วันที่ 13 ม.ค. 2567 กัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนต่อการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงผลการทำงานของอนุกรรมาธิการฯ ซึ่งมีหน้าที่ในการรวบรวมปัญหาของกลุ่มผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ซึ่งมีกลุ่ม ผู้ลี้ภัย แรงงานข้ามชาติ บุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ และเหยื่อการค้ามนุษย์ ซึ่งมีการตั้งคณะทำงานในแต่ละกลุ่ม พิจารณาว่าจะมีแนวทางการแก้ไขแบบยั่งยืนในทางนิติบัญญัติได้อย่างไร ซึ่งล่าสุดได้เดินทางไปยังจังหวัดภูเก็ต เพื่อติดตามการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติทั้งระบบ ที่มีประมาณเกือบ 90,000 คน ว่าเข้าถึงสวัสดิการต่างๆหรือไม่
"ทำไมเราต้องไปดูเขา เพราะต้องยอมรับว่าประเทศไทยเราขาดแรงงาน พวกเขาสามารถร่วมพัฒนาชาติไทย การทำงานที่ต้องเสียภาษี ก็มีสิทธิที่จะได้รับสวัสดิการในการรักษาพยาบาล บุตรก็สามารถเข้าถึงสวัสดิการด้านการศึกษา เมื่อเขาได้รับสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เขาก็จะเป็นแรงงานที่เข้าร่วมพัฒนาประเทศชาติเหมือนคนไทยทั้งหมดผ่านระบบภาษีอากร และแรงงานต่างๆ เหล่านี้จะเข้ามาทดแทนแรงงานที่ขาดหายไปของไทย โดยเฉพาะในช่วงที่ไทยย่างเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ”
กัณวีร์ เชื่อว่า หากรัฐสามารถให้สิทธิตามหลักสิทธิมนุษยชน ให้ความยุติธรรมตามกฏหมาย จะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆได้ โดยคณะอนุกรรมาธิการ จะลงพื้นที่ไปติดตามปัญหาของกลุ่มต่างๆ โดยปลายเดือนมกราคมนี้จะเดินทางไปยัง จ.ตาก เพื่อติดตามปัญหาผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะผู้ลี้ภัยชาวเมียนมากว่า 91,000 คนที่อยู่ในแคมป์ต่างๆ ยังเป็นปัญหาที่ไทยต้องแก้ไขรวมถึงการทะลักเข้ามาของผู้ลี้ภัย แรงงานข้ามชาติ จากเมียนมา หลังการรัฐประหาร ปี 2021 ไทยต้องทำงานในกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาค เพื่อให้ไทยสามารถเป็นผู้นำในเวทีโลก โดยคณะอนุกรรมาธิการชุดนี้ จะทำงานถึงกลางเดือน ก.พ.ก็จะรวบรวมปัญหาเสนอสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ในเดือนมีนาคมนี้
สำหรับการลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ระหว่างวันที่ 8-9 ม.ค.67 คณะอนุกรรมาธิการ ได้เข้าพบ โสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ภาคประชาสังคม และกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ที่ได้รับทราบสภาพปัญหาและพร้อมจะทำงานร่วมกันในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อสถานการณ์แรงงานข้ามชาติในประเทศไทย
กัณวีร์ ยังอวยพรเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งนอกจากเด็กไทยที่ต้องพัฒนาด้านการศึกษา ที่ยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่มากนั้น ยังมีเด็กๆ แรงงานข้ามชาติ เด็กผู้ลี้ภัย เด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ ในประเทศไทย ที่ต้องการสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะการศึกษา ที่จะเป็นโอกาสให้เด็กๆเหล่านี้เติบโตมาเป็นแรงงานที่มีคุณภาพต่อไปด้วย
"การศึกษาของเด็กไทยยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่มาก ไม่นับเด็กๆ ที่พ่อแม่เป็นแรงงานข้ามชาติ และผู้ลี้ภัย พวกเขายิ่งขาดโอกาสในการศึกษามากกว่า ซึ่งการศึกษาความเป็นความเท่าเทียมที่ไม่แบ่งแยก เพื่อให้พวกเขาได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้อย่างภาคภูมิใจ" กัณวีร์ กล่าว