ตัวแทนกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา ลงนามในสัญญาซื้อขายเครื่องบินขับไล่รุ่น F-35 จากบริษัทล็อกฮีด มาร์ติน ผู้ผลิตอากาศยานและยุทโธปกรณ์รายใหญ่ของโลก รวม 141 ลำ เมื่อวานนี้ (28 ก.ย.) โดยถือเป็นการซื้อเครื่องบินเพิ่มเติมเพื่อนำไปใช้ในการลาดตระเวนของหน่วยนาวิกโยธินและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
สื่อหลายสำนักรายงานว่า ราคาซื้อขายเครื่องบิน F-35 ครั้งล่าสุดนี้ ลดลงเหลือลำละประมาณ 89-90 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 2,937- 2,970 ล้านบาท) หรือร้อยละ 5.4-7 ของราคาเดิม ซึ่งอยู่ที่ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3,300 ล้านบาท
บีบีซีของอังกฤษรายงานว่าเครื่องบินขับไล่ F-35 ขึ้นชื่อว่าราคาแพงที่สุดในโลก เพราะมีจุดแข็งด้านเทคโนโลยีพรางตัว ทำให้ระบบเรดาร์ไม่สามารถตรวจจับพิกัดเครื่องบินได้ ทั้งยังใช้ระยะทางก่อนขึ้นบินสั้นลงกว่าเดิม และสามารถลงจอดในแนวดิ่งได้ แต่ข้อเสียอยู่ที่ราคาแพงและมีปัญหาคลื่นรบกวนระบบสื่อสารของนักบิน
ขณะที่เดอะวอชิงตันโพสต์รายงานว่า การเซ็นสัญญาซื้อขายเครื่องบินขับไล่ F-35 ระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ และบริษัทล็อกฮีดฯ เกิดขึ้นในวันเดียวกับที่เครื่องบินขับไล่รุ่น F-35 ของหน่วยนาวิกโยธิน ร่วงลงกระแทกพื้น บริเวณฐานทัพในเซาท์แคโรไลนา แต่นักบินสามารถดีดตัวออกจากเครื่องได้ทันเวลา และยังไม่อาจระบุได้ว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เครื่องบินตก แต่เป็นไปได้ว่าเครื่องยนต์อาจขัดข้องหรือเกิดจากความบกพร่องของนักบิน แต่เหตุการณ์นี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปีที่เครื่องบิน F-35 โหม่งโลกพังยับเยิน
จิม แมททิส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ แถลงว่า เจ้าหน้าที่จะดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปรายงานการสอบสวนหาสาเหตุที่ทำให้เครื่องบินขับไล่รุ่น F-35 ตกลงกระแทกพื้นในครั้งนี้
ขณะที่สถิติอุบัติเหตุหรือเหตุขัดข้องที่เกิดกับเครื่องบินของกองทัพสหรัฐฯ ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 80 ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องสอบสวนต่อไปว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้สถิติดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้น และจะต้องหาทางแก้ไขหรือป้องกันต่อไป
ก่อนหน้านี้มีรายงานเหตุขัดข้องที่เกี่ยวกับเครื่องบินขับไล่ F-35 มาก่อน เช่น ท่อส่งออกซิเจนทำงานบกพร่อง และ เครื่องยนต์ติดไฟ ทำให้นักบินต้องนำเครื่องลงจอดฉุกเฉิน แต่เหตุการณ์เมื่อวานนี้เป็นครั้งแรกที่นักบินไม่สามารถควบคุมเครื่องบินได้และต้องสละเครื่อง
ปัจจุบัน กองทัพของประเทศต่างๆ ที่มีการสั่งซื้อหรือเป็นเจ้าของเครื่องบินรุ่น F-35 มีหลายประเทศด้วยกัน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร อิตาลี เนเธอร์แลนด์ ตุรกี แคนาดา ออสเตรเลีย เดนมาร์ก นอร์เวย์ อิสราเอล ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ แต่สหรัฐฯ ถือเป็นลูกค้าร้ายใหญ่ที่สุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: