สมัชชาคนจน (สคจ.) ร่วมกับ กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก เครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงาน และเครือข่ายแรงงาน ร่วมจัด “เวทีสัญจรพรรคการเมืองฟังเสียง คนจน” ครั้งที่ 2 ตอน “เสียงคนจน คนงาน” ที่บ้านหลุบบอน ต.เขาคันทรง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เพื่อให้ตัวแทนพรรคการเมือง ร่วมรับฟังปัญหาจากกลุ่มแรงงานภาคตะวันออก จังชลบุรีและใกล้เคียง ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีประชากรแฝงจำนวนมาก ในรูปแบบแรงงานในพื้นที่
โดยมีตัวแทน 6 พรรคการเมือง จากรัฐบาลและฝ่ายค้าน ประกอบด้วย นายประทุม สะไรรักษ์ ตัวแทนพรรคชาติไทยพัฒนา นายชวน ชูจันทร์ กรรมการบริหารพรรค พรรคพลังประชารัฐ มนตรี นายบุญจรัส รองโฆษกพรรคประชาชาติ นางสาวเบญจา แสงจันทร์ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ นายสุรินทร์ คำสุข ผช. ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ นายอมร อมรรัตนานนท์ พรรคประชาธิปัตย์ และ ร้อยตำรวจโทธงชัย นุหงส์ ตัวแทนพรรคเพื่อไทย เข้าร่วมพูดคุยหารือ และรับฟังปัญหาจากกลุ่มแรงงานสัมพันธ์ภาคตะวันออก
ซึ่งกลุ่มแรงงานสัมพันธ์ภาคตะวันออก เป็นการรวมตัวของสหภาพแรงงาน 41 แห่ง มีสมาชิกมากกว่าหมื่นคน โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานแรงงานภาคตะวันออก เพื่อรับเรื่องราวร้องทุกข์ พร้อมเป็นตัวแทนสมัชชาคนจน ซึ่งได้นำเสนอประเด็นปัญหาแก่ผู้แทนพรรคการเมือง ใน 3 ประเด็นปัญหาหลัก คือ
1. การเลิกจ้าง มี 2 ส่วน ส่วนแรก คือ เลิกจ้างรายบุคคล ส่วนมากแรงงานที่ถูกเลิกจ้างจะเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน รวมถึงแรงงานที่ตั้งครรภ์ ส่วนที่ 2 คือ การปิดกิจการของบริษัทโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า และมีเงื่อนไขในการจ่ายเงินชดเชย หรือไม่จ่ายค่าอะไรเลย ทำให้ลูกจ้างต้องไปฟ้องร้อง ทั้งสองส่วนนี้ เป็นปัญหาเรื้อรังที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข อีกทั้งยังไม่มีหลักประกันว่าจะได้ค่าจ้างหรือค่าชดเชยเมื่อใด บางกรณีต่อสู้ยืดเยื้อมากว่า 7 ปี แล้ว
2 ความเจ็บป่วยจากการทำงานไม่มีหมอเฉพาะทางอาชีวอนามัย แรงงานส่วนมากเมื่อเจ็บป่วยก็จะต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลทั่วไป ทั้งที่ความเจ็บป่วยอาจมาจากสภาพการทำงาน หรือการสะสมของสารพิษในร่างกายจากสภาพการจ้างงาน มีการเก็บข้อมูลว่าในบางโรงงานมีแรงงานหญิงตั้งครรภ์แท้งถึง 19 ราย มีบางโรงงานซึ่งผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ลูกจ้างมีปริมาณโลหะหนักประเภทตะกั่วสะสมในเลือดมีค่าเฉลี่ยถึง 90 PPM ทั้งที่ระดับมาตรฐานคือ 20 PPM สารตะกั่วมีผลกระทบต่อร่างกายและมีผลกระทบกับการสร้างเม็ดเลือด ประสาทสัมผัสเสื่อม โลหิตจาง ปวดท้องบิดตลอดเวลา สุดท้ายไตวาย และสมองอักเสบ และเสียชีวิตในที่สุด และการที่รัฐกำหนดนโยบาย Zero Accident ทำให้โรงงานปกปิดและให้ลูกจ้างออกเมื่อบาดเจ็บจากการทำงาน
3 การจัดสวัสดิการ และการรักษาพยาบาล มีกรณีการจ้างลูกจ้างเหมาค่าแรงทำงานเหมือนพนักงานปกติของโรงงานแต่ไม่ได้รับสวัสดิการ และเมื่อมีการเรียกร้องสวัสดิการก็เลิกจ้างลูกจ้างแบบเหมาค่าแรงทั้งหมด นอกจากนี้ โรงพยาบาลในพื้นที่มีไม่เพียงพอกับแรงงาน มีสัดส่วนของแพทย์ต่อผู้ป่วยถึง 1 : 12,000 คน
พร้อมทางออก 6 แนวทาง เพื่อแก้ปัญหาแรงงาน ประกอบด้วย
1. เสนอปรับปรุงแก้ไข พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
2. เสนอส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ ให้ความคุ้มครองกรรมการสหภาพแรงงาน สนับสนุนการรวมกลุ่มองค์กรลูกจ้าง ให้มีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์แรงงาน พร้อมได้รับการคุ้มครองจากรัฐ ในทางแพ่งและอาญา
3. เสนอขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ตามอัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของผู้ใช้แรงงาน ลูกจ้าง และครอบครัว
4. เสนอสนับสนุนให้สถานประกอบการจัดระบบความปลอดภัยการทำงาน และจัดสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับผู้ใช้แรงงานหรือลูกจ้าง
5. เสนอมาตรการป้องกันการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พร้อมมาตรการรองรับการเลิกจ้างที่เป็นธรรม
6. ตั้งคณะกรรมการ เพื่อทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานทุกฉบับ ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันโดยมีสมาชิกสมัชชาคนจน โดยต้องทบทวนกฎหมายแรงงานทุกๆ 5 ปี
หลังจากได้รับฟังสถานการณ์ของพื้นที่แล้วพรรคการเมืองได้แสดงความคิดเห็นในนามของพรรค โดยพรรคพลังประชารัฐเห็นว่าผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย นายจ้าง ลูกจ้าง ฝ่ายกฎหมายและผู้บังคับใช้กฎหมายต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหา พรรคอนาคตใหม่ จะนำเสนอร่างกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ และปรับปรุง 6 ประเด็นในกฎหมายแรงงานเดิม พรรคประชาชาติจะนำเอาปัญหาที่รับฟังไปตั้งกระทู้สดในสภา ตัวแทนพรรคชาติไทยพัฒนา จะเอาปัญหาไปรายงานหัวหน้าพรรคเพื่อสรุปและเสนอทางแก้ไขปัญหา ส่วนพรรคประชาธิปปัติย์มองว่าหากเรื่องใดที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะร่วม และจะผลักดันกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงาน
ทั้งนี้ นายบารมี ชัยรัตน์ ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน ระบุ ปัญหาเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่มีกฎหมายแรงงาน สภาพการจ้างงานมีความซับซ้อนมากขึ้น แต่กฎหมายไทยไม่สามารถตามทัน แม้จะปรับปรุงกฎหมายแต่ก็ยังไม่ทันต่อสถานการณ์ และ หากจะแก้ไขปัญหาแรงงานต้องให้มีการทบทวนกฎหมาย โดยต้องมีการรับฟังสภาพการจ้าง และคุ้มครองแรงงานในทุกปี
นายบารมี กล่าวว่า ปัญหาที่น่าห่วงคือกรณี หมอคนงาน หรือหมออาชีวะเวชศาสตร์ ซึ่งเป็นหมอเฉพาะทาง แต่ไม่มีความพยายามปฏิบัติให้เกิดขึ้น เพื่อป้องกันคนงานในการทำงานอย่างปลอดภัย พร้อมแนะควรมีองค์กรกลางที่สามารถเข้าไปตรวจสอบโรงงาน หรือเข้าไปตรวจพื้นที่โรงงานได้ และเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่แท้จริง ซึ่งองค์กรลักษณะนั้นต้องประกอบคณะกรรมการที่ประกอบด้วยคนงานที่สามารถเข้าไปตรวจสอบด้วยตัวเองว่าได้รับความปลอดภัยในการทำงานด้วยหรือไม่เพราะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง พร้อมยืนยันว่า จะจัดเวทีสัญจรต่อเนื่องทั่วประเทศ 11 จังหวัด 25 กรณีปัญหา เพื่อเชิญชวนให้ทุกพรรคการเมือง เข้าร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน และรับฟังปัญหาของชาวบ้าน ซึ่งยืดเยื้อยาวนาน ขาดความเข้าใจ และจริงจังในการแก้ปัญหา ก่อนที่จะจัดชุมนุมใหญ่ ในต้นเดือนตุลาคมนี้