ไม่พบผลการค้นหา
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดไข 3 ปัจจัยพึงระวัง เขย่าเศรษฐกิจไทยปี 2562 การเลือกตั้งปี 2562-ดอกเบี้ยขาขึ้น-เกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง จากรายได้ท่องเที่ยวน้อยลง

นายทิม ลีฬหะพันธ์ นักเศรษฐศาสตร์ ประจำธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวถึงปัจจัยกระทบเศรษฐกิจไทยปี 2562 ว่าประการแรก คือการเลือกตั้ง ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่การเลือกตั้งจะผ่านไปได้ด้วยดี และจะผลต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของเศรษฐกิจไทยและส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติในตลาดทุน

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาก็ไม่ได้มีผลมากนักกับโครงการที่รัฐบาลปัจจุบันผลักดันหรือวางแผนไว้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2560 เปิดทางให้รัฐบาลสามารถผลักดันโครงการขนาดใหญ่ให้ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง แม้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในภายหลังจากข้อผูกพันของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ธนาคารสเตนดาร์ดชาร์เตอร์ดมองว่า เศรษฐกิจของไทยในปีนี้และอีกสองปีข้างหน้าจะได้รับแรงหนุนจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ตามที่รัฐบาลวางไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งส่งผลดีให้มีการลงทุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่องเพื่อชดเชยกับหนึ่งทศวรรษที่หายไปที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยสะดุดลงไปจากวิกฤตทางการเมืองระหว่างปี 2548 – 2557

คสช.คิด นักการเมืองทำ ยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี: FULL EP

แผนพัฒนาเศรษฐกิจตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ทางธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดหยิบขึ้นมาพูดถึงมีทั้งหมด 4 แผนคือ

(1) การเป็นพันธมิตรกับประเทศในภูมิภาค CLMV ประกอบด้วยกัมพูชา, ลาว, เมียนมา และเวียดนาม โดยใช้ประโยชน์จากทางภูมิศาสตร์ที่ประเทศไทยตั้งอยู่ตรงกลางเพื่อส่งออกสินค้าไปยังประเทศต่างๆ เหล่านั้น โดยในปี 2561 การส่งออกจากประเทศไทยไปยังประเทศ CLMV เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 ซึ่งมีสัดส่วนที่มากกว่าการส่งอออกของไทยไปยังประเทศใหญ่ๆ อย่างสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น หรือ จีน

(2) การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง กระทรวงคมนาคมโดยมีเม็ดเงินที่มาจากโครงการต่างๆ มีมูลค่าสูงถึง 700,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 10 ของจีดีพี และ 2 ปีข้างหน้าจะเป็นสองปีสำคัญในการเบิกจ่ายงบประมาณมาดำเนินการโครงการเหล่านี้

(3) ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยตอนนี้ชูขึ้นมาด้วยโครงการรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมสนามบิน 3 แห่ง คือ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา ปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงประมูลราคากันอยู่ โดยรัฐบาลหวังว่าจะสามารถประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูลได้ภายในต้นปีหน้า

(4) ไทยแลนด์ 4.0 การยกระดับประเทศให้กลายเป็นประเทศที่ยืนอยู่บนอุตสาหกรรมที่ใช้ทักษะสูง ซึ่งธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ดเชื่อว่ายังต้องใช้เวลาอีกสักพักในการเชิญชวนให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ธนาคารเชื่อว่าประเทศไทยกำลังเดินไปถูกทาง เพราะเศรษฐกิจโลกตอนนี้กำลังเผชิญกับสงครามการค้าซึ่งอาจทำให้นักลงทุนมองหาสำนักงานใหญ่ใหม่ และ ไทยแลนด์ 4.0 อาจจะเป็นหนึ่งในปัจจัยดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในไทยได้

ทั้งนี้ เมื่อถามว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของเศรษฐกิจไทยได้ไหม นายทิมตอบว่า ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจนั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เพราะหนทางการแก้ปัญหาต่างๆ เช่น การปฏิรูปการศึกษา, การส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง หรือการยกระดับเกษตรกรนั้น ล้วนต้องใช้เวลาทั้งสิ้น

ถึงเวลาที่แบงก์ชาติต้องปรับดอกเบี้ยแล้วหรือ

นายทิมกล่าวด้วยว่า ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเริ่มปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 1.50 เป็นร้อยละ 1.75 ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ เนื่องจากมีสัญญาณความกังวลในที่ประชุมชัดเจน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยังมีความกังวลในเรื่องเงินบาทแข็งค่า ดังนั้น ธปท. ไม่น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันในการประชุมเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม


“เราคาดว่าดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ร้อยละ 2.25 ณ สิ้นปี 2562 โดย ธปท. จะขึ้นดอกเบี้ยหนึ่งครั้งในครึ่งปีแรกของปีหน้า และอีกหนึ่งครั้งในครึ่งปีหลัง” นายทิม กล่าว

สาเหตุที่ ธปท. ไม่ได้ดำเนินนโยบายคล้ายคลึงประเทศในแถบเอเชียอื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย อินเดีย ฟิลิปปินส์ ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงนั้นมาจากเหตุผลที่ว่า แม้เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับสงครามการค้าที่เริ่มเปิดตัวในไตรมาสที่สองของปีนี้ และผลกระทบจากปัญหาในตุรกีและประเทศในทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินของหลายประเทศอ่อนตัวลงมาก เช่น อินเดียที่ค่าเงินรูปีติดลบร้อยละ 12.8 ในปี 2561 ในทางตรงกันข้าม เงินบาทไทยนั้นติดลบเพียงร้อยละ 0.8 ในปี 2561 โดยหากมองไปที่ไตรมาสที่สามซึ่งหลายๆ ประเทศได้รับผลกระทบจากปัญหาในตุรกีและละตินอเมริกา เงินบาทไทยยังแข็งค่าอยู่ที่บวกร้อยละ 2.4 เพราะต่างชาติมองว่าไทยยังเป็นที่ปลอดภัย

สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้ ธปท. ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 3 ครั้ง ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดมองว่า เพราะธนาคารกลางของสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 5 ครั้งในปี 2561 – 2562 ซึ่ง ณ ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของไทยเทียบกับสหรัฐฯ ต่างกันค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าไทยจะยังคงเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพและความปลอดภัยมาก แต่ถ้าไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเลย ส่วนต่างก็จะกว้างขึ้นไปอีก ส่งผลให้เกิดเงินทุนไหลออกนอกประเทศได้

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดมองว่าแม้ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อของไทยซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.5 จะยังไม่ถึงเป้าของแบงก์ชาติซึ่งกำหนดไว้ที่ 2.5 อาจทำให้เกิดข้อสังเกตว่าจะขึ้นอัตราเงินเฟ้อได้อย่างไร

นายทิมชี้ว่า กรณีนี้ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะเข้ามามีบทบาทในอัตราเงินเฟ้อของไทย โดยหลังจากนี้ไปราคาน้ำมันที่สูงอยู่ในปัจจุบันจะทำให้เงินเฟ้อของไทยเพิ่มขึ้นเป็นเหตุผลให้แบงก์ชาติสามารถปรับดอกเบี้ยขึ้นได้

ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดลงจากแรงกดดันด้านการท่องเที่ยว


นักท่องเที่ยวจีน.jpg

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดคาดว่า การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจะลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 7.0 ของจีดีพีในปี 2562 จากความเสี่ยงในภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาที่มีอุบัติเหตุเรือล่ม นักท่องเที่ยวจีนยังไม่ฟื้นตัว ตัวเลขโดยประมาณของนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงไปในเดือนกรกฏาคม สิงหาคม และกันยายน อยู่ที่ร้อยละ 5, 10 และ 20 ตามลำดับ โดยจากการคาดการณ์ตัวเลขนักท่องเที่ยวในปีหน้า จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยทั้งหมด 40 ล้านคน ในจำนวนนี้คาดว่าจะมีชาวจีนถึง 9.18 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 30 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด หากประเทศไทยยังไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นจากนักท่องเที่ยวจีนกลับมาได้ ไทยจะเผชิญหน้ากับปัญหาการลดลงของดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างแน่นอน

หากมองให้ชัดในแง่มูลค่านั้น โดยปกตินั้นไทยมีรายได้จากภาคการท่องเที่ยวต่อปีอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งร้อยละ 30 ที่มาจากจีนนั้นคิดเป็นมูลค่า 5 แสนล้านบาทหรือประมาณร้อยละ 5 ของจีดีพี ดังนั้นนักท่องเที่ยวจีนจึงมีผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ จุดขายที่ทำให้เราเคยผ่านวิกฤตมาได้อย่างในช่วงที่มีปัญหาเรื่อ���ตุรกีหรืออเมริกาใต้ที่ทำให้นักลงทุนยังเชื่อมั่นว่าบัญชีเดินสะพัดของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีจากการท่องเที่ยวที่โดดเด่น บางทีในปีหน้าอาจจะไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่เห็นนโยบายที่ชัดเจนออกมา