็นคดีที่เกี่ยวกับทักษิณ กระบวนการยุติธรรมที่เริ่มต้นจากความไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน แม้จะผ่านอัยการและศาลฎีกาฯ อีกชั้นก็ตาม

3) ขัดหลักความเป็นกลางขององค์กรไต่สวน คำพิพากษาศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปเคยวางหลักไว้ว่า บุคคลที่มีทัศนคติหรือเคยแสดงความคิดเห็นไปในทางที่เป็นปฏิปักษ์ในเรื่องหนึ่ง ต่อมามีโอกาสพิจารณาเรื่องทำนองเดียวกัน เช่นนี้ย่อมถือว่าบุคคลนั้นมีสภาพ ‘ไม่เป็นกลาง’

กรณีนี้ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา (ทักษิณ) เคยคัดค้านอนุกรรมการ คตส. 3 คน คือ กล้าณรงค์ จันทิก, บรรเจิด สิงคะเนติ, แก้วสรร อติโพธิ ว่าเป็นปฏิปักษ์กับตน เหตุจากการแสดงความเห็นสาธารณะ เขียนบทความขนาดยาว ขึ้นเวทีพันธมิตรฯ แต่ศาลฎีกาฯ ยกคำร้อง โดยให้เหตุผลว่า กฎหมายกำหนดว่า กรรมการต้องไม่เคยรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในคดี หรือมีส่วนได้เสีย หรือมีเหตุโกรธเคืองมาก่อน ทั้ง 3 แสดงความเห็นถือเป็นการแสดงความเห็นทางวิชาการ เป็นเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรองรับ กลุ่ม 5 อาจารย์ฯ เห็นว่า คำอธิบายดังกล่าวไม่ได้ทำให้ปราศจากข้อสงสัยเรื่องความไม่เป็นกลาง โดยเฉพาะเมื่อ คตส.ปัจจุบันคือ ชุดที่ 2 โดยคณะรัฐประหารสั่งยกเลิกชุดแรกไป ยิ่งชวนให้สงสัยเรื่องความเป็นกลาง

4) ประเด็นถือครองหุ้น ที่ถูกกล่าวหาว่าใช้ ‘นอมินี’

ศาลฎีกาฯ เห็นว่า ทักษิณให้ภรรยาและคนใกล้ชิดถือหุ้นชินคอร์ปแทน กลุ่ม 5 อาจารย์ฯ เห็นว่า การพิจารณาเรื่องนี้ต้องดูทั้งรูปแบบและเนื้อหา โดยเฉพาะการโอนหุ้นให้ญาติใกล้ชิด กรณีที่ไม่สามารถวินิจฉัยลงไปให้ชัดเจนได้ ย่อมต้องถือว่าเป็นเรื่องที่รัฐจะต้องตรากฎหมายห้ามเสียให้ชัดเจน มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาการแยกแยะได้ โดยเฉพาะหากประเด็นดังกล่าวกระทบต่อสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลอย่างสำคัญ

อย่างไรก็ดี กลุ่ม 5 อาจารย์ฯ เห็นว่า จะมีการถือหุ้นแทนหรือไม่ ก็ไม่มีนัยสำคัญใดๆ ต่อการพิจารณาเนื้อหาของคดีเลย ลำพังเนื้อหาคดีเอง กลุ่ม 5 อาจารย์ฯ ก็ไม่เห็นพ้องด้วยในคำพิพากษาว่ามีความผิด

5) กรณีแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต

สรุปเบื้องต้น : รัฐบาลทักษิณ สมัยที่มีสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็น รมว.ไอซีที ได้ออกกฎหมายชุดหนึ่ง เพื่อกำหนดให้บริษัทมือถือ (3 บริษัท) ที่ได้สัมปทานจาก ทศท. และ กสท.ต้องเสียภาษีสรรพสามิตร้อยละ 10 ของรายได้ แล้วสามารถเอาส่วนที่เสียภาษีนั้นไปหักออกจากส่วนที่ต้องจ่ายค่าสัปทานให้ ทศท.และ กสท.ได้ 

ศาลฎีกาฯ เห็นว่า เป็นการทำให้ ทศท.และ กสท.เสียหาย เอื้อประโยชน์ให้ชินคอร์ป และกีดกันเอกชนรายใหม่

ส่วนกลุ่ม 5 อาจารย์เห็นว่า เรื่องนี้เป็นสิทธิในการบริหารที่รัฐบาลทำได้ และผลประโยช์ของรัฐก็ไม่ได้สูญเสียไป เอกชนยังต้องจ่ายเท่าเดิม เพียงแต่เปลี่ยนจากให้เงินค่าสัมปทานกับ ทศท. กับ กสท.ทั้งหมด กลายเป็นแบ่งให้กระทรวงการคลังส่วนหนึ่งในรูปภาษีสรรพสามิต

เหตุผลรัฐบาลที่ต้องทำเช่นนี้ก็รับฟังได้ เพราะ ทศท.และ กสท. ได้แปรรูปจากรัฐวิสาหกิจ กลายเป็นบริษัทมหาชนเข้าตลาดหลักทรัพย์ รัฐบาลจึงเห็นว่า หากจ่ายเป็นค่าสัมปทานทั้งหมดแบบเดิม เท่ากับเงินจะเข้าบริษัทมหาชนทั้ง 2 แห่ง ผลประโยชน์จะไปตกที่ผู้ถือหุ้น ทั้งที่คลื่นความถี่เป็นของสาธารณะ รัฐบาลจึงคิดกลไกให้แบ่งจ่ายเป็นภาษีสรรพสามิตเสียส่วนหนึ่ง เพื่อให้เงินเข้าคลังโดยตรง ส่วนเหตุที่อนุญาตให้นำเงินที่จ่ายภาษีสรรสามิตมาหักกับค่าสัมปทาน ก็เพราะหากไม่ให้นำมาหัก จะทำให้เอกชนผลักภาระภาษีนั้นไปที่ค่าบริการของประชาชน ซึ่งรัฐบาลไม่ต้องการให้กระทบค่าใช้จ่ายประชาชน

อีกทั้งการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตก็เป็นการหักจากรายได้ที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ได้ไปก้าวก่ายอำนาจของ กทช. ที่มีหน้าที่บริหารคลื่นความถี่ กำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ค่าบริการในกิจการโทรคมนาคม  

ส่วนที่ระบุว่า ไม่ควรให้เอไอเอสนำส่วนที่เสียภาษีสรรพสามิตมาหักออกจากค่าสัมปทานเพราะเอไอเอสได้รับประโยชน์จากการใช้ทรัพย์สินและเครื่องอุปกรณ์ขององค์การโทรศัพท์เดิมนั้น กลุ่ม 5 อาจารย์เห็นว่า ทรัพย์สินหรืออุปกรณ์ดังกล่าว เอไอเอสตกลงสร้างให้แก่รัฐ (องค์การโทรศัพท์) สิทธิในการใช้เครื่องและอุปกรณ์จึงชอบด้วยเหตุผลในทางนโยบายและการทำธุรกิจ เป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์จากการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินให้รัฐ ไม่ใช่ว่าได้รับสิทธิเศษจากทรัพย์สินของรัฐ

โดยสรุปกลุ่ม 5 อาจารย์ฯ เห็นว่า เรื่องนี้ฝ่ายบริหารมีอำนาจในการใช้ภาษีสรรพสามิตเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาส่วนแบ่งรายได้ ในสถานการณ์ที่ ทศท. และ กสท. แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน, ไม่ได้ทำให้รัฐเสียรายได้ เอกชนก็ยังต้องจ่ายเท่าเดิม เพียงแต่จ่ายในสองช่องทาง, ไม่ได้กีดกันรายใหม่เพราะรายใหม่จะเข้าสู่ตลาดในยุคที่มี กทช. แล้ว ซึ่งเป็นระบบใหม่นี้ ผู้ประกอบการรายใหม่จ่ายค่าใบอนุญาตแบบใหม่ ซึ่งคำนวณน้อยกว่าการจ่ายสัมปทานแบบเดิมด้วยซ้ำ, การออกกฎหมายของฝ่ายบริหารในเรื่องนี้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะศาลรัฐธรรมนูญก็เคยวินิจฉัยไว้แล้ว (คำวินิจฉัยที่ 32/2548), แม้เห็นว่าการดำเนินการของฝ่ายบริหารเรื่องนี้ไม่เหมาะสม ก็ควรต้องว่ากันในกระบวนการทางการเมือง 

6) กรณีแก้ไขสัญญาลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ของเอไอเอส (ระบบพรีเพด)

สรุปเบื้องต้น : เอไอเอสเป็นคู่สัญญาสัมปทานกับ ทศท. ซึ่งกำหนดจะจ่ายผลประโยชน์แบบอัตราก้าวหน้า ดังนี้ ปีที่ 1-5 จ่าย 15% ปีที่ 6-10 จ่าย 20% ปีที่ 11-15 จ่าย 25% ปีที่ 16-25 จ่าย 30% ต่อมา เอไอเอสขอ ทศท. ลดอัตราส่วนแบ่งรายได้เหลือ 20% ตลอดอายุสัมปทาน 

ศาลฎีกาฯ เห็นว่า การที่ ทศท. แก้สัญญาเปลี่ยนเป็นจ่าย 20% ตลอดสัญญาสัมปทาน เป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอไอเอส

กลุ่ม 5 อาจารย์ฯ เห็นว่า ต้องทำความเข้าใจโครงสร้างโดยรวมก่อนว่า ประเทศไทยมี 2 หน่วยงาน ทศท.-กสท.ทำธุรกิจเดียวกันมาช้านาน คือ ทศท.ทำสัญญากับเอไอเอส, กสท. ทำสัญญากับดีแทคและทรูมูฟ แต่เนื่องจาก กสท. ไม่มีหมายเลขโทรศัพท์และไม่มีเครือข่ายโทรคมนาคมจึงต้องขอใช้หมายเลขกับ ทศท. ทำให้ทั้งดีแทคและทรูมูฟต้องจ่ายค่าเชื่อมโยงเครือข่ายให้ ทศท. ด้วยอีกต่อหนึ่ง

ความไม่เป็นธรรมนี้ เป็นปัญหาจากโครงสร้างที่รัฐจัดวาง 2 รัฐวิสาหกิจมาตั้งแต่ต้น ซึ่งไม่ใช่ความผิดของเอไอเอส

ดังนั้น ดีแทคจึงขอปรับลดค่าเชื่อมโยงเครือข่าย ซึ่ง ทศท. ก็อนุมัติ จากเดิมจ่าย 200 บาท/เดือน/หมายเลข เป็น 18% ของราคาหน้าบัตรจ่ายเงินล่วงหน้า (พรีเพด) จากนั้นเอไอเอสจึงขอปรับลดส่วนแบ่งรายได้ระบบพรีเพดบ้าง เหลือ 20% ตลอดสัญญาสัปทาน ทศท.ก็อนุมัติ แล้วเอไอเอสก็นำส่วนที่ได้ปรับลดนี้ไปลดราคาค่าบริการให้ลูกค้า

กลุ่ม 5 อาจารย์ฯ เห็นว่า การปรับลดส่วนแบ่งรายได้ให้เอไอเอสของ ทศท.เป็นดุลพินิจของคู่สัญญาฝ่ายรัฐ ที่จะต้องคำนึงถึงผู้บริโภคเป็นสำคัญ การปรับลดส่วนแบ่งโดยตัวเอง อาจไม่ใช่การเอื้อประโยชน์แก่คู่สัญญาเอกชน ต้องวิเคราะห์จุดมุ่งหมายด้วย ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อปรับลดส่วนแบ่งรายได้ให้เอไอเอส บริษัทก็ได้ปรับลดค่าใช้บริการแก่ผู้บริโภคมากกว่าส่วนที่ได้ปรับลดด้วย เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค และทำให้มีผู้ใช้บริการมากขึ้น ส่งผลให้ท้ายที่สุด ทศท.ก็รายได้เพิ่มขึ้น จึงเป็นทางเลือกเชิงนโยบายของ ทศท.

7) กรณีแก้ไขสัญญาเชื่อมโยงเครือข่ายรวม (โรมมิ่ง) แก่เอไอเอส

สรุปเบื้องต้น เอไอเอสซึ่งได้คลื่นจาก ทศท.ย่านความถี่เต็มแล้ว แต่ต้องการขยายฐานลูกค้า จึงได้ไปร่วมใช้เครือข่ายของบริษัทดีพีซี ซึ่งเอไอเอสถือหุ้นใหญ่ เพราะดีพีซีได้รับสัมปทานจาก กสท. ซึ่งเป็นอีกย่านความถี่หนึ่ง ทาง ทศท. ก็แก้ไขสัญญาอนุญาตให้เอไอเอสนำค่าใช้จ่ายในการใช้เครือข่ายร่วมกับดีพีซีมาหักออกจากรายได้ค่าบริการ ก่อนนำส่งส่วนแบ่งรายได้ให้ ทศท.

ศาลฎีกาฯ เห็นว่า การที่ ทศท.ยอมแก้สัญญาเช่นนั้น เอื้อประโยชน์ให้เอไอเอส เพราะแทนที่เอกชนจะลงทุนสร้างโครงข่ายเพิ่มเติม กลับไปใช้โครงข่ายของดีพีซีซึ่งเป็นบริษัทเดียวกัน ทำให้ ทศท.เสียหายขาดรายได้ที่ควรได้

กลุ่ม 5 อาจารย์ฯ เห็นว่า ประเด็นนี้เป็นการเจรจาต่อรองทางธุรกิจระหว่าง ทศท. กับเอไอเอสที่จะตกลงกัน เป็นทางเลือกในการประกอบธุรกิจ โดยเหตุผลที่เอไอเอสต้องใช้เครือข่ายร่วมกับดีซีพี ก็เพราะบางพื้นที่มีผู้ใช้บริการหนาแน่นและไม่สามารถขยายโครงข่ายได้

อีกทั้งตามสัญญาสัปทาน ระบุว่าเป็นหน้าที่ ทศท. หรือทีโอที ต้องขอคลื่นความถี่มาให้เอไอเอสในการให้บริการเมื่อได้รับการแจ้งจากบริษัท ซึ่งเป็นธรรมดา เพราะแนวทางที่เป็นอยู่ทั่วโลก ภาครัฐที่เป็นผู้จัดสรรคลื่นความถี่ย่อมต้องพยายามเสาะหาคลื่นความถี่ในย่านต่างๆ เพื่อรองรับการขยายตัวการให้บริการของผู้ประกอบการ

แต่ทีโอทีหาให้ไม่ได้เพราะย่านความถี่เต็มแล้ว จึงทำให้เอไอเอสมีความจำเป็นต้องแก้ปัญหา โดยร่วมใช้โครงข่ายของดีพีซีที่ได้สัมปทานในย่านความถี่อื่นจาก กสท. ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่การเอารัดเอาเปรียบทางธุรกิจ

ประเด็นที่ว่าเอไอเอสเอาค่าใช้โครงข่ายมาหักรายได้ก่อนคำนวณค่าสัมปทานให้ทีโอที ทำให้ทีโอเสียหายนั้น กลุ่ม 5 อาจารย์ฯ เห็นว่า การตกลงกันเช่นนี้เป็นทางเลือกในการประกอบธุรกิจของคู่สัญญา การตกลงดังกล่าวเป็นผลดีต่อทีโอทีและประชาชนผู้ใช้บริการ เพราะทำให้ไม่เกิดการเรียกเก็บค่าสัมปทานซ้ำซ้อนจากผู้ใช้บริการ

เช่น สมมติเอไอเอสมีรายได้จากผู้ใช้บริการ 100 บาท ชำระค่าโครงข่ายให้ดีพีซี 70 บาท หากเอไอเอสไม่สามารถเอาค่าใช้โครงข่ายมาหักก่อน เอไอเอสต้องชำระค่าสัมปทานอีก 25 บาท ขณะเดียวกัน กสท.ก็เก็บค่าสัมปทานบนฐานค่าใช้โครงข่ายที่ดีพีซีได้รับจากเอไอเอสด้วย 70 บาท ซึ่งเป็นการซ้ำซ้อนกันสองต่อ การให้เอไอเอสนำค่าใช้โครงข่ายมาหักค่าใช้จ่ายก่อนจึงทำให้ไม่ซ้ำซ้อนกัน ทำให้ผู้ใช้บริการไม่ต้องรับภาระสูงเกินควร เพราะหากบริษัทต้นทุนสูงขึ้น ก็ย่อมผลักภาระให้ผู้ใช้บริการ

8) กรณีดาวเทียมไอพีสตาร์ 

สรุปเบื้องต้น : บริษัทชินคอร์ปได้รับสัมปทานจากกระทรวงคมนาคม ให้ดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารในประเทศ ในสัญญาระบุให้มี ดาวเทียมหลักดวงที่ 1 ดาวเทียมสำรองตัวที่ 1 ดาวเทียมหลักและสำรองตัวที่ 2 และตัวต่อๆ ไป โดยคุณสมบัติการใช้งานของดาวเทียมหลักและสำรองดวงที่ 2 ขึ้นไป ต้อง ‘ไม่ด้อยกว่าคุณสมบัติการใช้งานของดาวเทียมหลักและสำรองตัวที่ 1’ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อชินคอร์ปส่งดาวเทียมหลักดวงที่ 1 (ไทยคม1) ดาวเทียมสำรองดวงที่ 1 (ไทยคม 2) รวมถึงดาวเทียมหลักดวงที่  2 (ไทยคม 3) สู่วงโคจรแล้ว จากนั้นกระทรวงคมนาคมอนุมัติให้สร้างดาวเทียมสำรอง 2 (ไทยคม 4) แต่บริษัทขอเลื่อนส่งดาวเทียม และต่อมาขอแก้ไขข้อกำหนดทางเทคนิค โดยเปลี่ยนคุณสมบัติดาวเทียมดังกล่าว ต่อมาจึงส่งไทยคม 4 หรือชื่อว่า ไอพีสตาร์ ขึ้นสู่วงโคจร

ศาลฎีกาฯ เห็นว่า ดาวเทียมไอพีสตาร์ไม่เป็นดาวเทียมสำรองดวงที่ 2 ตามสัญญา เพราะใช้เทคโนโลยีต่างกับดาวเทียมหลักตัวที่ 2 ทำให้ความมั่นคงของชาติเสียหาย อีกทั้งวัตถุประสงค์ของไอพีสตาร์ ยังมุ่งหวังทางการค้าและรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตสำหรับผู้ใช้งานต่างประเทศถึง 94% แต่ใช้ในประเทศแค่ 6% จึงเห็นว่าการอนุมัติดังกล่าว ทำให้บริษัทได้สัมปทานดาวเทียมระหว่างประเทศโดยไม่ต้องประมูล เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ชินคอร์ปและบริษัทไทยคม

กลุ่ม 5 อาจารย์ฯ เห็นว่า สัญญาสัมปทานระบุว่า คุณสมบัติดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรองตัวที่ 2  ‘ต้องไม่ด้อยกว่า’ คุณสมบัติของดาวเทียมหลักและสำรองตัวที่ 1 แต่ไม่ได้กำหนดว่าต้องมีคุณสมบัติ ‘เหมือนกัน’

ข้อเท็จจริงคือ ไอพีสตาร์มีคุณสมบัติทางเทคนิคที่พัฒนาเฉพาะเป็นครั้งแรกของโลกตามที่จดสิทธิบัตรไว้ และปรากฏชัดเจนว่า คุณบัติของไอพีสตาร์ไม่ด้อยกว่าดาวเทียมดวงอื่นๆ ทั้งยังพัฒนาให้ดีกว่าดาวเทียมหลัก จึงเห็นว่า ชินคอร์ปได้ปฏิบัติถูกต้องตามสัญญาแล้ว

การที่ไอพีสตาร์ไม่มีย่านความถี่ C-Band ที่จะให้กระทรวงคมนาคมใช้จำนวน 1 วงจรดาวเทียมตามสัญญา เมื่อดูข้อมูลทางเทคนิคพบว่า ไอพีสตาร์รองรับความถี่ C-Band ได้ แต่ต้องมีสถานีสัญญาณ และกรณีนี้ไม่ปรากฏในคำพิพากษาที่แสดงว่า กระทรวงคมนาคมโต้แย้งว่าตนไม่ได้ใช้วงจรดาวเทียมเพราะเหตุว่าไอพีสตาร์ไม่มีย่านความถี่ C-Band แต่อย่างใด

ประเด็นที่ศาลเห็นว่า ไอพีสตาร์สร้างขึ้นเพื่อการสื่อสารระหว่างประเทศเป็นหลักนั้น เห็นว่า สัญญาได้อนุญาตให้บริษัทสามารถนำวงจรดาวเทียมที่เหลือจากความต้องการในประเทศไปให้ประเทศอื่นใช้ได้ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงคมนาคม คำพิพากษาไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เกิดความขาดแคลนในการใช้วงจรดาวเทียมภายในประเทศ เมื่อความต้องการในประเทศยังไม่มากนัก การที่บริษัทนำวงจรดาวเทียมที่เหลือไปให้ประเทศอื่นใช้โดยได้รับความยินยอมจากคู่สัญญา จึงชอบแล้ว

ประเด็นที่ศาลเห็นว่า ไทยคมขอแก้สัญญาสัมปทานลดสัดส่วนการถือหุ้นของชินคอร์ป ที่ต้องถือในบริษัทไทยคมไม่น้อยกว่า 51% กลายเป็น ไม่น้อยกว่า 41% โดยให้เหตุผลว่าต้องใช้เงินลงทุนในโครงการไอพีสตาร์สูงมาก จึงต้องหาพันธมิตรร่วมลงทุน ต่อมา รมว. ไอซีที อนุมัติให้แก้สัญาดังกล่าว โดยศาลเห็นว่า รัฐมนตรีอนุมัติโดยไม่ผ่าน ครม. เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ชินคอร์ป ทำให้ชินคอร์ปไม่ต้องระดมทุนหรือกู้เงินมาสร้างไอพีสตาร์เองนั้น

กลุ่ม 5 อาจารย์เห็นว่า ในคำพิพากษาเองปรากฏข้อเท็จจริงว่า รมว.ไอซีที ได้สอบถามไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) แล้วว่า การแก้ไขสัญญาดังกล่าวต้องเข้าครม.หรือไม่ อสส. ตอบว่าต้องเข้า ครม. เมื่อส่งเรื่องไปที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีกลับให้คำตอบว่า ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ต้องเสนอ ครม. ดังนั้น รมว.ไอซีที จึงถาม อสส. ใหม่ และ อสส.ก็ให้คำตอบว่า เมื่อสำนักเลขาฯ ครม.ตอบเช่นนั้น รมว.ไอซีที ก็มีอำนาจอนุมัติ เห็นได้ว่า รมว.ไอซีที ทำตามกระบวนการขั้นตอนทั้งหมด

ประเด็นว่า เอื้อชินคอร์ปให้ไม่ต้องไปกู้เงินมาลงทุนนั้น เห็นว่า หากมองกลับกันก็จะเห็นว่า ชินคอร์ปเองก็เสียประโยชน์ที่สัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทน้อยลงเช่นกัน และการแก้ไขสัดส่วนการถือหุ้นชินคอร์ปในบริษัทไทยคม แม้เป็นสาระสำคัญแต่ก็ใช่จะแก้ไขไม่ได้ เพราะหากแก้ไขไม่ได้ อสส. ย่อมต้องบอกเมื่อส่งเรื่องไปถาม จะเห็นได้ว่า การแก้ไขสัญญาเรื่องนี้เป็นดุลพินิจในทางบริหาร เมื่อฝ่ายบริหารเห็นว่า การลดสัดส่วนถือหุ้นดังกล่าวไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อความรับผิดชอบของบริษัท ย่อมกระทำได้

ทั้งนี้ ประเด็นการปรับสัดส่วนการถือหุ้นของชินคอร์ปนี้ หลังรัฐประหาร 2557 ปีถัดมามีการฟ้อง นพ.สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี อดีตรมว.ไอซีทีในรัฐบาลทักษิณด้วย ศาลพิพากษาจำคุก 1 ปี โดยศาลเห็นว่าอดีต รมว.ไอซีทีไม่ได้นำเรื่องดังกล่าวให้ ครม.พิจารณา และเห็นด้วยว่า การลดสัดส่วนการถือหุ้นป็นการลดทอนความมั่นคงและความมั่นใจในการดำเนินโครงการดาวเทียมของบริษัทชินคอร์ป ในฐานะผู้รับสัมปทานโดยตรง ที่จะต้องมีอำนาจการควบคุมบริหารจัดการอย่างเด็ดขาด การลดสัดส่วนอาจทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยที่มีอยู่ 60% รวมตัวกันคัดค้านการดำเนินการใดๆ ของบริษัทได้ แม้จะมีโอกาสน้อยแต่ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนก็จะไม่เกิดเหตุดังกล่าวขึ้นเลย

9) กรณี EXIM Bank อนุมัติให้รัฐบาลสหภาพพม่ากู้เงิน 4,000 ล้าน 

สรุปเบื้องต้น : ครม.ทักษิณ อนุมัติให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ปล่อยกู้ให้รัฐบาลสหภาพพม่า เบื้องต้นวงเงิน 3,000 ล้านบาท สำหรับพัฒนาโครงข่ายคมนาคมไทย-พม่า เพื่อส่งเสริมการค้า การท่องเที่ยว และแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยมีเงื่อนไขว่า พม่าต้องซื้อเครื่องจักรการก่อสร้างและวัสดุอุปกรณ์จากประเทศไทย ต่อมาพม่าขอเพิ่ม soft load และเงินช่วยเหลือให้เปล่า เพื่อพัฒนาระบบโทรคมนาคมเพิ่มเติม ซึ่ง สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รมว.ต่างประเทศ ไม่เห็นด้วยที่จะให้เงินกู้เรื่องโทรคมนาคม เพราะเกรงเรื่องประโยชน์ทับซ้อนกับนายกฯ เนื่องจากบริษัทไทยคมคือผู้ทำธุรกิจด้านนี้กับรัฐบาลพม่า

เมื่อถูกปฏิเสธเรื่องโทรคมนาคม ทางพม่าจึงขอขยายวงเงินกู้ EXIM Bank ในกรอบเดิม เพิ่มเป็น 5,000 ล้านบาท สุรเกียรติ์หารือทักษิณ สุดท้ายทักษิณเสนอให้พม่ากู้ 4,000 ล้าน และลดอัตราดอกเบี้ยให้เหลือ 3% ต่อปี รวมทั้งขยายช่วงปลอดชำระเงินต้นจาก 2 ปีเป็น 5 ปี เรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาและเห็นชอบโดย ครม.

ศาลฎีกาฯ เห็นว่า แม้เงื่อนไขกู้เงินจะเป็นไปเพื่อซื้อเครื่องจักรและพัฒนาประเทศโดยนำเข้าสินค้าจากไทย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า วงเงินเพิ่มเติมนั้นพม่าจะนำไปพัฒนาระบบโทรคมนาคมซึ่งผู้รับประโยชน์คือบริษัทไทยคม แม้ไทยคมจะอ้างว่าทำธุรกิจนี้กับรัฐบาลพม่าอยู่ก่อนแล้ว แต่เห็นได้ว่าในการประชุมร่วมกับรัฐบาลพม่า มีการให้นายพานทองแท้ ชินวัตร และคนจากเอไอเอสเข้าทำการสาธิตโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วย ดังนั้นการอนุมัติเงินกู้ก็เพื่อประโยชน์ในการซื้อสินค้าและบริการจากไทยคมและชินคอร์ป นอกจากนี้ การอนุมัติให้ลดดอกเบี้ยต่ำกว่าทุน ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของ EXIM Bank การกล่าวอ้างว่าการให้กู้ดังกล่าวเป็นผลให้ ปตท.สผ. ได้สัมปทานบ่อแก๊สธรรมชาติในพม่าก็ไม่เกี่ยวกัน

กลุ่ม 5 อาจารย์ฯ เห็นว่า การให้ต่างชาติกู้เงินเป็นการดำเนินการตามนโยบายในทางบริหาร ที่ฝ่ายบริหารจะใช้ดุลพินิจให้ได้ประโยชน์สูงสุด โดยทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย การให้กู้แลกสัมปทานบ่อแก๊ซ หรือช่วยยับยั้งการค้ายาเสพติดชายแดน ฯลฯ ก็เป็นสิ่งที่ฝ่ายบริหารจะทำได้ หากไม่เหมาะสมเป็นหน้าที่รัฐสภาในการตรวจสอบ

อีกทั้งข้อเท็จจริงปรากฏว่า ไทยคมทำธุรกิจกับรัฐบาลพม่ามาแต่เดิมแล้ว เนื่องจากพม่าถูกบอยคอตจากหลายประเทศ จึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติวิสัยที่รัฐบาลพม่าจะซื้อสิ้นค้าและบริการจากไทยคมต่อไป ทั้งหมดจึงยังไม่พอฟังได้ว่า การอนุมัติดังกล่าวของ ครม.เป็นลักษณะเอื้อประโยชน์แก่ไทยคอมและชินคอร์ป 

ึเปิดแฟ้มคดีทักษิณ
อ่านอีกหน เป็นธรรมเพียงไหน คดีเชิงนโยบาย ‘หวยบนดิน’
  • สรุปรวบยอดไว้ก่อนว่า โครงการหวยบนดิน ก่อกำเนิดขึ้นด้วยเป้าหมายกำจัดผู้มีอิทธิพลเจ้ามือหวยใต้ดิน ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล เพื่อให้รายได้ส่วนนั้นเข้าสู่รัฐ แต่ปัญหาคือ รัฐบาลทักษิณเน้น ‘ประสิทธิภาพ’ ดำเนินการภายในไม่กี่เดือน โดยไม่ได้แก้กฎหมายกองสลาก และบริหารรายได้ใหม่นำใช้ในโครงการต่างๆ เพื่อเด็กยากจนโดยตรงโดยไม่ผ่านระบบงบประมาณปกติซึ่งต้องจัดการกันเป็นรายปี จึงถูกกล่าวหาว่า 1.ทำผิดกฎหมายกองสลาก 2.รายได้ไม่เข้ากระทรวงการคลังก่อน จากนั้นค่อยจัดทำงบประมาณประจำปีผ่านหน่วยงานต่างๆ
  • จำเลยในคดีมีมากถึง 47 ราย จำเลยที่ 1 ได้แก่ ทักษิณ ในฐานะนายกฯ อีกกลุ่มหนึ่งคือรัฐมนตรีใน ครม.ที่ร่วมอนุมัติโครงการ กลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มผู้บริหารกองสลาก
  • ความผิดหลักของโครงการนี้คือ ฝ่าฝืน พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 มาตรา 5 และ 9 ส่วนความผิดของบุคคลก็คือ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยไม่มีประเด็นการทุจริตคอร์รัปชัน
  • คตส. เป็นผู้สรุปสำนวนส่งอัยการสูงสุด แต่อัยการเห็นว่าสำนวนไม่สมบูรณ์ คตส.จึงเป็นโจทก์ฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งนักการเมืองเอง เพราะคณะรัฐประหาร 2549 แต่งตั้ง คตส.และให้อำนาจ bypass อัยการไว้ด้วย
  • ‘หวยบนดิน’ หรือโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัว เริ่มดำเนินการเมื่อ 1 ส.ค.2546-16 พ.ย.2549 รวม 80 งวด
  • ยอดขายสลาก 80 งวด (3 ปี) ราว 124,000 ล้าน สามารถเอาไปใช้ในโครงการสาธารณะประโยชน์ได้รวมแล้วราว 14,000 ล้านบาท
  • รายได้ส่วนใหญ่นำไปใช้เป็นค่ารางวัล กันไว้เป็นค่าดำเนินการไม่เกิน 20% ส่วนที่เข้ารัฐคือ ส่วนที่ให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กำหนดไว้ที่ 4.5% และรัฐบาลยังออกกฎเกณฑ์ให้ได้รับการยกเว้นภาษีหลายอย่าง
  • อย่างไรก็ตาม เนื่องจากหวยบนดินไม่มีกำหนดเพดานจำนวนรางวัล ทำให้ใน 80 งวดนี้ มีการขาดทุนอยู่ 7 งวด รวมเป็นเงิน 1,668 ล้านบาท
  • เงินส่วนที่หักค่าใช้จ่ายแล้วนำไปใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์นั้น ต้องเป็นไปตามแนวทางของ ‘คณะกรรมการพัฒนายุทธศาสตร์สำหรับแก้ไขปัญหาเด็กยากจนและเด็กด้อยโอกาส’ ที่ ครม. แต่งตั้งขึ้น โดยมีรองนายกฯ จาตุรนต์ ฉายแสง เป็นประธาน พบว่าแบ่งเป็น

1. โครงการแก้ปัญหาเด็กเร่ร่อน เด็กพิการ เด็กที่ได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์ขององค์กรเอกชนและหน่วยงานรัฐ

2.โครงการเขียนเรียงความสำหรับเด็กและเยาวชนเพื่อขอรับทุนการศึกษาตามนโยบายรัฐบาล 

3.การจัดซื้อรถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข 

4.การประกันภัยแก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ 

5.โครงกาส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาบุตรธิดาอาสาสมัครสาธารณสุข 

6.โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน กระทรวงศึกษาธิการ

  • ถามว่าโครงการนี้เริ่มได้อย่างไร เราอาจไล่เรียงไทม์ไลน์คร่าวๆ ดังนี้

เม.ย.2545 คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล เริ่มมีแนวคิดหวยบนดิน โดยประชุมศึกษาแนวทางกันเป็นครั้งแรก ตามมาด้วยการจัดสัมมนาต่างๆ พบว่าเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะนำหวยใต้ดินมาดำเนินการให้ถูกกฎหมาย

ด้านวุฒิสภา คณะกรรมาธิการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนศึกษาเรื่องนี้แล้วก็เห็นด้วยว่า ควรนำหวยใต้ดินมาเป็นหวยบนดิน แต่ต้องแก้กฎหมายกองสลากก่อน

ต่อมาต้นปี 2546 รัฐบาลมีนโยบายปราบผู้มีอิทธิพลและเจ้ามือหวยบนดิน

มิ.ย.2546 คณะกรรมการสลากกินแบ่งอนุมัติให้ดำเนินโครงการ แล้วทำเรื่องขออนุญาตหน่วยงานต่างๆ ท้ายที่สุดไปจบที่ ครม.อนุมติในเดือน ก.ค.2546

  • โครงการหวยบนดิน เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ถูกโจมตีอย่างหนักในช่วงที่มีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลทักษิณในช่วงสมัยที่ 2 ก่อนเกิดรัฐประหาร

หลังการรัฐประหาร 2549 ไม่นาน กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย ได้ทำหนังสือถึงประะธาน คตส. เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษ ครม. และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดในโครงการหวยบนดิน หลังจากนั้น ทั้งสองหน่วยงานทำหนังสือไปปรึกษากับคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ข้อสรุปว่า โครงการดังกล่าว "ไม่ถือว่าเป็นการดำเนินการภายในกรอบวัตถุประสงค์ของมาตรา 5 พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งฯ สำกนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่สามารถดำเนินการได้"

  •  คตส. ฟ้องศาลโดยระบุว่า ทำให้รัฐเสียหาย เสียรายได้ เพราะรัฐบาลไปออกกฎระเบียบลดหย่อนภาษีหลายอย่าง ดังนี้ 

ภาษีมูลค่าเพิ่ม 8,970 ล้านบาท

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย 160 ล้านบาท   

ภาษีการพนัน 12,800 ล้านบาท 

ภาษีท้องถิ่นที่ต้องจ่ายให้ กทม.ตามกฎหมายการพนัน 337 ล้านบาท

รวมภาษีที่ควรได้คือราวๆ  22,000 ล้าน แต่ คตส. ชงเรื่องว่าเสียหาย 36,000 ล้าน เพราะรวมเงินที่ใช้จ่ายในโครงการสาธารณะประโยชน์ไปด้วย 14,000 ล้าน 

  • ศาลวินิจฉัยว่า จำเลยที่เป็นรัฐมนตรีหลายคน ที่ร่วมประชุม ครม. ไม่มีความผิด เพราะวาระหวยบนดินเป็นวาระเพิ่มเติมที่เข้ามาเร่งด่วน ทำให้รัฐมนตรีไม่ได้มีโอกาสศึกษาก่อนมีมติ และตัวแทนหน่วยงานต่างๆ ก็มาชี้แจงว่าสามารถกระทำได้ตามกฎหมาย 

"ดังนั้น มติ ครม.จึงเป็นการมีมติไปตามธรรมเนียมปฏิบัติของการประชุม ครม.และขาดเจตนาพิเศษในการกระทำความผิด" 

  • ส่วนจำเลยระดับอื่นๆ นั้น ศาลพิพากษาว่า "ไม่ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ต้น เละเข้าใจว่าโครงการดังกล่าวออกโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตในการอนุมัติให้จ่ายเงินดังกล่าว" 
  • ขณะที่กรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลและตัวแทนจากหน่วยงานอื่น ศาลเห็นว่า จำเลยไม่ได้มีส่วนรับรู้กับการเข้าไปหารือและสั่งการของนายกฯ หรือเกี่ยวข้องการจัดการโครงการตั้งแต่เริ่มแรก ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่ามีความผิด 
  • ศาลลงโทษเพียง 1. วราเทพ รัตนากร รมช.คลัง 2. สมใจนึก เองตระกูล ปลัดกระทรวงการคลัง 3.ชัยวัฒน์ พสกภักดี ผอ.กองสลาก ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 ให้จำคุก 2 ปี  และปรับอีก 10,000 บาทและ 20,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษ 
  • คนโดนเต็มๆ คือ จำเลยที่ 1  ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยศาลวินิจฉัยว่า 

>กฎหมายกำหนดไว้ว่า สลากรัฐบาลต้องออกโดยสำนักสลากฯ , เงิน 60% เป็นเงินรางวัล, ไม่เกิน 12% เป็นค่าบริหารจัดการ  และต้องไม่น้อยกว่า 28% เป็นรายได้แผ่นดิน แต่โครงการหวยบนดิน นำรายได้เข้าแผ่นดินเพียง 4.5%

>การดำเนินการของกองสลากต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย ไม่เช่นนั้นจะทำให้สำนักงานกองสลากฯ มีอำนาจกระทำการใดๆ โดยไม่มีข้อจำกัดและอาจกระทบต่อการดำเนินการหลักของกองสลากฯ หรือผิดวัตถุประสงค์ 

>โครงการหวยบนดิน ได้รับการเสนอจากสำนักงานสลากฯ และ กมธ.ของวุฒิสภาก็จริง แต่ทั้งสองหน่วยงานก็แจ้งด้วยว่าควรต้องแก้กฎหมายก่อน แต่จำเลยที่ 1  ก็ไม่ได้ระงับยับยั้งโครงการเพื่อแก้ไขกฎหมายหรือป้องกันความเสี่ยงเสียก่อน กลับรีบดำเนินการให้ลุล่วง โดยไม่มีข้อเท็จจริงใดที่เชื่อว่าจำเลยที่ 1 จะแก้ไขกฎหมายให้ถูกต้อง การเสนอเรื่องเข้า ครม.ก็ไม่ผ่านการกลั่นกรองปกติ แต่ทำเป็น ‘วาระเพิ่มเติม’

> หวยบนดิน ไม่มีการจำกัดวงเงินนการเล่น ไม่มีการจำกัดวงเงินรางวัลที่จะจ่าย จึงแตกต่างจากสลากกินแบ่งรัฐบาล จึงมีลักษณะเป็นสลากกินรวบ (หวยใต้ดิน) ที่อาจทำให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลมีโอกาสขาดทุน ส่งผลกระทบต่อกระทรวงการคลัง 

> ส่งเสริมให้ประชาชนลุ่มหลงมัวเมาในอบายมุข โดยมีรัฐบาลเป็นเจ้ามือ รับกินรับใช้โดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ 

> การจ่ายเงินส่วนเกินให้โครงการสาธารณะประโยชน์ต่างๆ ไม่ปรากฏว่าได้รับการตรวจรับรองจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินทุกกรณี ไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบราชการทุกขั้นตอน แสดงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ต้องการให้เงินจากการขายสลากดังกล่าวถูกจัดสรรเป็นรายได้แผ่นดิน อันเป็นช่องทางปกติตามวิธีงบประมาณ ซึ่งผิดวัตถุประสงค์การจัดต้้งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 

> เมื่อโครงการเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีพนัน 

ด้วยเหตุทั้งหมด จึงพิพากษาให้จำเลยที่ 1 มีความผิดปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 ให้จำคุก 2 ปี ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

  • หลังจากหวยบนดินถูกพับเก็บหลังรัฐประหาร 2549 ถัดมาอีก 17 ปี เดือน มี.ค.2566 ดูเหมือนมีโครงการที่คล้ายกันเกิดขึ้นอีกหน  ที่ประชุม ครม.รักษาการ (ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เห็นชอบในหลักการ ในการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ สลากแบบตัวเลข 6 หลัก (L6) และแบบตัวเลข 3 หลัก (L3) โดยสลากตัวเลข 3 หลักจะคล้ายกันกับหวยใต้ดิน 2 ตัว 3 ตัว 

สลากเลข 3 หลักที่ครม.ประยุทธ์อนุมัตินั้นมีทั้งโต๊ด เต็ง และแจ็กพอต วิธีการเล่น ให้เลือกหมายเลข 000 ถึง 999 จำนวน 1 หมายเลขต่อการเลือกซื้อ 1 ครั้ง ราคายังไม่กำหนด แต่คาดจะขายครั้งละ 20-50 บาท ส่วนเงินรางวัลจะมีการกำหนดเพดาน เงินรางวัลทั้งหมดจะนำมาจาก 60% ของยอดขายในแต่ละงวด หากงวดไหนมีคนถูกรางวัลหลายคนจะต้องมาหารเฉลี่ยกัน ตามสัดส่วนวงเงินที่กำหนด ยิ่งถูกน้อย ยิ่งหารน้อย ยิ่งถูกมากยิ่งหารมาก

  • ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานกองสลาก ระบุว่า เงินหวยบนดินถูกนำไปใช้จ่ายดังนี้

1) ทุนการศึกษาเด็กโครงการเขียนเรียงความ งวดที่หนึ่ง 125,000,000 บาท

2) สัปดาห์วิทยาศาสตร์ 35,500,000 บาท

3) ทุนการศึกษาเด็กโครงการเขียนเรียงความ งวดสอง 400,590,000 บาท

4) โครงการอ่าน เขียน เรียน เที่ยว 10,000,000 บาท

5) โครงการทุนการศึกษาต่อของนักเรียนระดับปริญญาตรี 50,113,732 บาท

6) โครงการเสริมความรู้สร้างรายได้นักเรียนช่วงปิดภาคเรียน 10,000,000 บาท

7) โครงการแก้ปัญหาเด็กยากจนได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์ 600,000 บาท

8) โครงการแก้ปัญหาเด็กยากจนได้รับผลกระทบโรคเอดส์ 289,626,730 บาท

9) โครงการแก้ปัญหาเด็กยากจนได้รับผลกระทบโรคเอดส์ 195,072,737 บาท

10) โครงการทุนการศึกษาแก่ลูกผู้มีรายได้น้อย ระยะที่ 1 773,000 บาท

11) ทุนการศึกษาเด็กโครงการเขียนเรียงความ งวดสาม 402,519,000 บาท

12) โครงการ “หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน” 446,469,420 บาท

13) ทุนการศึกษาแก่ลูกผู้มีรายได้น้อย 2,000,000 บาท

14) ทุนการศึกษาแก่ลูกผู้มีรายได้น้อย 470,227,000 บาท

15) ทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยที่ศึกษาที่ประเทศรัสเซีย 11,340,000 บาท

16) โครงการเขียนเรียงความสำหรับเยาวชนด้อยโอกาส 402,519,000 บาท

17) โครงการพัฒนายุทธศาสตร์แก้ปัญหาเด็กด้อยโอกาส 31,000,000 บาท

18) ทุนการศึกษาบุตรธิดาอาสาสมัครสาธารณสุข 2,000,000 บาท

19) ทุนการศึกษาแก่บุตร-ธิดาผู้ทำประโยชน์แก่สังคม 526,221,000 บาท

20) พิธีมอบทุนการศึกษาในส่วนของต่างจังหวัด 600,000 บาท

21) โครงการทุนการศึกษาแก่ลูกผู้มีรายได้น้อย ระยะที่ 1 (1 อำเภอ 1 ทุน) 186,297,575 บาท

22) ทุนการศึกษาแก่ลูกผู้มีรายได้น้อย 1,691,773,173 บาท

23) ทุนการศึกษาแก่ลูกผู้มีรายได้น้อย 8,950,000 บาท

24) ทุนการศึกษาต่อของนักเรียนจากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอในระดับอุดมศึกษา 4,521,067 บาท

25) ทุนการศึกษาของนักเรียนระดับอุดมศึกษา 276,360,892 บาท

26) ทุนการศึกษาของนักเรียนจากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอ 3,463,308 บาท

27) โครงการบัณฑิตเพื่อความมั่นคง 1,374,000 บาท

28) โครงการแก้ไขปัญหาเด็กด้อยโอกาส 49,700,000 บาท

29) ทุนการศึกษาแก่ลูกผู้มีรายได้น้อยแก้ไขปัญหาเด็กเร่ร่อน 120,348,960 บาท

30) ทุนการศึกษาโครงการเขียนเรียงความสำหรับเยาวชน 798,499,960 บาท

31) ทุนการศึกษาแก่ลูกผู้มีรายได้น้อย งวดสาม 852,584,110 บาท

32) โครงการแก้ไขปัญหาเด็กยากจนและเด็กด้อยโอกาส 9,496,000 บาท

33)ทุนการศึกษาแก่บุตร-ธิดาผู้ทำประโยชน์ต่อสังคม 317,355,680 บาท

34) โครงการ “หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน” 91,227,307 บาท

35) โครงการ “หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน” 9,778,067 บาท

36) โครงการ “หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน” 3,463,308 บาท

37) โครงการแก้ไขปัญหาเด็กพิการ เด็กเร่ร่อน และเด็กที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโรคเอดส์ 19,102,290 บาท

38) ค่าใช้จ่ายจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ ปี 2548   35,000,000 บาท

39) ค่าใช้จ่ายโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน กันยายน 2548  385,091,348 บาท

40) ทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยที่ศึกษาที่ประเทศรัสเซีย 3,024,000 บาท

41) โครงการโรงเรียนแกนนำจัดการเรียนร่วมระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับบุคคลออทิสติก 2,424,114 บาท

42) ค่าใช้จ่ายในกระบวนการคัดเลือกผู้รับทุนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นสอง 44,065,000 บาท

43) ทุนการศึกษาแก่ลูกผู้มีรายได้น้อย งวดหนึ่ง ปี 2548 1,590,320,300 บาท

44) ทุนการศึกษาบุตรธิดาผู้ทำประโยชน์สังคมงวด1 ปี2548 606,667,840 บาท

45) ทุนการศึกษาต่อของนักเรียนจากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอในระดับอุดมศึกษา 4,513,391 บาท

46) ทุนการศึกษาต่อของนักเรียนจากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอในระดับอุดมศึกษา 273,437,422 บาท

47) โครงการแก้ไขปัญหาเด็กยากจนและเด็กด้อยโอกาส โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่น 2 ปี 2549 88,013,264.50 บาท

48) ทุนการศึกษาแก่บุตรธิดาผู้ทำประโยชน์สังคม งวด 2 ปี 48 2,170,034,540 บาท

เปิดแฟ้มคดีทักษิณ
แปลงสัมปทาน(บางส่วน)เป็นภาษีสรรพสามิต
ศาลรัฐธรรมนูญชี้รัฐบาลทำได้ - ศาลฎีกาลงโทษ 
  • สรุปเบื้องต้นอย่างย่อที่สุด คือ รัฐบาลทักษิณได้ดำเนินนโยบายให้มีการเก็บภาษีสรรพสามิตรผู้ให้บริการมือถือร้อยละ 10 ของรายได้ โดยบริษัทที่ได้สัมปทานจากรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง คือ ทศท. (ทำสัญญากับเอไอเอส) และ กสท. (ทำสัญญากับดีแทคและทรูมูฟ) สามารถนำรายจ่ายภาษีสรรพสามิตไปหักกับค่าสัปทานที่ต้องจ่ายได้ด้วย เหตุที่ต้องเก็บภาษีรัฐบาลระบุว่า เป็นเพราะมีการแปรรูป ทศท.และ กสท.จากรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทมหาชน เข้าตลาดหลักทรัพย์ ทำให้รายได้จากสัมปทานโทรคมนาคม (ซึ่งเป็นสมบัติสาธารณะ) จะไปตกอยู่ที่ผู้ถือหุ้น จึงเก็บภาษีเสียส่วนหนึ่งก่อน ส่วนเหตุที่ให้เอกชนนำไปหักกับสัมปทานที่ต้องจ่ายได้ก็เพราะไม่ต้องการให้กระทบประชาชน เพราะหากไม่ให้เอกชนทำเช่นนี้ค่าบริการมือถือก็จะแพงยิ่งขึ้น สรุปแล้วเอกชนก็จ่ายเท่าเดิมเพียงแต่แบ่งส่วนหนึ่งมาจ่ายภาษีให้กระทรวงการคลัง อีกส่วนจ่ายให้ ทศท.เหมือนเดิม เรื่องนี้ถูกฟ้องว่า เอื้อบริษัทเอไอเอสในเครือชินคอร์ป, กีดกันรายใหม่ที่จะต้องเสียภาษีเหมือนกันทั้งที่รายเก่ามีฐานลูกค้าแล้ว, ทำให้ ทศท.ซึ่งต่อมาแปรรูปเป็น ทีโอที เสียรายได้
  • ความเห็นผู้ร้อง จัดเก็บภาษีโทรคมนาคมขัดรัฐธรรมนูญ

เรื่องนี้ตั้งต้นจาก เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภค ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ต่อมาผู้ตรวจการฯ ยื่นคำร้องศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อเดือน ก.ย.2546 ว่าการแก้ไขกฎหมายต่างๆ เพื่อให้เกิดการคิดภาษีสรรพสามิตกับบริษัทเอกชนมือถือคู่สัญญากับ ทศท. เป็นการขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจาก 

1. การเก็บภาษีสรรพสามิต (ซึ่งเป็นภาษีที่ควบคุมการบริโภคสินค้าที่ไม่จำเป็น) กับกิจการโทรคมนาคม ขัดกับมาตรา 40 เป็นการใช้กลไกภาษีจำกัดสิทธิเสรีภาพการใช้สอยทรัพยากรการสื่อสาร 

2. การเก็บภาษีสรรพสามิต เป็นการแทรกแซงอำนาจ กทช. ที่ต้องกำกับดูแลกาประกอบกิจการโทรคมนาคมซึ่งต้องเป็นผู้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาตต่างๆ การที่รัฐบาลกำหนดให้เอกชนนำส่วนที่จ่ายภาษีสรรพสามิต ไปหักลบกับค่าสัมปทานที่ต้องจ่ายกับ ทศท.จะกระทบต่อต้นทุนและค่าบริการ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของ กทช.ที่จะกำหนด

3.การเก็บภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคม ขัดรัฐธรรมนูญเรื่องเสรีภาพในการประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรี ทำให้ผู้เล่นรายใหม่มีต้นทุนสูงกว่ารายเก่าที่มีฐานลูกค้าอยู่แล้ว 

  • ความเห็นรัฐบาล กำหนดเพื่อความเป็นธรรม

นายกรัฐมนตรียื่นคำชี้แจงว่าไม่ขัดรรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลว่า 

1.การจัดเก็บภาษีสรรพสามิต เพื่อสร้างความเป็นธรรมซึ่งเป็นนโยบายการบริหารทางภาษีของรัฐบาลเพื่อหารายได้เข้ารัฐ เงินดังกล่าวนำมาใช้จ่ายบริหารประเทศ เหตุผลความจำเป็นคือ ทศท.และ กสท.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจกำลังจะเป็นบริษัทมหาชนจำกัด (บมจ.) อันจะทำให้รายได้ส่วนหนึ่งของค่าสัมปทานโทรคนมนาคมที่ทำกับเอกชนไว้แต่เดิม กลายเป็นรายได้ของ บมจ.ซึ่งตกแก่ 'ผู้ถือหุ้น' รัฐบาลจึงออกกฎหมายให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิต เพื่อเป็นการยืนยันหลักการว่า คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของชาติ  ไม่ขัด รธน.มาตรา 40 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ เพราะการจัดเก็บภาษีอากรเป็นเรื่องทางนโยบายซึ่งรัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อสภา มิได้เป็นการจำกัดเสรีภาพประชาชน ประชาชนเคยได้รับสิทธิเสรีภาพโทรคมนาคมเช่นไรก็ได้รับเช่นเดิม หากตีความว่าการเก็บภาษีมีผลเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน รัฐจะไม่สามารถเก็บภาษีกรณีใดได้เลย 

2.การจัดเก็บภาษีนี้ มิใช่เป็นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการอนุญาตหรือค่าตอบแทนใบอนุญาตจากผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ซึ่งจะไปซ้ำซ้อนอำนาจ กทช. แต่เป็นการเรียกเก็บภาษีจากผู้มีรายได้ในกิจการโทรคมนาคม ที่เอกชนไปทำสัญญาสัปทานกับ ทศท. กสท.อยู่ก่อนแล้ว จนเมื่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 40 กำหนดให้มี กทช.มาดูแล ก็ยังมีบทเฉพาะกาลกำหนดว่า จะต้องไม่กระทบกระเทือนสัญญาก่อนหน้าจนกว่าจะสิ้นผลสัญญา การที่ยอมให้เอกชนนำภาษีสรรพสามิตที่จ่ายไปหักออกจากค่าสัปทานที่ต้องจ่ายให้ ทศท.และ กทส.นั้น เป็นการเรียกเก็บภาษีทดแทนการชำระค่าสัมปทานตามสัญญาเดิม ไม่ได้มีลักษณะเป็นการเรียกเก็บอากรค่าตอบแทนทำนองเดียวกับค่าธรรมเนียมการอนุญาตอันเป็นหน้าที่ กทช. ที่สำคัญ การให้นำการจ่ายภาษีสรรพสามิตมาหักค่าสัมปทานก็เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องแบกรักภาระค่าใช้จ่ายในค่าบริการโทรคมนาคมที่สูงขึ้น เพราะหากกำหนดให้เอกชนต้องจ่ายภาษีเพิ่มโดยหักจากที่ต้องจ่ายสัมปทานไม่ได้ เอกชนก็จะผลักภาระทางภาษีให้กับผู้ใช้บริการทั่วไป 

3. กทช.ยังคงมีอำนาจหน้าที่เช่นเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลง การเก็บภาษีสรรพสามิตเป็นการเรียกเก็บตามสัดส่วนรายได้ ไม่ได้เป็นเงื่อนไขหรือองค์ประกอบสำคัญในการกำหนดโครงสร้างค่าธรรมเนียม ค่าตอบแทน หรือค่าบริการให้เป็นธรรม อำนาจเหล่านี้ยังคงอยู่ที่ กทช. ดังนั้น การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจึงเป็นการใช้อำนาจคนละส่วนและไม่ซ้ำซ้อนกับการใช้อำนาจของ กทช. อย่างไรก็ดี หาก กทช.เห็นว่าการเรียกเก็บดังกล่าวอัตราไม่เหมาะสมอย่างไรก็อาจเสนอต่อรัฐบาลเพื่อให้ปรับปรุงอัตราดังกล่าวได้

4.เรื่องเสรีภาพในการประกอบอาชีพและแข่งขันโดยเสรี ในทางกฎหมายภาษีอาการ  ต้องถือว่าผู้ประกอบการทุกรายอยู่ในสถานะเดียวกัน ส่วนความแตกต่างเรื่องรายเก่ารายใหม่นั้น เป็นเรื่องปกติทั่วไปในทางการพาณิชย์ ข้อเท็จจริงคือยังไม่มีการออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการรายใหม่ การแข่งขันทางการคายังไม่เกิดขึ้น การยกเว้นให้เอกชนที่ดำเนินการอยู่นำภาษีสรรพสามิตไปหักจากค่าสัมปทานได้ก็เพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการไม่ให้จ่ายแพงขึ้น ไม่ได้ขัดต่อหลักเสรีภาพและการแข่งขันเสรีแต่อย่างใด 

อีกทั้งยังไม่เป็นการกีดกันผู้ประกอบการรายใหม่ เพราะมีข้อได้เปรียบไม่ต้องจ่ายค่าสัมปทานให้ทศท.หรือ กทส.และอยู่ภายใต้กำกับ กทช.เพียงหน่วยเดียว ขณะที่เอกชนเดิมที่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานกับ ทศท.หรือ กสท.นั้นยังต้องอยู่ภายใต้กำกับ กทช.ด้วย จนกว่าจะสิ้นสุดสัญญา การบริหารความเป็นธรรม ความได้เปรียบเสียเปรียบในอนาคต กฎหมายอนุญาตให้กทช.เป็นผู้ออกมาตรการต่างๆ ได้อยู่แล้ว เพื่อให้แข่งขันกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม 

  • ความเห็น กทช. ระบุเป็นอำนาจฝ่ายบริหาร

กทช.เห็นว่า การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตที่เกิดขึ้นนี้ เป็นอำนาจฝ่ายบริหารที่จะดำเนินการภายใต้เงื่อนไขและหลักเกณฑ์ทางกฎหมาย ซึ่งการกำหนดมาตรการภาษีเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร ซึ่ง กทช.ไม่มีเขตอำนาจในการกำหนดนโยบายการคลังสาธารณะและการดำเนินการเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน 

  • ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าทำได้ 

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 11 : 3 : 1 โดย 11 เห็นว่าการดำเนินการเรื่องนี้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ( 3 คนเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญ 1 คนเห็นว่า ควรยกคำร้องเรื่องจากศาลไม่มีอำนาจตรวจอสบ) 

ตุลาการฝ่ายเสียงข้างมากให้เหตุผลว่า 

1. การกำหนดประเภทสินค้าและบริการในการเรียกเก็บภาษีสรรพาสามิตจากกิจการประเภทใด อัตราเท่าใด เป็นเรื่องการดำเนินการทางนโยบายจากฝ่ายบริหาร เห็นได้ว่า การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรในกิจการโทรคมนาคมดังกล่าวเป็นเพียงนโยบายแห่งรัฐด้านการจัดเก็บรายได้ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดทำประโยชน์สาธารณะเท่นั้น ไม่ได้เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพหรือจำกัดการเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสื่อสารของชาติ 

2. การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรมีวัตถประสงค์ในการจัดการรายได้ให้รัฐ ไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะบังคับใช้เพื่อกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมแต่อย่างใด นอกจากนี้การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเป็นการเรียกเก็บจากรายได้ของผู้ประกอบการ โดยมีนโยบายที่ว่า กิจการที่มีรายได้จากสัมปทานจากรัฐต้องเสียภาษีจากการใช้ประโยชน์นั้น ซึ่งีความแตกต่างจากการเรียกเก็บค่าตอบแทนหรือค่าธรรมเนียมตามอำนาจหน้าที่ของ กทช. จึงมิได้ก้าวล่วงการใช้อำนาจของ กทช. 

3. กรณีที่กำหนดให้หักภาษีสรรสามิตที่จ่ายไปออกจากค่าตอบแทนสัปทานที่ต้องจ่ายนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้เอกชนต้องผลักภาระภาษีสรรสามิตให้กับประชาชนผู้ใช้บริการ เป็นเพียงมาตรการชั่วคราวที่ป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อราคาค่าบริการที่จะสูงขึ้นจากภาระภาษี ในฐานะที่เป็นรัฐบาลจึงต้องคุ้ครองประชาชนที่เป็นผู้ใช้บริการ ในขณะเดียวกันก็ต้องคุ้มครองประโยชน์สาธารณะคือ รายได้จากการเก็บภาษีดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ หากรัฐบาลเห็นว่าหมดความจำเป็นแล้ว ก็สามารถยกเลิกหรือแก้ไขประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยภาษีสรรพสามิตรดังกล่าวได้ 

ที่สำคัญ รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เรื่องหลักประกันความมั่นคงแห่งการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาที่มีผลสมบูรณ์อยู่ขณะที่จะจัดตั้ง กทช.องค์กรอิสระด้วยว่า จะต้องไม่กระทบต่อสัญญาสัปทานจนกว่าจะหมดอายุ 

4. การเก็บภาษีสรรพสามิตดังกล่าวไม่กระทบต่อโครงสร้างค่าตอบแทนค่าอนุญาตที่ กทช.จะกำหนดขึ้น เรื่องจากจะเรียกเก็บในขั้นสุดท้ายของการขยายบริการนั้นไปแล้ว ซึ่งไม่เกี่ยวกับการกำหนดโครงสร้างค่าตอบแทนค่าใบอนุญาตแต่อย่างใด 

5. เหตุผลที่ต้องจัดเก็บภาษีสรรพสามิต เป็นเพราะ ทศท.และ กสท.ซึ่งเป็นรัฐวิสากิจคู่สัญญาได้แปรรูปเป็น บมจ.แล้ว รายได้ที่มาจากสัมปทานซึ่งเคยส่งมอบให้รัฐจะตกเป็นของผู้ถือหุ้น การที่รัฐให้เก็บภาษีสรรพสามิตโดยหักจากค่าสัมปทานที่ใช้ให้ บมจ. ย่อมทำให้รัฐยังคงได้รับรายได้ในส่วนนี้ต่อไปโดยแปลงส่วนแบ่งรายได้บางส่วนเป็นภาษีสรรพสามิต ผู้ประกอบการก็ยังต้องเสียเงินทั้งหมดในจำนวนเท่าเดิมตามที่สัญญาที่ตกลงไว้แต่ต้น 

6. เรื่องการแข่งขันโดยเสรีนั้น การจัดเก็บภาษีดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการใช้อำนาจในทางนโยบายการบริหารประเทศของรัฐบาล โดยผู้ประกอบการทุกรายต้องเสียภาษีในอัตราเดียวกันบนฐานเดียวกัน และมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อจัดหารายได้ให้รัฐ มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแทรกแซงเสรีภาพการประกอบอาชีพหรือการแข่งขันโดยเสรี

  • ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สั่งจำคุก 5 ปี

แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะพิพากษาว่าเรื่องนี้เป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร แต่ คตส.ชงเรื่องให้อัยการฟ้องศาล ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ม.157 ของประมวลกฎหมายอาญา และ ม.100 ของกฎหมาย ป.ป.ช.ที่ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ

ในช่วงตัดสินคดีคือ เดือนกรกฎาคม 2563 จำเลยลี้ภัยการเมืองอยู่ต่างประเทศ ศาลใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 (ยกร่างหลังรัฐประหาร 2557) ที่มีมาตราหนึ่งให้พิพากษา ‘ลับหลังจำเลย’ ได้ โดยศาลพิพากษาให้จำคุกข้อหาแรก 2 ปี ข้อหาที่สอง 3 ปี รวมเป็น 5 ปี

ข้อหาแรก จำคุก 2 ปี

องค์คณะผู้พิพากษามีมติเสียงข้างมาก ตัดสินว่า จำเลยผิด ม.100 ของกฎหมาย ป.ป.ช.ฐานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐแต่ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานกับรัฐ เพราะว่าแม้ก่อนจำเลยนั่งตำแหน่งนายกฯ ได้โอนหุ้นชิบคอร์ปแก่ ลูกชาย ลูกสาว ภรรยา พี่ภรรยา และบริษัทแอมเพิลริชแล้วก็ตาม แต่จำเลยยังคงไว้ซึ่งอำนาจต่างๆ และ ‘มีพฤติการณ์อันแสดงว่า’ จำเลยและภรรยายังเป็นเจ้าของหุ้นที่แท้จริง โดยให้บุคคลอื่นถือหุ้นแทน เป็นผู้ควบคุมนโยบายและการดำเนินงานผ่านคณะกรรมการบริษัท

แม้การโอนขายหุ้นชินคอร์ปดังกล่าว ทั้งผู้โอนและผู้รับโอนได้รายงานการจำหน่ายหลักทรัพย์ให้ ก.ล.ต.แล้ว แต่รายงานดังกล่าวไม่ใช่หลักฐานแสดงการโอนกรรมสิทธิ์ในหุ้นจำนวนที่รายงาน ดังนั้น การวินิจฉัยว่าจำเลยและภรรยามีพฤติการณ์คงไว้ซึ่งหุ้นชินคอร์ปหรือไม่ จึงต้องวินิจฉัยจากพฤติการณ์ระหว่างจำเลย ภรรยา บุตร ธิา และแอมเพิลริช ตั้งแต่มีการซื้อหุ้นเพิ่มทุนของชินคอร์ป การโอนหุ้นระหว่างกันและการถือครองหุ้นตั้งแต่การโอนให้แก่กันจนมีการขายหุ้นทั้งหมดให้แก่กลุ่มเทมาเส็กเป็นสำคัญ

ประกอบกับในอีกคดีหนึ่ง ศาลฏีกาฯ ได้ตัดสินคดี ‘ยึดทรัพย์’ แล้ว โดยชี้ว่าจำเลยและภรรยายังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หุ้นที่แท้จริงในชินคอร์ป โดยให้ผู้ใกล้ชิดถือหุ้นแทน และยึดเงินปันผลพร้อมดอกผลให้ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากร่ำรวยผิดปกติ จึงพิพากษาให้จำคุก 2 ปี

ข้อหาที่สอง จำคุก 3 ปี 

องค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมาก ตัดสินให้มีความผิดตามม.157 ฐานเป็นเจ้าหน้างานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เนื่องจาก มติ ครม.ที่ออกมาในการแปลงสัมปทานส่วนหนึ่งเป็นภาษีส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของ ทศท.และ กสท.ซึ่งจำเลยคาดหมายได้ แต่ก็ไม่ได้สั่งการใดๆ เพื่อชดเชยรายได้ให้สองหน่วยงาน และการให้สิทธินำภาษีสรรพสามิตรที่ชำระแล้วไปหักออกจากค่าสัปทานที่ผู้ประกอบการต้องนำส่งหน่วยงาน มีผลเป็นการคืนภาษีให้ผู้ประกอบการ และรัฐไม่ได้รับภาษีจากการจัดเก็บภาษี ซึ่งคิดคำนวณแล้วปรากฏว่ามีภาษีสรรพสามิตขาดหายไปเป็นเงินประมาณ 60,000 ล้านบาท และการทำเรื่องนี้ยังมีผลให้กีดกันผู้ประกอบการรายใหม่ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับชินคอร์ป การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเข้ามีส่วนได้ส่วนเสียในการดำเนินการดังกล่าว อันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตัดสินจำคุก 5 ปี