ความเคลื่อนไหวเศรษฐกิจปี 2562 ยังคงลุ่มๆดอนๆ ต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี พิษเศรษฐกิจหลักคงหนีไม่พ้นการค้าโลกที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่ยืดเยื้อ กระทบต่อการส่งออกของไทย และกระจายเป็นแบบลูกโซ่ไปยังแทบทุกดัชนีอุตสาหกรรม ไม่เว้นแม้แต่การหางานหารายได้ นับว่าเป็นปีที่หายใจหายคอติดขัดและเหนื่อยหนักพอสมควรจนหลายหน่วยงานหลายองค์กรต่างก็ทยอยหั่นตัวเลขจีดีพีฝุ่นตลบ จนนำไปสู่มาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่แตกต่างกันออกไป วันนี้ทีมข่าววอยซ์ออนไลน์ได้รวบรวมข่าวเด่นเศรษฐกิจปี 2562 มาให้ได้รื้อฟื้นความหลังก่อนจะก้าวข้ามไปปี 2563 เพราะหลายมาตรการภาครัฐยังคงเดินหน้าต่อ
ประกันรายได้พืชผลเกษตร 5 ชนิด พิชิตฐานเสียงรากหญ้า
เรียกว่าเป็นนโยบายที่เกษตรกรซึ้งใจไม่น้อย ที่เคี่ยวเข็ญโดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ โดยในปีที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ มีพืช 4 ชนิดที่ดูแล คือ ปาล์มน้ำมัน ข้าว มันสำปะหลัง และ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สามารถผลักดันโครงการได้ครบทุกตัว และหากรวมสินค้ายางพารา ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรฯ ถือว่าโครงการประกันรายได้พืชเกษตร 5 ชนิด ปัจจุบันมีเกษตรกรได้รับการโอนเงินส่วนต่างจาก โครงการประกันรายได้พืชเกษตร 4 ชนิด คือ ปาล์มน้ำมัน ข้าว ยางพารา และ มันสำปะหลัง รวม 1,692,576 ครัวเรือน มีวงเงินที่จ่ายส่วนต่างชดเชยให้กับเกษตรกรรวม 18,468 ล้านบาทแล้ว
แบน 3 สารเก้อ เพราะเธอทบทวนมติใหม่
ข่าวใหญ่ ข่าวดัง ชุลมุนวุ่นวายไปพักใหญ่ๆสำหรับเรื่องแบน 3 สารเคมี คือ พาราควอต, คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต หลังแม่งานหลักอย่าง น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ผลักดันจนนำไปสู่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้แบนทั้ง 3 สารไปเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 62 โดยให้มีผลวันที่ 1 ธ.ค. 62 แต่ยังไม่ทันไร คณะกรรมการฯชุดใหม่ นำโดย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม นั่งเป็นประธาน ปฎิบัติหน้าที่ครั้งแรกก็ประกาศกลับมติเดิมก่อนหน้านี้ ก็กำหนดวัตถุอันตรายพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้กำหนดระยะเวลาบังคับใช้ เลื่อนจาก 1 ธ.ค.62 เป็น 1 มิ.ย. 63
ส่วนวัตถุอันตรายไกลโฟเซต ให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ออกมาเป็นเดือดเป็นร้อนหลังสื่อมวลชนตีข่าวว่าเตรียมทบทวนแบน 3 สารเคมีว่าไม่เป็นความจริง แต่สุดท้ายก็เป็นแบบนั้นจริงๆ
แจกแหลก 1,000 บาท ผ่าน “ชิมช้อปใช้”
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนก.ย. 2562 มาตรการ “ชิมช้อปใช้” คลอดออกมา เรียกกระแสเว็บล่มตั้งแต่เปิดลงทะเบียนวันแรก เพราะแม้จะเปิดให้ลงทะเบียนมากถึง 10 ล้านคนในเฟสแรก แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ เพราะใครลงได้ก็จะได้เงิน 1,000 บาทในกระเป๋าที่ 1 เพื่อนำไปจับจ่ายใช้สอยแบบฟรีๆ และได้เงินคืนอีก 15 เปอร์เซ็นต์ ในกระเป๋าที่ 2 (เติมเงินส่วนตัว) ได้คืนสูงสุด 4,500 บาท จนนำไปสู่การขยายต่อในเฟสที่ 2 อีก 3 ล้านคน และเฟสที่ 3 อีก 2 ล้านคน แต่เฟส 3 ให้สิทธิ์แค่ประเป๋า 2 ตัดเงิน 1,000 บาทออก พร้อมขยายเวลาใช้จ่ายไปจนถึงสิ้นเดือน ม.ค. 2563 แต่ก็ยังดูเหมือนว่าคนใช้เงินเฉพาะในส่วนที่รัฐแจก แต่คนที่เติมเงินใช้จ่ายเองยังคงน้อยนิด
เอาใจขาซิ่ง! รื้อกฎหมายให้รถวิ่งได้ 120 กม./ชม.
เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อยเช่นกัน สำหรับนโยบายที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ประกาศกร้าวหลังดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคมอย่างเป็นทางการไปหมาดๆ โดยให้แก้ไขกฎกระทรวงกำหนดความเร็วใหม่ ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบกให้รถทุกประเภท ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถบรรทุก รวมถึงรถโดยสารสารธารณะสามารถใช้ความเร็วเพิ่มขึ้นมากกว่า 90 กม./ชม. เป็น 120 กม./ชม. บนถนน 4 เลน รวมทั้งกำหนดบทลงโทษ ผู้ที่ใช้ความเร็วต่ำกว่า 80 กม./ชม.ในช่องขวาสุดที่ชัดเจนด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างสรุปรายละเอียดทั้งหมดเพื่อเตรียมเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) พิจารณาต่อไป คาดว่าไม่เกินต้นปี 2563 รู้ผล
เริ่มแต่ยังไม่ได้สร้าง หลังเจราจา 2 ปี ไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน
เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า 2 ปีตั้งแต่ ครม.อนุมัติโครงการ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนเส้นทางแรกของประเทศไทย โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ลงนามร่วมลงทุนกับกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือกลุ่มซีพี เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2562 มูลค่าลงทุนสูงถึง 224,544 ล้านบาท โครงการมีระยะทางรวม 220 กิโลเมตร วิ่งด้วยความเร็วสูงสุดที่ 250 ก.ม./ชั่วโมง ผ่าน 5 จังหวัด กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เก็บค่าโดยสาร 115-490 บาท ส่วนกำหนดการก่อสร้างนั้นคงต้องรอส่งมอบพื้นที่ให้เรียบร้อยเสียก่อนที่จะออกหนังสื่อให้เริ่มงานก่อส้ราง ตามกำหนดเปิดให้บริการคือปี 2566 เป็นไปได้ไหมต้องติดตาม
พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเปลี่ยนจนวินาทีสุดท้าย
เริ่มจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปูกสร้างอย่างเป็นทางการ คือ ในวันที่ 1 ม.ค. 2563 หลังประกาศเป็นกฎหมายตั้งแต่ต้นปี 2562 แต่ประกาศเลื่อนการจัดเก็บออกไป 4 เดือน คือเดิมที่จะต้องจ่ายภายในเดือน เม.ย. เป็น ส.ค. 2563 เพื่อให้ท้องถิ่นได้มีเวลาเตรียมตัว แต่ก็ทำผู้เสียภาษีวุ่นวายหลายตลบ โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่อาศัย หลังหลัก หลังรองนั้น ให้จัดเก็บภาษีแตกต่างกัน และหากใครไม่ได้อยู่อาศัย เช่น นำไปปล่อยเช่าต้องเสียภาษีเต็มหน่วย คือ 0.3% หรือล้านละ 3,000 บาทต่อปี จากที่อยู่อาศัยเสีย 0.02% หรือล้านละ 200 บาทต่อปี เป็นประเด็นถกเถียงมาซักพักใหญ่ จู่ๆปลัดกระทรวงการคลังก็แถลงเปลี่ยนให้ที่อยู่อาศัยทุกประเภทเสียภาษีแค่ล้านละ 200 แม้จะนำไปปล่อยเช่า ทั้งคอนโดฯ บ้าน หรืออาพาร์ทเม้นต์ และที่สำคัญผู้เสียภาษีไม่ต้องไปแจ้งเขต และนำชื่อเข้าทะเบียนบ้านภายในวันที่ 1 ม.ค. 2563 ใดใดทั้งสิ้น ส่วนที่เกษตรกรรมยังรอประกาศเกณฑ์
อวสานบัตรเดบิต บัตรเอทีเอ็มแถบแม่เหล็ก หลัง 15 ม.ค. 63 ไม่ได้ไปต่อ
เป็นนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ได้ร่วมผลักดันกับสมาคมธนาคารไทย และสถาบันการเงิน ให้ประชาชนปรับเปลี่ยนบัตรเดบิตและบัตรเอทีเอ็มจากรูปแบบบัตรแถบแม่เหล็ก (magnetic card) ให้เป็นบัตรชิปการ์ด (chip card) เพื่อความปลอดภัยในการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ ทั้ง ป้องกันการปลอมแปลงบัตร และการโจรกรรมข้อมูล โดยมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนบัตรได้ครบถ้วนภายในสิ้นปี 2562 โดยปัจจุบันพบว่ามีผู้เปลี่ยนบัตรเป็นชิปการ์ดไปแล้วประมาณ 47 ล้านใบ แต่ยังคงมีคนอีกจำนวนมากหรืออีกกว่า 20 ล้านใบยังไม่เปลี่ยน ซึ่งหากยังไม่รีบดำเนินการอาจเสียค่าธรรมเนียม เพราะภายหลังวันที่ 15 ม.ค. 2563 บัตรแถบแม่เหล็กจะใช้ไม่ได้อีกต่อไป