ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มผู้สนับสนุนการแยกแคว้นกาตาลูญญาออกจากสเปนร่วมรำลึกวันครบรอบ 1 ปีการลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์เมื่อ 1 ต.ค.ปีที่แล้ว แต่ผลสำรวจบ่งชี้ว่า การลงประชามติมีส่วนให้ประชาชนสเปนแตกแยกกัน แต่กลุ่มสนับสนุนเอกราชยืนยันจะสู้ต่อ

สำนักงานตำรวจในแคว้นกาตาลูญญาของสเปนประเมินว่าประชาชนที่มาร่วมชุมนุมที่นครบาร์เซโลนา เมืองเอกของแคว้น เพื่อรำลึกถึงการลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชจากสเปน ซึ่งครบรอบ 1 ปีเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา มีจำนวนกว่า 180,000 คน และการชุมนุมเริ่มขึ้นอย่างสงบ ก่อนจะเกิดเหตุปะทะระหว่างผู้ชุมนุมบางกลุ่มกับตำรวจ นำไปสู่การจับกุมผู้ก่อเหตุ 6 ราย และมีผู้บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง

กิม โตรา ประธานาธิบดีคนใหม่ของแคว้นกาตาลูญญา เป็นตัวแทนกลุ่มเรียกร้องเอกราชกาตาลูญญา ประกาศว่าจะเดินหน้าผลักดันให้เกิดการลงประชามติรอบใหม่ โดยระบุว่าครั้งนี้จะดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายของสเปน หลังจากการลงประชามติครั้งที่แล้วถูกศาลสูงสเปนตัดสินว่า 'ขัดต่อรัฐธรรมนูญ' และให้เป็นโมฆะ โดยระบุว่า 'การแบ่งแยกดินแดน' เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ แต่ประธานาธิบดีกาตาลูญญาคนใหม่ก็ไม่อาจบอกได้ว่าจะดำเนินการอย่างไรให้การลงประชามติดำเนินไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ทั้งนี้ การลงประชามติกาตาลูญญาเป็นหนึ่งในวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่รุนแรงในยุโรปเมื่อปีที่ผ่านมา เพราะหลายเขตปกครองในประเทศแถบยุโรปมีความเคลื่อนไหวที่จะเรียกร้องเอกราชตามรอยการกาตาลูญญา ส่งผลให้สหภาพยุโรปประกาศอย่างชัดเจนว่าจะไม่เป็นตัวกลางเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างกลุ่มเรียกร้องเอกราชกาตาลูญญาและรัฐบาลกลางของสเปน เพื่อแสดงออกชัดเจนว่าสหภาพยุโรปไม่สนับสนุนและไม่รับรองการประกาศเอกราชของกาตาลูญญา โดยถือว่าเป็นการแทรกแซงเสถียรภาพและความมั่นคงของสเปน

"ประชาชนแตกแยกหลังประชามติ"

แม้จะผ่านไป 1 ปี การเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชกาตาลูญญายังไม่แผ่วลงไป แต่ขณะเดียวกันก็ไม่มีความหวังมากนัก แม้จะเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีสเปนจาก 'มาเรียโน ราฆอย' เป็น 'เปโดร ซานเชซ' ซึ่งมีท่าทีประนีประนอม และพร้อมเจรจาทางการเมืองกับรัฐบาลกาตาลูญญามากขึ้น แต่พรรคฝ่ายค้านที่สนับสนุนแนวคิดชาตินิยมและต่อต้านการประกาศเอกราชจะเป็นอุปสรรคสำคัญไม่ให้รัฐบาลกลางสเปนเจรจากับฝ่ายเรียกร้องเอกราช

นอกจากนี้ ผลสำรวจความเห็นของประชาชนกาตาลูญญาที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา บ่งชี้ว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่รู้สึกว่าสังคมแตกแยกร้าวลึกหลังการลงประชามติ และมีผู้ที่เริ่มไม่มั่นใจมากขึ้นว่า การเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชจะสำเร็จลุล่วงไปได้จริง 

AFP-กาตาลัน-คาตาลัน-กาตาลุญญา-กาตาลูญญา-สเปน

(ผู้ร่วมชุมนุมรำลึก 1 ปีประชามติ นำภาพของแกนนำเรียกร้องเอกราชกาตาลูญญาที่ถูกคุมขังในเรือนจำมาร่วมพิธี)

อย่างไรก็ตาม แม้ตัวแทนทางการเมืองในแคว้นกาตาลูญญาจะประกาศเดินหน้าเรียกร้องเอกราช แต่ขณะเดียวกันก็พร้อมเจรจาต่อรองกับรัฐบาลกลางหลังการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ขณะที่รัฐบาลกลางมีท่าทีผ่อนปรน เห็นได้จากการพิจารณาถอนหมายจับอินเตอร์โพลที่มีต่อแกนนำรัฐบาลท้องถิ่นกาตาลูญญาซึ่งกำลังลี้ภัยในต่างประเทศ แต่ก็ทางกับฝ่ายประชาชนที่ยังสนับสนุนการแยกตัวจากสเปน ทั้งยังมีความมุ่งมั่นและแข็งกร้าวมากกว่าฝ่ายการเมือง

ข้อบ่งชี้ถึงความมุ่งมั่นของประชาชน เห็นได้จากผลสำรวจความเห็นประชาชนเมื่อเดือน ก.ค. บ่งชี้ว่าร้อยละ 46.7 ของผู้ตอบแบบสอบถามยังคงเห็นด้วยกับการเรียกร้องเอกราช ส่วนร้อยละ 44.9 ไม่เห็นด้วย

"ไม่ลืม ไม่อภัย" จะไปทางไหนต่อ?

การรวมตัวเดินขบวนเพื่อรำลึกวันครบรอบ 1 ปีการลงประชามติ เต็มไปด้วยป้ายเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำเรียกร้องเอกราชที่ถูกจับกุมคุมขัง ทั้งยังมีป้ายข้อความ ข้อความ "ไม่ลืม ไม่อภัย" ซึ่งพาดพิงถึงกรณีอดีตนายกรัฐมนตรีมาเรียโน ราฆอย ออกคำสั่งให้ตำรวจ 10,000 นายนำกำลังเข้าขัดขวางการชุมนุมและการลงประชามติทั่วแคว้นกาตาลูญญาเมื่อปีที่แล้ว

สเปนยืนยันยึดอำนาจกาตาลูญญา 'ขอเวลาแค่ไม่นาน'

เจ้าหน้าที่ได้รับอนุญาตให้ใช้กระสุนยางยิงเข้าใส่กลุ่มผู้เรียกร้องเอกราช เป็นเหตุให้ราฆอยถูกโจมตีว่าใช้กำลังเกินกว่าเหตุ และผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้มีแค่กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ แต่ฝ่ายต่อต้านการลงประชามติก็ยังมีความเห็นว่ารัฐบาลใช้ท่าทีที่แข็งกร้าวเกินไป และเหตุการณ์ผ่านไป 1 ปี แต่สิ่งที่เห็นเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา บ่งชี้ว่าการต่อสู้ยังไม่จบลงง่ายๆ

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ประเมินว่าความเป็นไปได้สูงสุดที่กาตาลูญญาจะสามารถเรียกร้องหรือต่อรองกับรัฐบาลกลางของสเปนได้ อยู่ที่อำนาจในการบริหารจัดการทรัพยากรและงบประมาณในท้องถิ่นด้วยตนเอง เพราะที่ผ่านมา รายได้จากธุรกิจและการเก็บภาษีในแคว้นกาตาลูญญาจะต้องถูกส่งเข้าส่วนกลาง

แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่าระบบเศรษฐกิจของกาตาลูญญาและรัฐบาลกลางนั้นมีความเชื่อมโยงกัน จึงไม่สามารถแบ่งแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด และการประกาศเอกราชจะทำให้เกิดสภาวะขัดแย้งทางอำนาจ ซึ่งจะกระทบต่อธุรกิจเกือบทุกภาคส่วน โดยเฉพาะระบบการเงินการคลัง

ที่มา: BBC/ New York Times/ Time 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: