ไม่พบผลการค้นหา
'เพื่อไทย' ฉุนมือดีปาระเบิดรถหาเสียงผู้สมัคร ปูดมีพรรคการเมืองเบื้องหลัง 'ประยุทธ์' มีเอี่ยวใช้อิทธิพลข่มขู่คุกคาม ส่อผิดถึงขั้นยุบพรรค

วันที่ 20 เม.ย. ที่พรรคเพื่อไทย ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค และ ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรค ร่วมกันแถลงข่าวกรณี เมื่อวาน (19 เม.ย.) เกิดเหตุรถหาเสียงของ ประชา ประสพดี ผู้สมัคร ส.ส.สมุทรปราการ เขต 7 เบอร์ 7 ถูกคนร้ายปาระเบิด 

ประเสริฐ กล่าวว่า ถือเป็นเคราะห์ดีที่เช้าวันนั้น ประชา ไม่ได้นั่งบนรถคันดังกล่าว เพราะเป็นรถหาเสียงที่นั่งเป็นประจำแทบทุกวัน การกระทำเช่นนี้ถือเป็นการคุกคาม ขู่เข็ญ ให้เกิดความหวาดกลัว ส่งผลให้การเลือกตั้งเกิดความไม่เป็นธรรม

ประเสริฐ ยังชี้ว่า ผู้กระทำผิดมีความเกี่ยวพันกับนักการเมืองซึ่งเกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรี จึงสมควรที่นายกฯ ต้องแสดงความรับผิดชอบ รวมถึงสถานะของนายกฯ ที่มีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องดำเนินการตรวจสอบและสั่งการอย่างเด็ดขาด ไม่ให้ปัญหานี้เป็นอันตรายต่อการเลือกตั้งในทุกเขตต่อไป

นอกจากนี้ พฤติกรรมของผู้กระทำความผิด เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายการเลือกตั้ง และกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง ใช้อำนาจคุกคามความสงบเรียบร้อย และอยู่ในอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการตรวจสอบเพื่อเอาผิดพรรคการเมืองและนักการเมืองที่อยู่เบื้องหลัง

ประเสริฐ ยังตั้งข้อสังเกตว่า หลังเกิดเหตุ ประชา ได้แจ้งความที่โรงพักพระสมุทรเจดีย์โดยทันที ซึ่งห่างจากจุดเกิดเหตุไม่เกิน 1 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางเพียง 5-7 นาทีเท่านั้น ทว่าหลังจากเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เวลาร่วม 30 นาทีในการเดินทางมา ควรมีการชี้แจงกรณีดังกล่าว และข้อกล่าวหาเบาเกินไป ไม่สมเหตุสมผล ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่มีลักษณะประสงค์เอาชีวิต

แต่เกรงว่าอาจจะใช้ข้ออ้างว่าผู้กระทำผิดมีอาการทางจิต ไม่ต้องรับความผิด แต่เมื่อสอบประวัติย้อนหลังพบว่า ในอดีต เคยทำความผิดเคยถูกโทษจำคุกไม่ได้เวลา 9 เดือนมาแล้ว ครั้งนั้นก็ใช้สาเหตุของอาการป่วยทางจิตมาอ้างเช่นกัน แต่ศาลไม่รับฟังจึงตัดสินจำคุกดังกล่าว

เมื่อถามว่าทางพรรคต้องยื่นหนังสือไปยัง กกต. หรือไม่ ประเสริฐ กล่าวว่า กรณีที่ปรากฏเป็นข่าวกว้างขวาง มองว่า กกต. สามารถเข้ามาดำเนินการได้เลย โดยที่พรรคการเมืองไม่จำเป็นต้องร้องขอใดๆ เพราะเป็นหน้าที่ของ กกต. โดยตรงอยู่แล้ว

ประเสริฐ ยังเผยว่า ความเกี่ยวข้องของผู้กระทำผิดนั้น พบว่าตัวผู้กระทำผิดเอง พร้อมทั้งสมาชิกครอบครัวทุกคน ได้ให้การสนับสนุนพรรคการเมืองหนึ่งที่นายกฯ มีส่วนเกี่ยวข้องมาโดยตลอด จึงมีเหตุให้สงสัย

ด้าน ภูมิธรรม กล่าวว่า ผู้กระทำผิดให้การยอมรับว่าเป็นหัวคะแนนของพรรคการเมืองหนึ่ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีส่วนเกี่ยวข้อง นายกฯ จึงต้องรับผิดชอบ และพิสูจน์ทราบให้ชัดเจนว่าจะจัดการปัญหานี้อย่างไร เช่นเดียวกับ กกต. ที่ต้องเข้ามาตรวจสอบ การกระทำเช่นนี้เป็นการทำลายบรรยากาศประชาธิปไตย ก่อให้เกิดความหวาดกลัวในช่วงการเลือกตั้ง

"งานนี้มีผู้กล่าวหานายกรัฐมนตรี ว่าใช้อิทธิพลกลไกอำนาจรัฐ โดยเฉพาะในภาคเหนือภาคอีสาน มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงระดับผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจ เรียกเจ้าหน้าที่ระดับผู้บังคับการ หรือสารวัตร เพื่อช่วยให้ผู้สมัครได้รับชัยชนะในเขตเลือกตั้งนั้น"

ภูมิธรรม ย้ำว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวนี้จะทำให้เกิดความไม่สบายใจต่อประชาชน ว่านายกรัฐมนตรีที่ตั้งใจจะสื่อสารอำนาจต่อ กระทำการฝ่าฝืนระบอบประชาธิปไตย ไม่ควรมีการใช้อิทธิพลกลการของรัฐเข้ามาข่มขู่คุกคามผู้สมัครที่มีความเห็นต่างทางความคิด

ขณะที่ ชูศักดิ์ ย้ำว่า กกต. ต้องไต่สวนและลงโทษ ถ้าเกี่ยวพันไปถึงพรรคการเมืองที่ไปส่งเสริมสนับสนุน หรือไม่ห้ามปรามว่ากล่าวการกระทำผิด หรือไม่ใช้มาตรการระงับยับยั้ง อาจจะถึงขั้นต้องยุบพรรคเพื่อรับผิดชอบ 

"กรณีมีพฤติกรรมที่ข้าราชการไม่เป็นกลาง เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือช่วยเหลือสนับสนุนใดๆ กฎหมายเลือกตั้งให้อำนาจ กกต. สั่งว่ามิให้กระทำเช่นนั้น เพราะทำให้การเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม หากสั่งห้ามแล้วไม่เชื่อฟัง ก็มีอำนาจเสนอย้ายข้าราชการเหล่านั้นออกจากพื้นที่"

ชูศักดิ์ ยังกำชับว่า หากผู้สมัครพรรคเพื่อไทย หรือพรรคอื่นๆ พบพฤติกรรมเช่นนี้ ที่ก่อให้เกิดความเสียหาย ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายไม่ให้เอาเปรียบกันในทางการเมืองด้วยอำนาจรัฐได้