“เห้ย! แกรรร คอนเสิร์ตเทว่ะ ทำไงดี”
“มีอะไรเหรอ ทำไมเกิดอะไรขึ้น!”
นั่นสินะ เกิดอะไรขึ้นกับคอนเสิร์ตที่ทำการโปรโมตมาแรมเดือน บ้างเป็นแรมปี แต่ดันมามีปัญหาก่อนวันแสดง หรือแม้กระทั่งเกิดปัญหาในวันแสดง!
ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการจัดคอนเสิร์ตสักงานหนึ่งเกิดจากอะไรได้บ้าง วอยซ์ ออนไลน์ นัดพูดคุยกับ ‘อ้น-อิงกาญจน์ ผลโพธิ์’ โปรโมเตอร์คนหนึ่งที่ทำงานอยู่เบื้องหลังการจัดอีเว้นต์ทางดนตรีมาเกือบ 6 ปี
หลายๆ คนอาจสงสัยว่า เขาเป็นใคร ทำอะไร ทว่าหากเอ่ยชื่ออีเว้นต์ที่อ้นเคยมีส่วนร่วมคงจะคลายความสงสัยกันได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็น ‘เห็ดสด’ 3 ครั้งแรก ‘Art Ground’ ทั้ง 3 ครั้ง อีเว้นต์ของ ‘Cheeze’ และอีกยิบย่อยที่กล่าวไม่หมด
แดดร่มลมตกของบ่ายแก่ๆ ในตอนที่กาแฟพร่องจากขอบแก้วเพียงเล็กน้อย เราเริ่มต้นบทสนทนาถามไถ่ถึงบทบาทหน้าที่ในการเป็นผู้จัดคอนเสิร์ตของเขา โดยอ้นบอกว่า อาชีพหลักๆ ของเขาถูกเรียกว่า ‘คอนเสิร์ตครีเอทีฟ’ (Concert Creative) จัดการดูแลรูปแบบของงานดนตรี ซึ่งตัวเขาเองทำงานเป็นฟรีแลนซ์ทั้งแบบบริษัทจ้างให้จัด และแบบที่จัดขึ้นเป็นของตัวเอง
องค์ประกอบในการจัดงานดนตรีหลักๆ ก็มีเรื่องของรายชื่อศิลปิน วงดนตรีในงาน คอนเซ็ปต์ของคอนเสิร์ต สถานที่ เวลาที่เหมาะสม ราคาบัตรเข้างาน รวมไปถึงระบบการรักษาความปลอดภัย สาธารณูปโภคแบ่งย่อยไปอีกหลากหลาย
ดังนั้น การจะเกิดขึ้นของคอนเสิร์ตสักงาน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนตอนที่ทุกคนได้ไปสนุกสุดเหวี่ยงกับศิลปิน หรือวงดนตรีที่รัก
“ความเสี่ยงของงานที่จะพังนั้นมาจากหลายปัจจัย ยกตัวอย่างไล่ย้อนมาจากต้นทางอย่างผู้จัดงาน หากโปรโมเตอร์ไม่มีกำลังทุนพอที่จะซัพพอร์ทงานได้ทั้งหมด ก็จะถือว่านี่เป็นความเสี่ยงใหญ่เลยทีเดียวที่จะทำให้งานพังครืนลงมา”
“ปัจจัยในด้านสภาพแวดล้อมปัญหาบ้านเมือง หรือสภาพอากาศก็เป็นความเสี่ยงที่เลี่ยงไม่ได้ ไหนจะปัญหาของศิลปิน และวงดนตรีที่เกิดสภาวะฉุกเฉิน ไม่สามารถขึ้นแสดงได้ตามกำหนดก็ยังมี”
เมื่อมีการถูกเท ก็จะมีคนจำนวนไม่น้อยต้องเจ็บระงมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แน่นอนผู้ชมที่ตั้งใจซื้อบัตรนอกจากผิดหวังแล้ว ยังต้องเสียเวลาในการวิ่งตามเรื่องค่าบัตรคืนอีกด้วย พ่อค้าแม่ขายที่ลงทุนซื้อสินค้าไปออกบูธ บางรายเป็นสินค้าของสดไม่สามารถรักษาสภาพไว้ได้นานก็อาจจะชวดเสียเงินไปแบบดื้อๆ
นักดนตรีบางวงโชคดีหน่อยอาจได้เงินมัดจำครึ่งหนึ่งจากค่าแรง แต่อีกไม่น้อยเหมือนกันที่อาจได้เพียงไข่ต้มกลับไป วงดนตรีเบอร์ใหญ่ก็ยังคงพอมีลู่ทางในการย้ายไปหาเล่นตามสถานบันเทิงของพื้นที่ดังกล่าวทดแทน และยังมีองค์ประกอบจิปาถะอีกมากมายที่พูดถึงไม่หวาดไม่ไหว
- อย่าหวังน้ำบ่อหน้า
ล่าสุด ข่าวหนาหูพูดเรื่องความล้มเหลวของการจัดงานดนตรีงานหนึ่งในจังหวัดทางภาคเหนือ การจัดงานสเกลใหญ่ มีวงดนตรีระดับบิ๊กเนม แต่ไร้ชื่อของสปอนเซอร์หลักในการจัดงานครั้งนี้ ซึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจคือ การจองบัตรเข้าชมที่ใช้วิธีการโอนเงินไปทางผู้จัดโดยตรง เพื่อนำเงินค่าบัตรที่ได้ไปหมุนเวียนเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการจัดงาน
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ จำนวนของคนซื้อบัตรไม่ทะลุเป้าประสงค์ตามจำนวนของเงินที่ต้องจ่าย ทำให้ค่าใช้จ่ายไม่สามารถกระจายไปยังฝ่ายต่างๆ ที่กำลังดำเนินการจัดงานอยู่ได้ งานคอนเสิร์ตในครั้งนั้นจึงปลิวไปตามลมก่อนเริ่มการแสดงเพียงแค่หนึ่งวัน!
ลองคิดกันเล่นๆ ว่าการจัดงานขนาดใหญ่ มีรายชื่อศิลปิน และวงดนตรีระดับประเทศมากหน้าหลายตา แบบไร้สปอนเซอร์หลักอีกด้วย ดังนั้น ตัวผู้จัดเองต้องมีกำลังทุนในการจัดงานมากแค่ไหน แต่ไฉนงานดังกล่าวถึงไม่ประสบความสำเร็จ การหวังน้ำบ่อหน้า โดยรอจำนวนเงินจากการซื้อบัตรเป็นวิธีที่ถูกต้องหรือไม่อย่างไร
อ้นออกความคิดเห็นให้เราฟังว่า “จริงๆ วิธีนี้ไมได้ผิดนะ สมมุติว่างานทั้งหมดใช้เงินหนึ่งล้านบาท สปอนเซอร์ให้มาแค่ครึ่งหนึ่ง แล้วค่าใช้จ่ายทั้งหมดขาดอีกห้าแสน ซึ่งก็สามารถวัดจากคนมาซื้อบัตรได้ หากคนที่มาซื้อบัตรยังไม่ทะลุเป้าที่ตั้งไว้ ทางผู้จัดเองก็ต้องมีเงินทุนสำรองสำหรับรับผิดชอบในส่วนตรงนี้ด้วย แต่การจัดคอนเสิร์ตที่ไม่ประสบความสำเร็จ และทางผู้จัดเองไม่มีเงินสำรองในการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนต่าง ๆ ก็จะต้องมีอัตราความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องดำเนินคดีเป็นเรื่องปกติในวงจรนี้”
ระบบของการจัดงานคอนเสิร์ตในบ้านเราแทบทุกงานเลยก็ว่าได้มักใช้ประโยชน์จากบริษัทจำหน่ายบัตรออนไลน์ อาทิ Thai Ticket Major และ Counter Service เป็นต้น
ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดการจองบัตรของผู้ชมเข้าถึงกลุ่มคนได้หลากหลาย มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์งาน จัดการตัวเลขหางบ���ตรให้ดูแลได้ง่าย และสะดวกต่อฝ่ายผู้จัดงานที่สุด โดยเฉพาะเหตุผลของการจำหน่ายบัตรล่วงหน้า (Early Bird) ก็เพื่อจะช่วยประเมินจำนวนปริมาณของผู้เข้าชมว่าจะมีมากน้อยเพียงใด ทางฝั่งผู้จัดจะสะดวกมากขึ้นในการเตรียมความพร้อมรองรับจำนวนผู้เข้าชมได้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมากในการที่จะเช็คดูว่าต้องเพิ่ม หรือลดสิ่งใดบ้างในการจัดงาน
แต่การจำหน่ายบัตรของบริษัทออนไลน์ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ครั้งหนึ่งในคอนเสิร์ต Coldplay Live In Bangkok เมื่อต้นเดือนเมษาของปีที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์การจำหน่ายบัตรบางโซนเพิ่มจากจำนวนที่กำหนดไว้ ทำให้ผู้ชมบางส่วนไม่มีเลขที่นั่ง ต้องแก้สถานการณ์เฉพาะหน้าด้วยการไปหลบยืนงงๆ เชียร์วงดนตรีอันเป็นที่รักกันเป็นแถวๆ ไป
จากกระแสงานเทของคอนเสิร์ตทางภาคเหนือนั้นส่งผลกระทบไปยังผู้จัดรายอื่นๆ อยู่ไม่น้อย ระบบที่เคยใช้กันอาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไป การทำงานของโปรโมเตอร์รายใหญ่ในไทยอาจจะขับเคลื่อนทีมไปได้แบบไม่สะดุดด้วยเครดิตที่เคยมี แต่ทั้งนี้ก็ยังมีทีมผู้จัดรายย่อยอีกจำนวนไม่น้อยที่จะทำงานลำบากมากยิ่งขึ้น ผู้ชมจะตัดสินใจควักเงินจากกระเป๋าซื้อตั๋วชมคอนเสิร์ตล่วงหน้ายากขึ้น ส่งผลต่อการวางแผนระบบจัดงานล่วงหน้าของทีมผู้จัดด้วย
“สุดท้ายไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นผู้จัดต้องรับผิดชอบทั้งหมด คิดภาพตามง่ายๆ เราแบ่งออกเป็นสามส่วน ฝั่งซ้ายเป็นนักดนตรี ฝั่งขวาเป็นผู้ชม ส่วนตรงกลางคือคนจัดงาน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นจากทั้งทางซ้าย ขวา ส่วนตรงกลางต้องรับผิดชอบทั้งหมด” เขาเสนอมุมมองทางฝั่งคนจัดงานให้เราฟัง
เป็นเรื่องที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนักสำหรับการจัดงานดนตรีที่ไม่เป็นผล เพราะเมื่อมีการล่มสลายของคอนเสิร์ต นั่นก็เท่ากับว่าเครดิตในการจัดงานครั้งต่อไปของผู้จัดคนนั้นๆ จะต้องเสียหายตามไปด้วย
จากเหตุการณ์เทคอนเสิร์ตที่เป็นกระแสโด่งดังมาไม่นานนี้ ทำให้ความเชื่อใจของผู้ชมหลายคนลดลงอย่างเห็นได้ชัด อ้นจึงชี้เทคนิคง่ายๆ ก่อนการตัดสินใจไปดูคอนเสิร์ตในครั้งต่อไป
“ให้สังเกตดูโลโก้ทีมของผู้จัดที่ปรากฏในโปสเตอร์ของงาน ดูว่างานนั้นเป็นการจัดครั้งแรกด้วยไหม ดูว่าสเกลงานขนาดไหน ดูโลโก้สปอนเซอร์ต่างๆ เพราะส่วนใหญ่คอนเสิร์ตในบ้านเราค่อนข้างจะเหมือนกันเกือบทุกงาน คือมีสปอนเซอร์อยู่แล้ว ท้ายที่สุดแล้วลองเช็กราคาบัตรล่วงหน้ากับหน้างานถ้าหากไม่ต่างกันมากก็แนะนำให้ไปซื้อหน้างานเลยก็ได้เพื่อความชัวร์”
กว่าที่ทุกคนจะได้ไปยืนร้องกรี๊ดปลื้มปิติอยู่ในคอนเสิร์ตที่มีศิลปิน และวงดนตรีอันเป็นที่รักแสดงอยู่บนเวทีนั้น การทำงานของโปรโมเตอร์อาชีพเบื้องหลังก็วุ่นวายอยู่มาก เพื่อให้การจัดงานออกมาราบรื่น สวยงาม และส่งต่อความประทับใจไปยังผู้ชมให้ได้มากที่สุด ดังนั้น วอยซ์ ออนไลน์ หวังว่าการไปดูคอนเสิร์ตของทุกคนในครั้งหน้าจะแฮปปี้ และดีต่อใจ