“พ่อแม่อยากให้ฉันใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบ อย่าหาเรื่องใส่ตัว แต่ฉันว่าในสังคมมีปัญหาอีกหลายอย่างที่เราควรจะพยายามแก้ไข ฉันต้องรับผิดชอบต่อสังคมแทนที่จะสนใจแต่ชีวิตตัวเอง” นักศึกษาจีนวัย 21 ปี จากมหาวิทยาลัยเหรินหมิน ในกรุงปักกิ่ง กล่าว
ชาวจีนรุ่นใหม่เติบโตมาท่ามกลางความรุ่งโรจน์ทางเศรษฐกิจอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และกลายเป็นพยานรับรู้ถึงความไม่เท่าเทียมที่มากขึ้น รวมถึงการละเมิดสิทธิแรงงานเช่นกัน พร้อมๆ กันนั้น สถานศึกษายังได้สอนแนวคิดของคาร์ล มาร์กซ์ เกี่ยวกับการกดขี่ของทุนนิยมไปด้วย
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พรรคคอมมิวนิสต์จีนเพิ่มความสำคัญของการสอนแนวคิดมาร์กซิสต์ให้นักศึกษาทุกคน และลดความสำคัญของแนวคิดประชาธิปไตย และในปี พ.ศ. 2559 สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีนเอง ก็ได้ประกาศย้ำเจตนารมณ์ที่จะให้มหาวิทยาลัยเป็นฐานที่มั่นในการเผยแพร่แนวคิดผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน
นี่คือวิธีการที่รัฐบาลจีนพยายามจะควบคุมนักศึกษาในระดับอุดมการณ์ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุประท้วง โดยนักศึกษาฝักใฝ่ประชาธิปไตยอย่างการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน พ.ศ. 2532 ซึ่งจบลงด้วยการนองเลือด ทว่าความพยายามดังกล่าวกลับทำให้เกิดกลุ่มนักเคลื่อนไหวกลุ่มใหม่ขึ้น
นักศึกษาชาวจีนหันมาใช้เวลาว่างร่วมกับแรงงานรายได้ต่ำอย่างพนักงานรักษาความปลอดภัย หรือกรรมกรก่อสร้าง ช่วยภารโรงในโรงอาหารเก็บ และทำความสะอาดถาดอาหาร ซ่อมมือถือให้ จัดงานฉายหนังให้พนักงานเข้าร่วม ฟรีคลินิก โรงเรียนภาคค่ำ กลุ่มเต้นรำ และกินข้าวสังสรรค์ร่วมกันกับแรงงาน เยาวชนกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่าเป็นกลุ่มมาร์กซิสต์ที่สนับสนุนอุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่ทางการไม่คิดเช่นนั้น
ช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา มีกลุ่มนักศึกษาหลายสิบชีวิตได้เดินทางไปยังมณฑลกวางตุ้ง เพื่อสนับสนุนแรงงานในการจัดตั้งสหภาพแรงงานโรงงานเจสิค เทคโนโลยีในเซินเจิ้น
“ในฐานะมาร์กซิสต์ สิ่งสำคัญที่สุดคือ การมีอารมณ์ร่วมไปกับแรงงาน และนับว่าความทุกข์ทนของพวกเขาคือความทุกข์ของเราเช่นกัน” นักศึกษามหาวิทยาลัยนานกิงผู้ร่วมสนับสนุนแรงงานกล่าว
กลุ่มนักศึกษาผู้ได้รับแรงบันดาลใจจากปรัชญาคอมมิวนิสต์ของคาร์ล มาร์กซ์ พบว่า อุดมคติที่เรียนรู้มาไม่สัมพันธ์กับสภาพความเป็นจริงของประเทศจีนที่อยู่ภายใต้ชื่อคอมมิวนิสต์ พวกเขาจึงเคลื่อนไหวโดยวางตัวเป็นผู้รักษาแนวคิดของมาร์กซ์และเหมา ด้วยการปกป้องแรงงานจากการถูกกดขี่ พร้อมยืนยันว่าพวกเขาอยู่ข้างเดียวกับรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีน และศึกษาการลงพื้นที่ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเป็นแบบอย่าง
ทว่ากลุ่มนักศึกษาที่ร่วมประท้วง ณ โรงงานในเซินเจิ้นกลับถูกบีบให้ออกจากพื้นที่ดังกล่าวพร้อมถูกกักบริเวณเป็นเวลาหลายสัปดาห์ พร้อมมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งอย่างน้อยสองรายหายตัวไปหลังถูกคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อเดือนสิงหาคม และสัปดาห์ที่ผ่านมานักกิจกรรมอย่างน้อย 16 คนหายตัวไปเช่นกัน ในสัปดาห์นี้ ทางมหาวิทยาลัยปักกิ่งเองได้ออกมาเตือนไม่ให้นักศึกษาเข้าร่วมกับการประท้วงของแรงงาน
“ฉันคิดว่าสิ่งที่พวกเราทำควรจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสิ เราโตมาในประเทศสังคมนิยมนะ มหาวิทยาลัยเหรินหมินก็สอนให้พวกเรายืนหยัดเพื่อแรงงาน” นักศึกษามหาวิทยาเหรินหมินเล่าว่าเธอรู้สึกอึ้งและโกรธกับสิ่งที่เกิดขึ้น
พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ดำเนินการปราบปรามการเคลื่อนไหวกิจกรรมทุกรูปแบบที่สั่นคลอนอำนาจของรัฐบาล และกระแสมาร์กซิสต์ที่เยาวชนชาวจีนได้รับการสั่งสอน และรับมาเชิดชูตามนโยบายของทางการกลับกลายเป็นภัยคุกคามใหม่ในสายตาของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเสียเอง
“มหาวิทยาลัยปักกิ่งเป็นแห่งแรกที่เผยแพร่ และศึกษาแนวคิดมาร์กซิสต์ในจีน นับว่าเป็นการสนับสนุนที่ดียิ่งต่อการแผยแพร่แนวคิดมาร์กซิสต์ และรากฐานของพรรคคอมมิวนิสต์จีน” สี จิ้นผิงกล่าวเมื่อเยือนงานครบรอบ 200 ปี ชาตะกาล คาร์ล มาร์กซ์ ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งในต้นปีนี้
ที่มา: