ครบ 1 เดือน โครงการ ‘ไทยนิยม ยั่งยืน’ ในระยะที่ 1 ในการรับฟัง ‘ความต้องการ’ ของประชาชนทุกหมู่บ้าน หลังรัฐบาลโดยฝ่ายปกครอง-ความมั่นคง ส่งเจ้าหน้าที่จัดเป็นชุดละ 7-12 คน ลงพื้นที่
หากสรุปประเด็นความต้องการภาพรวมจะพบว่าเป็นเรื่อง ‘ความเดือดร้อน’ ในชีวิตประจำวัน เช่น ความต้องการในปัจจัยสี่ ความเดือดร้อนจากปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม การต้องการอาชีพ รายได้เสริม เป็นต้น
โครงการไทยนิยมยั่งยืน มีหน่วยงานที่ต้องประมวลผล คือ กระทรวงมหาดไทย โดยจะต้องนำมาแยกว่าเรื่องใดอยู่ในแผนพัฒนาจังหวัด หรือ อบต. อยู่แล้ว เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกัน
แต่สิ่งนี้ไม่ใช่การ ‘ต้องการทราบ’ ครั้งแรกของรัฐบาล
เพราะก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. เคยทำ ‘โพลสำรวจ’ ผ่านคำถาม 10 ข้อมาแล้ว
ที่สำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ เปิดเผยว่า มีประชาชนไปตอบคำถามผ่านกระทรวงมหาดไทยแล้วกว่า 1.5 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้จบการศึกษาชั้น ป.4 แต่คนที่จบการศึกษาสูงไม่ค่อยมาตอบ และอยู่ในภาคเกษตรส่วนใหญ่ที่มาตอบ ซึ่ง 10 คำถามของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ถามกันตรงๆถึงเรื่อง ‘ประชาธิปไตย’ ที่ประชาชนต้องการ แม้ก่อนหน้านี้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าคำถาม ‘ชี้นำ’ หรือ ‘หวังผลทางการเมือง’ ก็ตาม
พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า สิ่งที่รับฟังมาจะปรับให้ ‘ตรงกลาง’ ที่สุด
แน่นอนว่าการทำ 10 คำถาม กับการลงพื้นที่ ‘ไทยนิยม ยั่งยืน’ คือการทำ ‘วิจัยพื้นที่’ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ไปเรียบร้อยแล้ว
น่าสนใจว่าผลของการทำสำรวจและวิจัยครั้งนี้ จะต้องมีการนำไปถกเถียงหรือชี้แจง ‘พรรคการเมืองเก่า-ใหม่’ ในเดือนมิ.ย.นี้ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะเชิญมาพุดคุย เพื่อให้แต่ละพรรคชี้แจงแผนพัฒนาประเทศแต่ละพรรคด้วย
ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการแทรกแซงพรรคการเมือง เพราะนโยบายพรรคถึงแม้จะไม่ต้องมาเปิดเผยเดือน มิ.ย.นี้ แต่หลังจากนั้นก็ต้องเปิดเผยกับประชาชนอยู่ดี จึงไม่ใช่เรื่องปิดลับอะไร ซึ่งตนก็ไม่ห้ามแต่ละพรรคนำนโยบายของตนที่เปิดเผยไปแล้วไปดำเนินการเลย อีกทั้งจะร่วมพูดคุยการ ‘ปลดล็อกพรรค’ และเรื่องกำหนด ‘วันเลือกตั้ง’ ด้วย
อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘แผนบันได 3 ขั้น’ ของ พล.อ.ประยุทธ์
บันไดขั้นแรก คือ รับทราบ ‘ข้อมูล’ ที่มีผลต่อการ ‘เลือกตั้ง’ ตั้งแต่ 10 คำถาม นายกฯ ถึงประชาชน ในการถามถึงมุมมอง ‘การเมือง-ประชาธิปไตย’
บันไดขั้นที่ 2 คือ โครงการ ‘ไทยนิยม ยั่งยืน’ โดยเข้าไปเจาะในแต่ละพื้นที่ถามถึง ‘ความเป็นอยู่-ความต้องการ’ เพื่อสนองให้ประชาชนในเวลาที่เหลืออยู่ตามโรดแมป
และบันไดขั้นที่ 3 สุดท้าย คือ การพูดคุยกับ ‘พรรคการเมืองเก่า-ใหม่’ เพื่อทราบ ‘ข้อมูล’ ของฝากฝั่งการเมืองว่ามีแนวทางอย่างไรกับอนาคต แต่มีการตั้งข้อสังเกตว่าจะเรียกมาเพื่อทำ ‘สัญญาใจ’ ใดๆ ก่อนเลือกตั้งหรือไม่ด้วย
ทั้งหมดนี้จึงเป็น ‘แผนบันได 3 ขั้น’ ที่สามารถนำมา ‘ต่อยอด’ เปลี่ยนเป็น ‘คะแนนเสียง’ หรือ ‘คะแนนนิยม’ ให้กับรัฐบาล-คสช. ได้ และชิงความ ‘ได้เปรียบ’ ก่อนเลือกตั้งนั่นเอง!
(พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมคณะลงพื้นที่ จ.หนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2561)
น่าสนใจว่า ‘โครงการไทยนิยม ยั่งยืน’ นั้นเปรียบเป็น ‘ครม.สัญจร’ ระดับท้องถิ่น เพราะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องลงพื้นที่ไปด้วย เช่น เรื่องป่าไม้ ก็มีหน่วยงานด้านป่าไม้ไปรับเรื่องเอง เรื่องน้ำ ก็มีหน่วยงานเรื่องน้ำไปรับเรื่องเอง เป็นต้น และมีรายงานว่าในระดับ ‘ท้องถิ่น’ ถูกเร่งให้ดำเนินงานเรื่องที่สามารถทำได้ทันทีอย่างเร่งด่วน หรือใช้งบสะสมของท้องถิ่นดำเนินการไปก่อนเลย
ที่สำคัญหากดู ‘ความต้องการ’ ของประชาชนจะพบว่าเป็นเรื่องพื้นฐานมากๆที่ควรจะแก้ได้นานแล้ว ทำให้ ‘เผือกร้อน’ ตกไปที่ ‘อบต.’ ทันที ที่กลายเป็น ‘จำเลย’ ว่าที่ผ่านมาเหตุใดจึงแก้ปัญหาให้ประชาชนไม่ได้ จนต้องให้โครงการ ‘ไทยนิยม ยั่งยืน’ มาแก้ปัญหาให้
แต่อีกด้าน ก็มีการมองว่า คสช. อยู่มาจะครบ 4 ปี และรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์อยู่มา 3 ปีกว่า เหตุใดปัญหายังคงมีอยู่
แน่นอนว่างานนี้ คสช. - รัฐบาล ได้เปรียบ อบต. เพราะชิงไหวชิงพริบได้ก่อนและคุมอำนาจอยู่ในเวลานี้ ซึ่งมีการประเมินไปอีกว่าจะเป็นการทำลาย ‘ฐานเสียง’ ระดับท้องถิ่นของ ‘กลุ่มหรือพรรคการเมือง’ หรือไม่ เพราะหัวคะแนนส่วนใหญ่ คือ นายกฯ อบต. นั่นเอง
อีกทั้งเป็นช่วงที่ คสช.-รัฐบาล อยู่ระหว่างการถูกโจมตีเรื่องปัญหาการ ‘คอรัปชั่น’ ในระบบราชการอย่างหนักในหลายๆโครงการ
ซึ่ง คสช.-รัฐบาล ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ จึงเกิดการปฏิบัติการข่าวสาร หรือ ไอโอ ขึ้น โดยเร่งระดมสมองในการสร้าง ‘ภาพลักษณ์’ คสช. ให้กลับมา ผ่านการ ‘เอาจริง’ ในการแก้ปัญหาเหล่านี้ และพยายามให้ชาวบ้าน ‘กล้าพูด’ มากขึ้น ในการ ‘แจ้งเบาะแส’ เพราะทหารจะเป็น ‘แบ็คอัพ’ ให้ด้วย เพื่อ ‘คุ้มครอง’ ให้รู้สึกปลอดภัย
ส่วนเรื่องการทุจริตในท้องถิ่นหรือในกระทรวงต่างๆ อาจมีทั้งมาเฟียและเจ้าถิ่นเกี่ยวข้อง การที่ คสช. เล่นบท ‘เผด็จการผู้อารี’ ย่อมทำให้ประชาชนกล้าออกมาแจ้งเบาะแส และกำราบ ‘มาเฟีย-เจ้าถิ่น’ ลงไปได้บ้าง แม้ที่จับกุมและดำเนินคดียังเป็นเพียง ‘ปลาซิวปลาสร้อย’ เท่านั้น
กรณีที่น่าสนใจ คือ การสั่งระงับโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 และบ้านพักข้าราชการศาลยุติธรรม บริเวณเชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ชั่วคราว ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่ารุกล้ำพื้นที่ป่าหรือไม่
แม้ได้รับการการอนุมัติมานานแล้ว ซึ่ง ‘องค์กรศาล’ ถือเป็น 1 ใน 3 ‘อำนาจอธิปไตย’ ที่ต้องมีการ ‘ถ่วงดุลอำนาจ’ กับอำนาจ ‘ฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติ’ จึงมีการมองว่าเป็นการ ‘งัดข้อ’ ที่สำคัญหรือไม่ หากมองให้ลึกกว่านั้น บริเวณนั้นเป็นที่ของทหาร คือ มณฑลทหารบกที่ 33 หากไม่ดำเนินการอาจเป็น ‘น้ำผึ้งหยดเดียว’ กับ ‘กองทัพ’ ได้ด้วย
ในช่วงเวลานี้ จึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของ คสช. ในการเร่ง ‘ฟื้นศรัทธา’ และ ‘กู้คะแนนนิยม’ จากประชาชน เพื่อ ‘บำบัดทุกข์ บำรุงสุข’ ในแบบฉบับ คสช. เอง
ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นถึงการ ‘ตั้งรับ’ ของ คสช. ที่เป็น ‘ระบบ’ และ ‘จัดการ’ หลายๆเรื่องพร้อมกัน ก่อนจะสายเกินแก้ !
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง