ไม่พบผลการค้นหา
ขณะที่สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ยังไม่ลดความตึงเครียด นักสังเกตการณ์ด้านความมั่นคงต่างจับตาการที่ไทยจะเข้าร่วมซ้อมรบกับมาเลเซียและจีน หลังการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ซึ่งจะมีทั้งจีนและสหรัฐฯ เข้าร่วมถกเรื่องข้อพิพาทในทะเลจีนใต้

พื้นที่ทะเลจีนใต้อันเป็นพื้นที่ที่มีการอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนระหว่างจีนกับอีกหลายชาติ ได้กลายเป็นที่ที่มีการซ้อมรบและปฏิบัติการทางทหารบ่อยครั้งในช่วงที่ผ่านมา ล่าสุดในวันเสาร์ที่ 20 ต.ค.นี้ ไทยจะเข้าร่วมกับจีนและมาเลเซียซ้อมรบสามฝ่ายเป็นเวลา 10 วัน นับเป็นการซ้อมรบที่จะเกิดขึ้นในระหว่างที่มีการประชุมร่วมของรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ซึ่งจะมีตัวแทนของประเทศคู่ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้หลายรายเข้าร่วม รวมทั้งจีนและสหรัฐฯ 

เว็บไซต์เรดิโอฟรีเอเชียรายงานว่า กระทรวงกลาโหมของจีนชี้แจงว่า การซ้อมรบร่วมนี้เป็นการแสดงออกว่าสามประเทศยึดมั่นในพันธะที่มีร่วมกันในอันที่จะรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในทะเลจีนใต้ เพิ่มขีดความสามารถในอันที่จะร่วมมือกันต่อต้านภัยใดๆในอนาคต พร้อมยืนยันว่าไม่มีประเทศใดเป็นเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม เรดิโอฟรีเอเชียรายงานว่า พื้นที่ซ้อมรบจะมีขึ้นที่ช่องแคบมะละกา นอกชายฝั่งของมาเลเซีย ซึ่งพื้นที่นี้ไม่ได้อยู่ในเขตทะเลจีนใต้ แต่เป็นช่องทางผ่านระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกทางตอนใต้กับทะเลอันดามัน 

ปราชานท์ ปาราเมสสะวาราน จากศูนย์วูดโรว์วิลสันนานาชาติศึกษาสำหรับนักวิชาการในกรุงวอชิงตันของสหรัฐฯ ให้ความเห็นกับเว็บข่าวดังกล่าวว่า การซ้อมรบหนนี้เป็นความพยายามของจีนในอันที่จะเชื่อมต่อด้านการทหารกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจีนดำเนินการไปพร้อมๆ กับที่อีกด้านก็ทำกิจกรรมในทะเลจีนใต้ที่หลายคนเห็นว่าเป็นการบั่นทอนความมั่นคงในพื้นที่นี้ไปด้วย การดึงไทยเข้าร่วมได้นับว่าเป็นความสำเร็จ เพราะเป็นที่รู้กันว่าไทยนั้นใกล้ชิดกับสหรัฐฯ 

ทะเลจีนใต้

นอกจากนั้น หลังจากซ้อมรบร่วมกับไทยและมาเลเซียแล้ว จีนยังจะซ้อมรบทางทะเลร่วมกับประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกในระหว่าง 22 - 29 ต.ค.นี้ด้วย โดยการซ้อมรบจะทำในเขตน่านน้ำซานเจียงของจีน บิสสิเนสมิร์เรอร์ของฟิลิปปินส์รายงานว่า การคัดเลือกพื้นที่ซ้อมรบร่วมเป็นความพยายามของจีนและอาเซียนในอันที่จะหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่เป็นข้อพิพาท เว็บข่าวนี้ระบุว่าที่ผ่านมาในช่วงต้นปีมีการซ้อมรบร่วมครั้งใหญ่ Rim of Pacific ซึ่งในปีนี้สหรัฐฯ ไม่ได้เชิญจีนเข้าร่วมทั้งที่ปกติจีนมักเข้าร่วม จีนยังพยายามจะเข้าร่วมซ้อมรบกับฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย แต่สองรายหลังปฏิเสธ

ด้านซีเอ็นเอ็นรายงานว่า เมื่อวันอังคารที่ผ่านมากองทัพอากาศสหรัฐฯ ที่เกาะกวมได้ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดบี 52 จำนวนสองลำขึ้นบินเหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้โดยอ้างว่าเป็นการฝึกซ้อมปกติ สหรัฐฯ อ้างว่าต้องการแสดงออกในอันที่จะรักษาพื้นที่เชื่อมต่อน่านน้ำอินโด-แปซิฟิกให้เป็นพื้นที่เปิดสำหรับนานาชาติ 

การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนมีเค้าจะกลับกลายเป็นพื้นที่การพบปะกันระหว่างรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯและจีนที่ก่อนหน้านี้ยกเลิกไปหลังจากที่เรือรบสองฝ่ายเกือบปะทะกัน

ในระหว่างนี้รัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนก็มีกำหนดประชุมกันที่สิงคโปร์ระหว่าง 18-20 ก.ย. ซึ่งไทยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม เข้าร่วม คาดหมายกันว่าที่ประชุมจะหารือเรื่องปัญหาในทะเลจีนใต้ควบคู่ไปกับอีกหลายเรื่อง แต่นักสังเกตการณ์ไม่คาดหมายว่าที่จะสามารถตกลงอะไรกันได้ในเรื่องทะเลจีนใต้ การประชุมดังกล่าวมีเค้าจะกลับกลายเป็นพื้นที่ของการพบปะกันระหว่างรัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐฯและจีน ซึ่งก่อนหน้านี้มีกำหนดจะประชุมร่วมกันในกรุงปักกิ่ง ทว่าได้ยกเลิกไปหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ที่เรือรบของทั้งสองฝ่ายเกือบจะปะทะกันเมื่อเดือน ก.ย.ในทะเลจีนใต้ โดยสหรัฐฯ เปิดเผยว่าจีนเป็นฝ่ายขอยกเลิก 

รายงานของสื่อระบุด้วยว่าการขยายพื้นที่และการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ที่อ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองของจีนนอกจากจะทำให้ประเทศรอบทะเลจีนใต้วิตกกังวลแล้ว ยังดึงความสนใจจากประเทศอื่นๆ ที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯเข้าสู่พื้นที่นี้ด้วยไม่ว่าจะออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ อังกฤษ และฝรั่งเศส สองประเทศหลังต่างก็ซ้อมรบในพื้นที่ทะเลจีนใต้ ซึ่งทั้งหมดนี้นักสังเกตการณ์ให้ความเห็นว่าทำให้จีนไม่พอใจและแสดงออกด้วยการนำเรือพิฆาตออกปฏิบัติการ ทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันกับเรือพิฆาตของสหรัฐฯ จนหวุดหวิดจะปะทะกันดังกล่าว

ญี่ปุ่นเองนั้น นสพ.เจแปนไทมส์รายงานว่าในวันนี้มีเรือรบสองลำเข้าเทียบท่าที่สิงคโปร์หลังจากที่ลาดตระเวนในน่านน้ำอินโด-แปซิฟิกมาร่วมสองเดือน แต่ญี่ปุ่นยืนยันว่าการที่เรือของตนเทียบท่าสิงคโปร์ในช่วงที่มีการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนเป็นเพียงเรื่องบังเอิญ ก่อนหน้านี้สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานไว้ว่า เมื่อ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้ซ้อมรบซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการส่งเรือดำน้ำชื่อ 'คุโรชิโอะ' เข้าร่วม ญี่ปุ่นอ้างว่าไม่มีประเทศใดเป็นเป้าหมายเป็นพิเศษ แต่ก็ทำให้จีนแสดงความไม่พอใจ

เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานไว้ว่า ความตึงเครียดในพื้นที่ทะเลจีนใต้ทำให้สมาชิกอาเซียนวิตกอย่างหนัก ก่อนหน้านี้จีนกับอาเซียนบรรลุข้อตกลงกันได้ในการยกร่างหลักปฏิบัติสำหรับทะเลจีนใต้เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาหลังจากที่เจรจากันมากว่าสิบปี แต่ก็เชื่อกันว่ายังจะใช้เวลาอีกนานกว่าที่จะมีการนำหลักปฎิบัตินี้มาใช้และที่สำคัญความตกลงนี้เป็นเพียงข้อเสนอแนะที่ไม่มีผลในการบังคับ ส่วนการซ้อมรบทางทะเลของจีนกับอาเซียนนั้นก็เชื่อว่าเป็นเพียงมาตรการสร้างความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน สิ่งที่ชาติอาเซียนพยายามทำจึงเป็นการพยายามกระชับความสัมพันธ์กับอีกหลายประเทศพร้อมทั้งเพิ่มศักยภาพทางทหารให้กับตัวเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: