ไม่พบผลการค้นหา
คำถามเบาๆ ส่งท้ายกรณีการช่วยเหลือ 'หมูป่า' เรามีสิทธิรับรู้แค่ไหน แล้วเราตั้งคำถามและตรวจสอบคนที่เกี่ยวข้องในปฏิบัติการครั้งนี้ได้แค่ไหน

ในที่สุดโค้ชและน้องๆ ทีมหมูป่าทั้ง 13 ชีวิตก็ได้กลับไปอยู่ในอ้อมอกของครอบครัว ใช้ชีวิตตามปกติ เรียนหนังสือ เตะฟุตบอล เล่นกับเพื่อนๆ ทางโรงเรียนก็เตรียมสอนเสริมเนื้อหาในช่วงที่ขาดเรียนไป ทิ้งเรื่องราว 18 วัน (23 มิ.ย. – 10 ก.ค.) ภายในถ้ำไว้เบื้องหลัง แม้ว่าอนาคตอาจจะมีภาพยนตร์ฮอลลีวูดสักเรื่องที่ได้แรงดลใจจากเหตุการณ์นี้

ผมตั้งใจเขียนเรื่องนี้ให้ล่าช้ากว่าเหตุการณ์ 1 สัปดาห์ รอให้บรรยากาศแห่งความดีใจเริ่มเจือจางลงก่อน เพื่อตั้งคำถามสำคัญที่ว่า ในปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยเหตุการณ์ทีมหมูป่าจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย เราได้ “เรียนรู้” อะไรร่วมกันบ้าง และมี “บทเรียน” อะไรที่ผู้เกี่ยวข้องควรนำกลับไปขบคิด เพื่อพัฒนาตัวเองและวิธีการทำงานต่อไปในอนาคต

แต่สิ่งที่ต่างๆ ข้างต้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ไม่ถูก “ตั้งคำถาม” ย้อนกลับไปในสิ่งทำไป ตลอดปฏิบัติการช่วยทีมหมูป่า

รวมถึงกลุ่มคนที่ใครต่อใครพากันเรียกว่าเป็น “ฮีโร่”

และปัจจุบัน เหล่าฮีโร่บางคนก็เริ่มถูกตั้งถูกตรวจสอบแล้วว่า ความพยายามต่างๆ ที่เขาได้ทำในเหตุการณ์นี้มันได้ผลไหม? ยังมีอะไรต้องปรับปรุง? หรือทำดีอยู่แล้ว ยังทำดีขึ้นอีกได้ไหม?

1. หน่วยซีล

หลายคนยกให้ หน่วยซีลของกองทัพเรือ เป็นหนึ่งใน “พระเอก” ของเหตุการณ์นี้ เพราะหลังเข้ามาปฏิบัติการในวันที่ 25 มิ.ย. ก็ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย บางคนกินนอนอยู่ในถ้ำตลอด 24 ชั่วโมง แม้ช่วยเด็กๆ ออกมาได้ทั้งหมดแล้ว ก็ยังรั้งท้ายรออยู่ภายในถ้ำ และออกมาเป็นชุดสุดท้าย จนเสียงคำราม Hooyah! ดังไปทั่วประเทศ

แต่ก็ใช่ว่า การทำงานของหน่วย Seal จะดีพร้อมทั้งหมด อย่างที่รู้กันว่า หน่วยนี้ของทหารเรือเชี่ยวชาญเรื่องการทำงานในแหล่งน้ำเปิด เช่น ทะเล อาจไม่เชี่ยวชาญการทำงานในพื้นที่ปิดอย่างถ้ำสักเท่าไร

ทีมดำน้ำจากอังกฤษ Jason Mallinson และ Chris Jewell ที่เข้ามาช่วยพาตัวเด็กๆ ออกจากถ้ำ ยังบอกว่า รู้สึกแปลกใจที่หน่วยซีลของไทยไม่เตรียมอุปกรณ์ให้เพียงพอ เผื่อกรณีที่จะเกิดเหตุฉุกเฉิน นอกจากนี้ คนที่ไปอยู่เป็นเพื่อนน้องๆ หลังพบตัวแล้วบนเนินนมสาว ก็ไม่ได้เตรียมอุปกรณ์ในการออกมาจากถ้ำ ทำให้พวกเขาและ John Vonlanthen ต้องนำขวดอากาศกลับไปให้ทหารเรือเหล่านั้นได้กลับออกมาในเวลาต่อมา

เป็นอีกบทเรียนที่หน่วยซีลจะได้กลับไปทบทวนยุทธวิธีการทำงานภายในถ้ำต่อไป ไม่ว่าจะใช้ในกรณีกู้ภัยหรือการรบ

2. สื่อต่างชาติ

ปฏิบัติการช่วยเหลือทีมหมูป่า คนไทยหลายๆ คนกล่าวตำหนิการทำงานของสื่อไทยอย่างหนักหน่วง ว่ามีปัญหาในการทำงานทั้งเรื่องของจริยธรรม-จรรยาบรรณ ไปจนถึงเรื่องของคุณภาพการทำข่าว

เทียบกับสื่อต่างชาติดูซิ ใช้แค่กล่องกระดาษธรรมดาก็อธิบายความยากลำบากของทีมกู้ภัยได้แล้ว ถูกกันไม่ให้เข้าถ้ำหลวงก็ไปแตกประเด็นหาข่าว exclusive จากที่อื่น นี่ไงเขาทำตามกฎทุกอย่าง เจ้าหน้าที่ขออะไรก็ยอม ไม่ถามคำถามแย่ๆ น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง!

แต่เท่าที่ได้ฟังเสียงจากนักข่าวไทยที่ไปปักหลักทำงานใน จ.เชียงรายอยู่แรมเดือนหลายคน ต่างพูดตรงกันว่า การทำงานของสื่อต่างชาติบางแห่ง (ย้ำว่าแค่บางแห่ง) มีปัญหามาก เจ้าหน้าที่วางกฎอะไรไว้ก็ละเมิด หรือไม่ทำตามข้อตกลงที่พูดคุยกันในหมู่สื่อ เหมือนเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ นักข่าวจากสถานีโทรทัศน์ออสเตรเลียไปสัมภาษณ์น้องในทีมหมูป่า (และเท่าที่ทราบมีสื่อต่างชาติอีก 3 แห่งทำเช่นเดียวกัน) ทั้งที่พูดคุยกันแล้วว่า จะปล่อยให้น้องๆ กลับไปใช้ชีวิตตามปกติสักพัก พร้อมเมื่อไรค่อยมาให้สัมภาษณ์

สิ่งที่ต้องการจะบอก ไม่ใช่ว่าสื่อต่างชาติแย่ สื่อไทยดีกว่า เพราะจริงๆ ในสื่อต่างชาติเองก็มีที่ปฏิบัติตามกฎ-ข้อตกลงอย่างเคร่งครัดจำนวนมาก เพียงแต่อย่า “เหมารวม” ว่าสื่อนอกต้องดีกว่าสื่อไทย และละเลยที่จะตำหนิการกระทำของบางสื่อ เพียงเพราะเขาเป็นสื่อนอก หรือไม่พูดถึงแง่ดีของการนำเสนอข่าว เพียงเพราะมาจากสื่อไทย

[ ข้อควรรู้: ในปฏิบัติการหมูป่า มีสื่อมาลงทะเบียนทำข่าวกับกรมประชาสัมพันธ์ทั้งหมด 1,318 คน เป็นสื่อไทย 687 คน และสื่อต่างชาติ 631 คน ]

3. อีลอน มัสก์

ทันทีที่มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยี SpaceX นำเรือดำน้ำจิ๋ว หอบหิ้วด้วยเครื่องบินส่วนตัวนำมาส่งถึงถ้ำหลวง คนไทยหลายๆ ก็ชื่นชมเฮฮาความมีน้ำจิตน้ำใจของชายคนนี้ แม้เรือดำน้ำจิ๋วจะมาถึงช้าไปหน่อย เพราะการช่วยเหลือเริ่มต้นขึ้นแล้ว ก่อนที่ภายหลังจะปรากฏสารพัดดราม่าตามมา ทั้งกรณีผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร บอกว่าอุปกรณ์นี้ไม่เหมาะกับการกู้ภัย แล้วมัสก์ออกมาทวิตตอบโต้ว่า ตัวผู้ว่าฯ ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ

หรือกรณี Vern Unsworth นักสำรวจถ้ำ หนึ่งในบุคคลสำคัญในปฏิบัติการช่วยเหลือทีมหมูป่าออกมาแจกจ่างว่า เรือดำน้ำจิ๋วซึ่งทำจากชิ้นส่วนของจรวด SpaceX จะไม่มีประโยชน์ในการช่วยทีมหมูป่าได้อย่างไร เพราะมันเป็นแท่งยาวแข็ง และคงจะลดไปตามรูต่างๆ อันคดเคี้ยวภายในถ้ำไม่ได้ โดยอันสเวิร์ธมองว่ามันเป็นแค่ “ของที่ใช้ในการพีอาร์ตัวเอง”

เท่านั้นแหล่ะ มัสก์หัวร้อนตอบโต้อันส์เวิร์ธด้วยถ้อยคำรุนแรง จนเกือบจะเป็นคดีความฟ้องร้องกัน กล่าวที่ท้ายสุด มหาเศรษฐีคนดังจะเอ่ยคำขอโทษออกมา

สิ่งประดิษฐ์ที่นำมาช่วยก็ไม่ได้ใช้ แถมยังก่อดราม่าระดับโลกขึ้นมาอีก

นี่คือตัวอย่างเล็กๆ ว่า แม้แต่คนที่ถูกยกให้เป็น “ฮีโร่” ก็สามารถทำผิดพลาดกันได้ การตรวจสอบทบทวนบทบาทและการกระทำของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดจึงมีความสำคัญ ไม่มีใครสมควรถูกยกขึ้นหิ้งแตะต้องไม่ได้ เพราะแต่การตรวจนั้นๆ ควรจะทำไปด้วยเจตนา “ติเพื่อก่อ” ไม่ใช่หาคนผิดมาเป็นแพะ

แต่สิ่งที่ควรชื่นชม อย่างไรเสียก็ต้องชื่นชม ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน ไปจนถึงจิตอาสาต่างๆ ที่มาร่วมกันลงแขกช่วยเหลือ 13 ชีวิต จนออกมาได้อย่างปลอดภัย และแทบทุกสื่อพูดตรงกันว่า นี่คือ “ปาฏิหาริย์” หรือ miracle ที่ทั่วโลกรอคอย พร้อมกับส่งเสียงไชโยออกมาดังๆ เมื่อข่าวดีที่พวกเขาปรารถนา ได้เกิดขึ้นจริงๆ

พงศ์ บัญชา
0Article
0Video
0Blog