เมื่อ 'ทหารการเมือง' ฝืนธรรมชาติ ยึดอำนาจบริหารประเทศ อยู่ยาวถึง 4 ปี มากกว่าวาระ 'รัฐบาลพลเรือน' ที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย
'พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร' อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) วิเคราะห์ทิศทางความมั่นคงและการเมืองผ่าน “วอยซ์ ออนไลน์” ชวนทบทวน 'บทบาทกองทัพ' นับจากรัฐประหาร 22 พ.ค. 57
ต่อด้วย 'ข้อครหา' การใช้ 'กอ.รมน. ฝังตัวในระบบการเมือง' จากคำสั่งคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 51/2560 เรื่อยไปจนถึงเสียง 'ปฏิรูปกองทัพ' ที่เริ่มดังขึ้น
พร้อม 'สืบสภาพ' กระแสการเมืองส่งท้าย เมื่อ 'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' หัวหน้าคสช.และนายกฯ เปลี่ยนปฏิทินเลือกตั้งอยู่หลายครั้ง ส่งผลสะเทือนต่อ 'กองทัพ'
ควบคู่นัด 'ดีเดย์' 5 พ.ค. 2561 กับม็อบเลือกตั้ง ชุมนุมขับ ไล่คสช.
จากนี้ไปคือ 'กระบวนทัศน์' ตามหลัก 'ประชาธิปไตย' ของ 'อดีตเลขาธิการ สมช.' ในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชุดสุดท้ายก่อนรัฐบาลทหาร คสช.จะเข้ามาครอบงำอำนาจการเมืองไทยจนถึงวันนี้
นับจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 57 มองบทบาทของกองทัพต่อการเมือง ในระบอบประชาธิปไตยอย่างไร
นี่คือสภาพปัญหาของบ้านเมือง รากของปัญหาอยู่ตรงนี้ ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อรัฐประหาร ความจริงถูกอำพรางไว้ ที่พูดกันไม่ใช่ความจริง ทำให้เกิดความรู้สึก เหมือนมีกรรมการเข้ามาคลี่คลายจัดการสถานการณ์ แต่ในข้อเท็จจริง ประชาชนในซีกประชาธิปไตย ไม่เฉพาะแค่ในประเทศ ซึ่งรวมถึงต่างประเทศ ก็เข้าใจว่าจริงๆแล้ว ที่กรรมการบอกว่า ต้องคลี่คลายเพราะ 2 ขั้วจะปะทะกันนั้น ไม่ใช่กรรมการที่มาคลี่คลายหรอก
บ้านเมืองยอมรับเรื่องการเปลี่ยนผ่าน ก็เลยเกิดการผ่อนเบาผ่อนหนักกันได้ จะเห็นว่า เมื่อผ่านพระราชพิธีสำคัญไป ปัญหาต่างไปจากก่อนหน้านั้นทันที เพราะมันชี้ให้เห็นว่า ปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไขอะไรไป รากของปัญหาคือ เรื่องการปกครอง รัฐบาลที่รัฐประหารยึดอำนาจมา ขาดความชอบธรรม ทำให้เดินลำบาก เมื่อตอนเกิดปัญหาขึ้น หากเราเจอผู้นำทางทหารที่มีศรัทธาและอุดมการณ์ตามระบอบประชาธิปไตยแล้ว การคลี่คลายสถานการณ์ และการใช้ทรัพยากรของกองทัพทั้งหมดที่มีอยู่ จะถูกใช้แก้ในแบบประชาธิปไตย
หากผู้นำทหารมีขีดความสามารถไม่พอจะคลี่คลายปัญหา ผู้นำทางทหารนั้นจะขอลาออกหรือขอปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้รัฐบาลตั้งผู้นำทางทหารคนอื่นเข้ามาคลี่คลายแทน มันเป็นสปิริต อย่างในสหรัฐฯ เราจะเห็นผู้นำทางทหารเขาปฏิญาณตนว่า จะปกป้องรัฐธรรมนูญ
การใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 51/2560 เรื่องการแก้ไขกฎหมาย กอ.รมน. ถูกตั้งข้อสังเกตว่า กองทัพกำลังฝังตัวอยู่ในระบบการเมืองต่อไป
นี่เป็นปัญหาที่สำคัญมาก กฎหมาย กอ.รมน. ถ้าเราไล่ย้อนประวัติศาสตร์ในอดีต การแก้ปัญหาคอมมิวนิสต์ ทำให้เกิดกฎหมายและกลไกการแก้ปัญหาขึ้น แต่ กอ.รมน. สมัยนั้น จัดตั้งโดยอำนาจฝ่ายบริหาร คือใช้ พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน ตั้ง กอ.รมน.ขึ้นมา เหมือนเป็นหน่วยเฉพาะกิจ แล้วมี พ.ร.บ.ป้องกันกระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นเครื่องมือทางกฎหมายให้ กอ.รมน.มาใช้ดำเนินการ เหมือนตำรวจ มีกฎหมายอาญา กับป.วิ.อาญา เป็นเครื่องมือ
พอสถานการณ์คอมมิวนิสต์หมด พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ก็หมด ฝ่ายทหารก็กังวลตรงนี้ จึงมีการเปลี่ยนกฎหมายคอมมิวนิสต์เป็นกฎหมายกอ.รมน. มันเป็นทั้งความกังวลและความตระหนักดี แต่ถามว่า ความจำเป็นที่ต้องควบคุมดูแล ความมั่นคงชายแดนหรือที่ลึกเข้ามา หรือภัยแทรกซ้อน ยังมีอยู่หรือไม่ ถ้าทหารไปสร้างให้องค์กรหรือกลไกอื่นเข้มแข็งร่วมกับเรา ไม่ใช่เฉพาะเรา กฎหมาย กอ.รมน.นี้จะมีประโยชน์ แต่พอทำเองทั้งหมด มันจึงเหมือนมี วาระซ่อนเร้น (Hidden Agenda) อยู่
ครั้งแรกมาเริ่มทำตอนรัฐบาลรัฐประหาร รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ต้องรีบออกกฎหมายตัวนี้มา เพราะกลัวกฎหมายนั้นหมดอายุ วิธีคิดอันใหม่มันก้าวล้ำจนเกินไป เนื้อหาไปบังคับการจัดตั้ง กอ.รมน. ซึ่งเมื่อก่อน กอ.รมน.เป็นหน่วยเฉพาะกิจใช้ โดยล่าสุดคือ ให้มี กอ.รมน.ขึ้นมา เป็นหน่วยพิเศษ ในการบรรจุข้าราชการ เดิมเป็นศูนย์เฉพาะกิจ มีข้าราชการฝ่ายประจำ ทำหน้าที่ แต่ความจริงแล้วคือ มีอีกหมวกหนึ่งคือ มาช่วยราชการในการปฏิบัติ กอ.รมน.
แต่คราวนี้เป็นหน่วยงานแล้ว ให้อำนาจดึงข้าราชการมาทำงาน ทำให้มี 2 รูปแบบคือ 1.ข้าราชการประจำ 2.มาช่วยราชการ ซึ่งหาก กอ.รมน.ร้องขอ หน่วยนั้นจะต้องให้ กอ.รมน.จะเป็นหน่วยงานพิเศษ เป็นได้ทั้งตำรวจ พลเรือน และทหาร แต่พอบรรจุไปบรรจุมา 90 เปอร์เซ็นต์กลายเป็นทหาร โดยเฉพาะส่วนหัวข้างบน แล้วกฎหมายถูกออกแบบมาให้แข็งตัวคือ นายกฯ เป็นผอ.รมน. แล้วผบ.ทบ. เป็นรอง ผอ.รมน. ทำให้หมวกของการบังคับบัญชาไปอีกแบบหนึ่ง ถ้าอยู่ในกองทัพ ก็มี ผบ.สส. รมว.กลาโหม เป็นนาย แต่พอมาหมวก กอ.รมน. เป็นายกฯแล้วที่เป็นนาย ฉะนั้นมันก็เกิดอิหลักอิเหลื่อกัน
พ.ร.บ.นี้จึงกลายเป็นโครงสร้าง มีทั้งหน่วยงานทั้งอำนาจ ที่เมื่อก่อนจะมีแค่อำนาจตามกฎหมายคอมมิวนิสต์ พอมีหน่วยเพิ่มขึ้นแล้ว มันก็เหมือนกับมีถาวร เมื่อดูแล้วก็คล้ายอยากให้เป็น กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Department of Homeland Security) ของสหรัฐฯ
การปรับแก้ก็สามารถตั้งข้อสังเกตได้อีก ทั้งที่มี สนช. ที่กุมสภาพได้อยู่ ทำไมการแก้ไขยังไม่ยอมผ่าน สนช. แต่กลับใช้ ม.44 นี่คือสิ่งที่น่าคิด ถ้าจะแก้ให้สมบูรณ์ดีขึ้น แก้ผ่าน สนช.ก็ได้ หรือไม่ก็ไปออก พ.ร.ก.แล้วให้ สนช.ตรวจสอบ แต่ทำไมไม่ทำ
(พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการ สมช.)
"เมื่อก่อนจะมีแค่อำนาจตามกฎหมายคอมมิวนิสต์ พอมีหน่วยเพิ่มขึ้นแล้ว มันก็เหมือนกับมีถาวร เมื่อดูแล้วก็คล้ายอยากให้เป็น กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ ของสหรัฐฯ"
นักวิชาการความมั่นคงมองโครงสร้างการแก้ไขกฎหมาย กอ.รมน.รอบนี้ว่าทำให้เกิด 'รัฐบาลน้อย' มี 'รัฐซ้อนรัฐ' เกิดขึ้น
ทำให้ถูกมองว่า มีหน่วยงานสองขาอยู่ในกองทัพ ได้งบประมาณสองขา การใช้มาตรา 44 เพิ่มคำจำกัดความให้ตัวเอง รวมไปจนถึงการบรรเทาสาธารณะภัย ตามพ.ร.บ.บรรเทาสาธารณะภัย ที่ไปครอบหัวกระทรวงมหาดไทยอีกที โดยดึงทุกภาคส่วนเข้ามาทั้งอัยการ อะไรอื่นๆ มาอยู่ใต้ผู้ว่าราชการจังหวัด มองดูเหมือนให้ผู้ว่าฯ ใหญ่ แต่จริงๆแล้ว เมื่อมองลึกลงไปจะพบว่าเสร็จเลย เพราะผู้ว่าฯ อยู่ใต้แม่ทัพอีกที
ถ้ารัฐบาลเลือกตั้งเข้ามา ก็จำเป็นต้องปรับแก้เพื่อให้เป็นสากล ที่จะต้องเน้นให้เกิดการบูรณาการอำนาจหน้าที่ ต้องปรับโครงสร้าง เพราะ ภัยคุกคาม (Threats) ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต จะเห็นเลยว่าเปลี่ยนรูปแบบเร็วมาก โครงสร้างที่แข็งตัวมันจะยอมรับไม่ได้ โครงสร้างจะต้องอ่อนตัว แล้วบูรณาการอำนาจหน้าที่แทน
"กองทัพถือว่า มีพัฒนาการช้า โจทย์คือเราต้องทำให้ภาพรวมทั้งประเทศให้เข้าใจตรงกันคือ ศรัทธาในเรื่องประชาธิปไตย ต้องทำให้ทหารเข้าใจ จากนั้นไปก็จะรู้บทบาทหน้าที่ตนเอง"
ตอนนี้ข้อเรียกร้องทางการเมืองจากเลือกตั้งปีนี้ เริ่มบานปลายถึง ปฏิรูปกองทัพ ในอดีตที่ผ่านมา แวดวงกองทัพเคยมีการพูดถึงกันหรือไม่
เคยมีในสมัย “บิ๊กจิ๋ว” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตผบ.ทบ. ที่เป็นทหารนักประชาธิปไตย ที่เรียกกันว่า “จิ๋วแต่แจ๋ว” แต่ก็ไปไม่ได้ โดยสรุปแล้วกองทัพถือว่า มีพัฒนาการช้า โจทย์คือเราต้องทำให้ภาพรวมทั้งประเทศให้เข้าใจตรงกันคือ ศรัทธาในเรื่องประชาธิปไตย ต้องทำให้ทหารเข้าใจ จากนั้นไปก็จะรู้บทบาทหน้าที่ตนเอง
เหมือนที่ พล.ท.พงศกร รอดชมภู อดีตรองเลขาธิการ สมช. บอกเราต้องรู้ตัวว่า เราเป็นทหาอาชีพ ไม่ใช่ทหารการเมือง เพราะจริงๆแล้ว สิ่งที่ไม่มีคนพูดคือ เมื่อคุณเข้ามาแล้วคนสังสัยว่า ที่บอกเสียสละน่ะ จริงๆแล้วมันใช่หรือเปล่า พอยึดอำนาจเสร็จ ก็เพิ่มอัตรา หรือ ตำแหน่งเดิมก็เพิ่มอัตราสูงขึ้น ก็เป็นภาระ เช่น เจ้ากรม พลตรี เป็นพลโท เงินทองอะไรก็เพิ่ม อยู่ดีๆ ก็มาใช้กฎอัยการศึก แล้วก็มาให้ผลตอบแทน เรื่องวันทวีคูณ คนก็ตั้งข้อสงสัยแล้ว คุณไปรบกับอริราชศัตรููที่ไหน สิ่งเหล่านี้คนยังไม่เห็น แต่มันจะเป็นภาระเมื่อคนเหล่านี้เกษียณ แล้วถูกเอามาคิดรายได้ น่ากลัวมากนะ
"พอคุณมายึกยักยืด 3 เดือนไปเดือนก.พ. 62 คนมันถึงไม่เชื่อแล้วไง แล้วมันจะลาม สัจจะของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นปัญหาตอนนี้ จึงกระทบมาถึงสถาบันกองทัพ ประชาชนจะบอกว่า ไม่ใช่เรื่องของประยุทธ์แล้วนะ แต่เป็นเรื่องของผู้นำทางทหารที่เชื่อถือไม่ได้"
กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง จะนัดชุมนุมใหญ่ วันที่ 5 พ.ค. นี้ เพื่อขับไล่รัฐบาล คสช. หลังจากที่ผบ.เหล่าทัพเมินข้อเรียกร้องให้เลิกหนุนหลัง คสช. ในฐานะอดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง มองกระแสตรงนี้อย่างไร
ไปได้ จำไว้เถอะ มันจะเป็นเชื้อปะทุ การเกิดการแตกหัก จะเกิดจากการมีส่วนร่วม ทุกอย่างจะเกิดการแตกหักได้ ต้องมีเชื้อปะทุ เหมือนในประวัติศาสตร์ คสช.แทนที่จะทำความเข้าใจกับมหาวิทยาลัยว่า อยากจัดอะไรให้จัด แต่อย่าให้ออกมาข้างนอก เพราะออกมาถนนเมื่อไร เดี๋ยวจะมีคนมาสมทบ ไม่จำเป็นต้องรวมพลที่สนาม คนแก่ชาวบ้านมาระหว่างปลายทางแล้วมาเจอ มันจะเป็นเชื้อปะทุ ตอนนี้กำลังแก้ลำว่าต้องจับ แต่คนพวกนี้มีจุดยืน เมื่อถูกจับก็ประกันมาสู้ต่อ
แต่อย่างที่สกายวอร์คถูกจับ กลับไม่ฟ้อง เพราะเริ่มรู้แล้วเหมือนกันว่า จะเป็นเงื่อนไข ตอนนี้สถานการณ์มันจะไปเรื่อย เพราะเกิดจากสัจจะวาจามีปัญหา
(กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง นัดดีเดย์ ชุมนุม 5 พ.ค. 61 ทวงเลือกตั้ง)
ที่พวกเรากำลังสงสัยกันว่า เลือกตั้งจะมีหรือไม่ ไม่ใช่ความผิดของพวกเรา แต่เป็นเรื่องของพวกเขาที่ทำกันไว้เอง เด็กพวกนี้ กำลังเรียกร้องออกมาย้ำสิ่งที่คุณพูด เพราะคุณไปพูููดกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ไว้ แล้วจะผิดอะไรล่ะ ในเมื่อทำตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ เรียกร้องจากสิ่งที่นายกฯพูด
พอคุณมายึกยักยืด 3 เดือนไปเดือนก.พ. 62 คนมันถึงไม่เชื่อแล้วไง แล้วมันจะลาม สัจจะของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นปัญหาตอนนี้ จึงกระทบมาถึงสถาบันกองทัพ ประชาชนจะบอกว่า ไม่ใช่เรื่องของประยุทธ์แล้วนะ แต่เป็นเรื่องของผู้นำทางทหารที่เชื่อถือไม่ได้
ประเมินดูแล้วจะซ้ำรอยประวัติศาสตร์ 14 ตุลาฯ 16 หรือ พฤษภา 35
อย่าประมาทนะ เชื้อปะทุมันมี จะระเบิดหรือไม่อยู่ที่ คสช.เอง แต่คนพวกนี้จะไม่รู้ตัว แบบเดียวกันเลย คสช. บอกคนมาร้อยกว่าคน เหมือน จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี จอมพลประภาส จารุเสถียร อดีต ผบ.ทบ. เลย บอกมาห้าร้อยคน แต่หนีออกมาขึ้นเครื่องแทบไม่ทัน นี่พูุดกันตามประวัติศาสตร์เลยนะ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง