ไม่พบผลการค้นหา
ทางการไทยเผยยุทธวิธีสานสัมพันธ์กับคู่ค้าสำคัญอย่างอียู หลังจากอียูประกาศฟื้นฟูสัมพันธ์ทุกระดับอีกครั้ง เพราะไทยกำลังเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง โดยไทยจะใช้กลยุทธสานสัมพันธ์เป็นรายประเทศ เน้นอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นหลัก

เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ไม่นานหลังจากที่นายกรัฐมนตรีไทยประกาศระหว่างการเดินทางเยือนสหรัฐฯ และพบกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2018 สหภาพยุโรปได้ออกแถลงการณ์ระบุว่าจะฟื้นฟูความสัมพันธ์ทุกระดับกับไทยอีกครั้ง เนื่องจากมีแนวโน้มว่าไทยกำลังกลับสู่ประชาธิปไตย และมีโรดแมปไปสู่การเลือกตั้งที่ชัดเจนที่สุดนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2014

แม้ขณะนี้ การกำหนดวันเลือกตั้งจะกลับสู่ความไม่แน่นอนอีกครั้ง เมื่อมีการเลื่อนการบังคับใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรออกไปเป็น 90 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนไปเป็นปี 2019 แต่ทางการไทยก็ประกาศยุทธศาสตร์การฟื้นฟูและกระชับความสัมพันธ์กับคู่ค่าสำคัญอย่างสหภาพยุโรป โดยการใช้การเจรจาเป็นรายประเทศ มุ่งเน้นที่ประเทศสำคัญๆอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรงพาณิชย์ เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ว่านายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ได้กำชับว่าปี 2018 เป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับอียู โดยสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งวางโครงการเดินหน้าเจรจา FTA ระหว่างไทยกับอียูที่ค้างมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร และวางแผนการส่งผู้แทนไทยไปเยือนประเทศในยุโรปด้วย เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน 

นางอรมนยังกล่าวด้วยว่าไทยและสมาชิกอียูหลายประเทศมีการติดต่อใกล้ชิดกันอยู่แล้ว เช่นฝรั่งเศส คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือกกร. มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสมาพันธ์ผู้ประกอบการที่ใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศส Mouvement des Entreprises de France (มูฟมองต์ เด ซองเตอพรีซ์ เดอ ฟรองซ์) มีการจัดเวทีเสวนากันทุกปี เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ไทยและฝรั่งเศสที่ประชุมร่วมกันทุกปีเช่นเดียวกัน ส่วนในกรณีของอังกฤษ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกำลังจับตาดูความคืบหน้าการเจรจาเงื่อนไจการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ ก่อนจะเดินหน้าเจรจา FTA กับอังกฤษต่อไป

การเจรจา FTA ระหว่างไทยกับอียูเพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน เริ่มมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2013 ในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่หยุดชะงักไปเมื่อเกิดการรัฐประหารในประเทศไทยในปี 2014 และในปี 2015 อียูก็ประกาศว่าจะไม่ลงนามในสนธิสัญญาใดๆกับไทย จนกว่าจะมีการเลือกตั้งและได้รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยมาบริหารประเทศ 

ทั้งนี้ อียูเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 4 ของไทย และเป็นผู้ลงทุนใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น ในปี 2016 อียูลงทุนในไทย 6,700 ล้านดอลลาร์ หรือ 210,000 ล้านบาท ผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดคือเยอรมนี อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และอิตาลี ส่วนการค้า ไทยส่งออกไปอียู 22,000 ล้านดอลลาร์ และนำเข้า 18,000 ล้านดอลลาร์ มูลค่าการค้ารวมในปี 2016 คือ 40,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 1.2 ล้านล้านบาท