หลังจากใช้เวลาก่อสร้างอันยาวนาน พบหลากปัญหา เลื่อนกำหนด และล่าช้ามานานหลายปีในที่สุด 'สัปปายะสภาสถาน' อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ของไทยย่านเกียกกายก็แล้วเสร็จ หลังใช้เวลาก่อสร้างยาวนานถึง 8 ปี ด้วยงบกว่าประมาณ 12,000 ล้านบาท ภายใต้การดำเนินงานก่อสร้างของซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างหลัก จากความคืบหน้าล่าสุดที่งานตกแต่งส่วนเครื่องยอดอาคาร อันเป็นสัญลักษณ์ ของเขาพระสุเมร ในคติความเชื่อทางศาสนา "หลักไตรภูมิ" ดำเนินการปิดทองคำเปลวแล้วเสร็จสมบูรณ์
ด้วยสถาปัตยกรรมแบบสมัยใหม่ที่สอดแทรกศิลปกรรมไทยตามความเชื่อ "หลักไตรภูมิ" ส่งผลให้ที่ผ่านมา อาคารรัฐสภาหลังใหม่ของไทยซึ่งตั้งตระหง่านริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้ เป็นที่ถกเถียงจากหลายฝ่ายโดยเฉพาะประเด็นความเชื่อตามหลังทางศาสนา กับวิถีประชาธิปไตยในโลกสมัยใหม่ ว่าแท้จริงแล้วรัฐสภาแห่งใหม่นี้เป็นสัญลักษณ์ประชาธิปไตยหรือศาสนสถานกันแน่ ?
อย่างไรก็ดี อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่เตรียมเปิดใช้เต็มรูปแบบนี้ ถือเป็นอาคารรัฐสภาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แทนที่อาคารรัฐสภาแห่งโรมาเนีย ด้วยพื้นที่ใช้สอยในอาคารถึง 424,000 ตารางเมตร ทั้งยังถือเป็นอาคารที่ทำการของรัฐที่มีขนาดใหญ่อันดับสองของโลกรองจากอาคารเพนตากอน ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ซึ่งมีพื้นที่ถึง 600,000 ตารางเมตร ทว่าฟังก์ชันการใช้งานของสองทั้งสองอาคารนั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ในรายงานของโพสต์ทูเดย์ ทีม "สงบ 1051" ผู้ออกแบบภายนอกของอาคารรัฐสภาแห่งใหม่นี้ เผยว่า ต้องการสื่อนัยยะให้ "สัปปายะสภาสถาน" เป็นสถาปัตย์ไทยตามคติไตรภูมิ ที่นอกจากแสดงเอกลักษณ์ทางจิตวิญญาณความเป็นไทยแล้ว ยังแฝงความหมายลึกซึ้งเพื่อให้ชาวไทยและ "เหล่าผู้ทรงเกียรติ" ในเสื้อสูท เมื่อเข้ามาทำหน้าที่ในสภาฯ สำนึกสภาจะสำนึกถึง "บาปบุญคุณโทษ" พลิกฟื้นจิตใจผู้คนให้ประกอบกรรมดีขึ้นมาบ้าง ทว่าแม้การออกแบบภายนอกของอาคารัฐสภาแห่งใหม่นี้จะเป็นที่ถกเถียงในวงกว้าง แต่มีสิ่งอื่นที่น่าสนใจ และเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถสะท้อนมุมมองการปกครองของรัฐต่อ (ผู้แทนฯ) ประชาชนได้เช่นเดียวกันคือ รูปแบบที่นั่งของสมาชิกผู้แทนราษฎร ซึ่งในวัฒนธรรมประชาธิปไตยของแต่ละชาติมีรูปแบบที่แตกต่างกัน
ไม่ว่าประเทศนั้นจะปกครองด้วยเผด็จการอันเข็มงวด ไปจนถึงประชาธิปไตยที่เสรีและก้าวหน้าสุดๆ สิ่งที่รัฐสมาชิกทั้ง 193 ประเทศของสหประชาชาติ มีเหมือนกันคือ "สภานิติบัญญัติ" แต่สิ่งที่ต่างกันคือห้องประชุมสภาของแต่ละรัฐมีรูปแบบการวางตำแหน่งที่นั่งของสมาชิกสภาอันแตกต่างกัน
จากการศึกษาของบริษัทด้านสถาปัตยกรรม XML ของเนเธอร์แลนด์ที่ได้สำรวจและวิจัยรูปแบบการวางที่นั่งของรัฐสภาทั่วโลก เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ด้านพื้นที่ การเชื่อมโยงประชาธิปไตย และแนวคิดการปกครองของประเทศนั้นๆ โดยได้แบ่งรูปแบบของผังที่นั่งสมาชิกสภาใน 5 รูปแบบหลักๆ ซึ่งสะท้อนค่านิยม นัยยะ และมุมมองว่ารัฐของประเทศนั้นปกครองประชาชนอย่างไร
รูปแบบการวางที่นั่งในรัฐสภาลักษณะนี้เราอาจคุ้นเคยกับรัฐสภาเวสต์มินสเตอร์ของสหราชอาณาจักร ซึ่งทั้งสภาผู้แทนฯ (House of Commons) และสภาขุนนาง (House of Lords) ต่างนั่งเผชิญหน้าเข้าหากัน การจัดวางที่นั่งในสภานี้ผู้วิจัยสัญญาติดัตช์ให้เหตุผลว่า จะส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายรู้สึกถึงการเผชิญหน้า สายตาของฝ่ายที่มีจุดยืนทางการเมืองต่างกันจะปะทะกันตลอดเวลา ดังเช่นที่จะเห็นได้จากคราวที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ขึ้นอภิปรายหรือตอบคำถามจากพรรคฝั่งตรงข้าม ก็มักมีสมาชิกสภาฯ จากทั้งฝ่ายค้าและฝ่ายรัฐบาลโห่ร้องคัดค้าน หรือส่งเสียงเห็นด้วย ประเทศที่ใช้รูปการวางที่นั่งลักษณะนี้ นอกจากอังกฤษแล้ว ส่วนมากมักเป็นประเทศที่เคยเป็นอดีตอาณานิคมอังกฤษทั้งสิ้น อาทิ บาฮามาส สิงคโปร์ และแคนาดา หรือในสภาท้องถิ่นบางรัฐของอินเดียอย่าง รัฐหรยาณาและปัญจาบ
แท้จริงแล้วรูปแบบการนั่งแบบเผชิญหน้า ถือเป็นรูปแบบที่มีรากฐานนับย้อนกลับไปยาวนานแต่กลับมาจากรูปแบบที่ไม่เคยเป็นประชาธิปไตยสักเท่าไหร่ โดยหากย้อนกลับไปก่อนที่ "มหากฎบัตร" (Magna Carta) จะกำเนิดขึ้นในอังกฤษเมื่อ 1215 การประชุมสภาของขุนนางในยุคนั้น ไม่ได้มีส่วนใดยึดโยงกับประชาชนเลย เหล่านักบวชและขุนนางมีหน้าที่เดียวคือเป็นที่ปรึกษาแก่กษัตริย์ การประชุมสภาอังกฤษในยุคนั้นจึงไม่ได้มีลักษณะโต้วาทีหรือปะทะคารมของนักการเมืองสองฝั่งดังเช่นปัจจุบัน แต่เป็นการเจรจาเพื่อสมานผลประโยชน์ระหว่างฝ่ายชนชั้นสูงกับศาสนา โดยมีกษัตริย์เป็นศูนย์กลางมากกว่า เนื่องจากผู้เป็นกษัตริย์จะนั่งอยู่ตรงกลางของทั้งสองฝั่งสะท้อนศูนย์กลางอำนาจของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยอังกฤษยุคโบราณ ทว่าปัจจุบันต่ำแหน่งที่นั่งดังกล่าวของสภาผู้แทนฯ (House of Commons) คือตำแหน่งของผู้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร
ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่าโบสถ์เซนต์สตีเฟ่น (St. Stephen’s chapel) ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นโบสต์สำหรับประกอบพิธีทางศาสนาของกษัตริย์นั้น ถือเป็นที่ประชุมสภาแห่งแรกของอังกฤษช่วงศตวรรษที่ 13 โดยสถานที่ตั้งปัจจุบันของโบสถ์แห่งนี้คือ พระราชวังเวสต์มินสเตอร์สถานที่ประชุมรัฐสภาของสหราชอาณาจักรในปัจจุบัน
รูปแบบที่นั่งลักษณะครึ่งวงกลม เป็นรูปแบบการจัดวางที่นั่งอันเป็นที่นิยมในหลายชาติของยุโรป อาทิ รัฐสภาฝรั่งเศส (Assemblée nationale) รัฐสภาสวีเดน (Riksdag) รวมถึงรัฐสภาสหภาพยุโรป ที่เมืองสตาร์สบูร์ก (Strasbourg) ที่นั่งลักษณะนี้มีรากฐานมาจากแนวคิดศิลปะแบบนีโอคลาสสิก เป็นรูปแบบศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากการที่ฝรั่งเศสต่อต้านระบบศักดินาสวามิภักดิ์ (Feudalism) ที่แบ่งชนชั้น ทั้งเป็นช่วงที่ใกล้เคียงกับการเกิดแนวคิดรัฐชาติสมัยใหม่ในยุคศตวรรษที่ 19 ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าว หลายรัฐชาติในยุโรปกำลังเริ่มก่อร่างสร้างตัว จึงไม่แปลกที่นั่งสภารูปแบบนี้จะถูกนิยมนำมาใช้ในรัฐสภาของหลายชาติในยุโรป
การเลือกดีไซน์แบบครึ่งวงกลม ซึ่งเป็นรูปแบบที่นั่งอันเป็นที่นิยมของโรงละครสมัยกรีกและโรมันโบราณ มาใช้ในการประชุมทางการเมืองยุคใหม่นั้น ส่งผลให้การชุมนุมของรัฐใหม่มีกลิ่นอายของการยึดโยงจากยุคสมัยโบราณ
การนั่งชุมนุมแบบครึ่งวงกลมเหมือนยุคของกรีกนั้น ยังสามารถทำให้ผูัเข้าร่วมรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันและเข้าถึงได้สำหรับประชาชนทุกคนในระบอบประชาธิปไตยทางตรง สถาปัตยกรรมรูปครึ่งวงกลมยังเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมความเป็นเอกฉันท์ในกลุ่มบุคคลที่ได้รับเลือกมาเป็นผู้แทนประชาชนด้วย
ที่นั่งประชุมสภารูปแบบวงกลมนี้ มีต้นแบบรากฐานจากการชุมนุมรวมตัวของชาวไวกิ้ง ช่วงศตวรรษที่ 8 ตามหลักฐานประวัติศาสตร์เชื่อว่า ชนเผ่าไวกิ้งในไอซ์แลนด์ นับพันคนจากหลากหลายอาชีพ ทั้งชาวประมง พ่อค้า และช่างฝีมือ จากมานั่งรวมตัวกันเป็นวงกลมช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี เพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสาร พูดคุยเจรจาธุรกิจ รวมถึงถกเถียงเรื่องต่างๆ การชุมนุมลักษณะนี้เรียกว่า 'Icelandic Althing' โดยปัจจุบันคำว่า 'Althing' เป็นคำเรียกถึงรัฐสภาไอซ์แลนด์ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันห้องประชุมสภาไอซ์แลนด์ใช้รูปแบบครึ่งวงกลมแทนธรรมเนียมเดิมของชาวไวกิ้ง.
นั่งสภารูปแบบวงกลมถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งในยุคเยอรมนีตะวันตก โดยกุนเธอร์ เบห์นิสช์ (Günther Behnisch) ผู้ออกแบบรัฐสภาของเยอรมนีตะวันออก (Bundeshaus) ด้วยแนวคิดการออกแบบแนวเบาเฮาส์ (Bauhaus) ในการออกแบบรัฐสภาในเมืองบอนน์ให้เป็นรูปวงกลมเพื่อสะท้อนถึงความเท่าเทียมของทุกคนในสภา ต่อมาแม้ทั้งเยอรมนีตะวันออกและตะวันตกจะรวมประเทศกันอีกครั้ง พร้อมย้ายเมืองหลวงและรัฐสภาแห่งใหม่ไปยังกรุงเบอร์ลิน ที่ซึ่งอาคารรัฐเยอรมนี (Bundestag) ออกแบบโดยนอร์แมน ฟอสเตอร์ ได้สร้างห้องประชุมใหม่ในลักษณะครึ่งวงกลมแทน เหลือไว้เพียงแค่สภาท้องถิ่น (Landtag) ของแคว้นบางแคว้นที่ยังคงใช้ที่นั่งแบบวงกลมอยู่ อาทิ สภาของรัฐนอร์ดไรน์-เวสท์ฟาเลิน ในเมือง ดึสเซลดอร์ฟ
การจัดที่นั่งสภารูปแบบนี้ ล้ายกับลักษณะแบบครึ่งวงกลมผสมผสานกับแบบเผชิญหน้า เพียงแต่จะมีรูปร่างโค้งมนคล้ายรูปตัวยู U มากกว่า ปลายแถวที่นั่งทั้งสองฝ่ายจะโค้งเข้าหากัน และมีที่นั่งประธานสภาอยู่ตรงกลาง อย่างไรก็ตาม ไม่ชัดเจนว่าจุดเริ่มต้นของการออกแบบห้องประชุมลักษณะนี้มาจากที่ใด แต่เป็นที่สังเกตอาจได้รับอิทธิพลจากสภาแบบนั่งเผชิญหน้าของอังกฤษ เนื่องจากว่าหลายชาติที่ใช้ห้องประชุมลักษณะนี้ ล้วนเคยเป็นอดีตอานานิคม หรือประเทศในเครือจักรภพ อาทิ มาเลเซีย แอฟริกาใต้ และบังกลาเทศ ขณะที่ห้องประชุมรูปเกือบม้าที่มีชื่อเสียงที่สุดคือห้องประชุมของรัฐสภาออสเตรเลีย
สุดท้ายคือห้องประชุมแบบ 'ห้องเรียน' ซึ่งมีลักษณะที่บรรดาสมาชิกรัฐสภาจะนั่งเรียงแถวหน้ากระดานเป็นแนวระนาบเดียวกัน คล้ายกับที่นั่งให้ห้องเรียน โดยทุกคนจะหันหน้าไปยังแท่นที่นั่งของประธานสภา หรือคณะผู้นำการประชุม เป็นที่น่าสังเกตว่าสภาแบบห้องเรียนนี้ มักถูกใช้ในกลุ่มประเทศที่มีดัชนีประชาธิปไตยต่ำ อาทิ สภาดูม่าของรัฐเซีย สภาประชาชนแห่งชาติจีน และสภาประชาชนสูงสุดของเกาหลีเหนือ สะท้อนเป็นนัยยะว่า บรรดาสมาชิกสภาฯ (นักเรียน) ในห้องประชุมแบบห้องเรียนนี้ พวกเขาต้องได้รับการสั่งสอน ชี้นำ และเชื่อฟัง คณะผู้นำการประชุมหรือกลุ่มโปลิตบูโรเท่านั้น
ส่วนรัฐสภาไทย เมื่อเปรียบเทียบระหว่างอาคารรัฐสภาแห่งเดิมที่ถนนอู่ทองในกับห้องประชุมสุริยัน และห้องประชุมจันทรา ในรัฐสภาย่านเกียกกายนั้น มีลักษณะของการผสมผสานระหว่างแบบ 'ครึ่งวงกลม' กับ 'ห้องเรียน'
ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ประชาธิปไตยเพิ่งเริ่มต้น สถานที่จัดประชุมรัฐสภาแห่งแรกของไทยคือพระที่นั่งอนันตสมาคม ต่อมาเมื่อจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนมากขึ้นตามจำนวนประชากร เป็นเหตุให้จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐในเวลานั้น กราบบังคมทูลขอให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พระราชทานที่ดินบริเวณถนนอู่ทองใน มาก่อสร้างเป็นอาคารรัฐสภา ซึ่งถูกใช้เป็นรัฐสภาไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ 2517-2562
รัฐสภาอู่ทองในถูกออกแบบโดยสถาปนิกเอกของกรมโยธาธิการ พล จุลเสวก ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากอาคารรัฐสภาของบราซิล (Congresso Nacional do Brasil) ที่ออกแบบโดยสถาปนิกชื่อก้องโลก ออสการ์ นีเอไมเยร์ (Oscar Niemeyer) ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ไทยกำลังสร้างรัฐสภาใหม่นั้น บราซิลเริ่มทำการย้ายเมืองหลวงไปยัง กรุงบราซิเลีย พร้อมก่อสร้างสถานที่ทำการรัฐบาลหลายแห่งไปพร้อมๆกัน ด้วยสถาปัตยกรรมรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern architecture) ที่ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมสากล (International Style)
หากเราไปดูรูปแบบห้องประชุมทั้งสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภาในรัฐสภาบราซิล จะพบว่ามีลักษณะการจัดวางที่นั่งคล้ายคลึงกับรัฐสภาของไทยไม่มีผิด จึงอาจอนุมานได้ว่า ทั้งภายนอกและภายในของรัฐสภาไทย ที่เป็นรูปแบบห้องประชุมกึ่ง 'ครึ่งวงกลม' กึ่ง 'ห้องเรียน' นั้นได้รับต้นแบบมาจากห้องประชุมของสภาบราซิล
และเมื่อไปดูผลงานของนีเอไมเยร์ ซึ่งได้ร่วมออกแบบที่ทำการใหญ่ขององค์การสหประชาชาติในนครนิวยอร์กก็พบว่า ห้องประชุมสมัชชาใหญ่ของสหประชาชาตินั้น มีลักษณะกึ่ง 'ครึ่งวงกลม' กึ่ง 'ห้องเรียน' เช่นกัน
ทั้งนี้ ไม่ว่าห้องประชุมสภาไทยจะมีรูปแบบใด แต่สิ่งสำคัญเหนือแผนผังที่นั่งในสภาคือ กลไกทุกรูปแบบของรัฐ ที่ถูกกำหนดออกมาผ่านกระบวนการทางรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็น สส. หรือ สว. ซึ่งสร้างผลกระทบต่อประชาชนนั้น เป็นไปในรูปแบบประชาธิปไตยอย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่
ที่มา: parliamentbook.com , hansardsociety , washingtonpost , eservices.dpt.go.th , parliament.uk