ไม่พบผลการค้นหา
สถาบันประสาทวิทยา เผยหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเกิดกับคนวัยหนุ่มสาวได้ หากมีพฤติกรรมยกของหนักด้วยท่าที่ไม่เหมาะสม นั่งหรือยืนทำงานไม่ถูกท่า ส่งผลต่อความเสื่อมของหมอนรองกระดูกไวขึ้น เสี่ยงเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

นายแพทย์ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า หมอนรองกระดูก คือ เนื้อเยื่อที่มีลักษณะด้านนอกคล้ายยางรถยนต์ ส่วนด้านในจะมีลักษณะคล้ายวุ้น อยู่ระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อ ตั้งแต่คอ อก จนถึงเอว ทำหน้าที่เป็นข้อต่อรองรับการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลัง และมีหน้าที่ช่วยรับแรงกระแทก เมื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ยืน กระโดด บิดตัว และเพิ่มความยืดหยุ่นของการเคลื่อนไหว

ในกรณีที่เกิดความเสื่อมของหมอนรองกระดูกตามอายุและการใช้งาน จะทำให้รับน้ำหนักและยืดหยุ่นได้น้อยลง เกิดการปลิ้นและโป่งขึ้นของหมอนรองกระดูก จนไปกดทับเส้นประสาทที่อยู่โดยรอบแนวกระดูกไขสันหลัง เรียกว่า ภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

โดยปกติแล้วหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมักเกิดกับกลุ่มคนอายุมาก แต่อาจเกิดในวัยหนุ่มสาวได้ หากมีกิจกรรมที่ส่งผลต่อความเสื่อมของหมอนรองกระดูกที่ไวขึ้น เช่น ยกของหนักด้วยท่าที่ไม่เหมาะสม นั่งหรือยืนทำงานที่ไม่ถูกท่า ได้รับอุบัติเหตุหรือกระทบกระแทกรุนแรงที่กระดูกสันหลัง ออกกำลังกายหักโหม และน้ำหนักตัวที่มากเกินไป 

นายแพทย์พงษ์วัฒน์ พลพงษ์ นายแพทย์ชำนาญการด้านเวชกรรม สาขาประสาทศัลยศาสตร์ สถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประ��าทในผู้ป่วยแต่ละรายอาจจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับบริเวณที่ถูกกดทับ โดยถ้ากดทับที่เส้นประสาทบริเวณคอ จะมีอาการปวดคอ บ่า ไหล่ ปวดร้าวลงไปแขนขา ข้างใดข้างหนึ่ง ชาแขน ล้าขา หรืออ่อนแรงแขนขา 

แต่ถ้าเกิดการกดทับเส้นประสาท ส่วนเอว จะมีอาการปวดบริเวณเอว ร้าวลงสะโพกและขา กล้ามเนื้อขาอ่อนแรง กระดกข้อเท้าหรือนิ้วโป้งเท้า ไม่ขึ้น หากมีอาการรุนแรงจะชาไปรอบๆ ก้น และขับถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะลำบาก

สำหรับแนวทางการรักษา โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท มีหลายวิธีขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการที่เป็นอยู่ โดยเริ่มจากพักการ ใช้งาน หลีกเลี่ยงการทำงานหนักหรือกิจกรรมที่ต้องใช้งานส่วนคอและเอวรุนแรง ร่วมกับการทานยา เพื่อลดอาการอักเสบ ทำกายภาพบำบัด เพื่อให้การเคลื่อนไหวของร่างกายดีขึ้น ซึ่งจะใช้เวลาการพักฟื้น ประมาณ 1 – 3 เดือน ในกรณีที่มีอาการรุนแรง อาจต้องผ่าตัด ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ 

ส่วนการป้องกันหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท คือ ไม่ยกของหนัก หรือยกของในท่าเดิม ๆ มากเกินไป ปรับเปลี่ยนอิริยาบถในการทำงานทุก ๆ 2 – 3 ชั่วโมง หมั่นออกกำลังกาย ทำกายบริหาร เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต้นคอ หลังและหน้าท้อง ไม่ควรมีน้ำหนักตัวที่มากเกินไป ควรงดสูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่ จะทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงหมอนรองกระดูกลดลง และเกิดการเสื่อมเร็วขึ้น และที่สำคัญหากมีอาการผิดปกติ ควรรีบมาพบแพทย์

Photo by Artem Bali on Unsplash

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :