มาตรการทางกฎหมายว่าด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถูกนำมาใช้อีกครั้งกับการเคลื่อนไหวทางเมือง เยาวชน 3 ราย ต้องตกเป็นผู้ถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมปราศรัย จนนำไปสู่การตั้งคำถามว่าสิ่งที่เยาวชนออกมาแสดงความคิดเห็นต่อสิ่งกดทับในระบอบการศึกษาไทย รัฐบาลไทยกำลังละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศหรือไม่
ภูมิ-คณพศ แย้มสงวนศักดิ์ แนวร่วมกลุ่มนักเรียนไท ผู้มีบทบาทในการร่วมฝังหมุดคณะราษฎร 2563 บนท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 19 ก.ย. บอกเล่านาทีเข้ารับทราบข้อกล่าวตามความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากการปราศรัยในเวทีชุมนุมเมื่อวันที่ 15 ต.ค. บริเวณแยกราชประสงค์ พร้อมเพื่อนกลุ่มนักเรียนเลวอีก 2 ราย ที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร หรือ สถานพินิจธนบุรีตลิ่งชัน
เขาบอกกับ 'วอยซ์' ว่าได้เข้าพบผู้คุมประพฤติตามนัดหมาย แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ 'กระบวนการสำนึกผิด' โดยมีเจ้าหน้าที่สถานพินิจเกลี้ยกล่อมให้ภูมิและเพื่อนยอมรับสารภาพว่ากระทำผิดตามข้อกล่าวหาไม่ต้องส่งฟ้องศาล
ทว่า ภูมิได้ปรึกษาผู้ดูแลทางกฎหมายจนได้ความว่า หากเป็นคดีทางการเมือง เมื่อเข้าสู่กระบวนการพ้นผิดต้องเข้าค่ายธรรมะหรือจิตอาสาบำเพ็ญประโยชน์ พร้อมทำสัญญาว่าจะไม่ประพฤติตนอีก ก่อนที่ภูมิกับเพื่อนจะตอบตัดสินใจกับทนายถึงจุดยืนว่า...
"ผมเลือกไม่รับข้อเสนอ เพราะเห็นว่าการออกไปพูดความจริง ทั้งเรื่องเสื้อแดงหรือเรื่องการศึกษาไม่เป็นความผิด โดยเฉพาะการอ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ไม่มีความชอบธรรมอยู่แล้ว" ภูมิ บอกวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับเพื่อนอีก 2 คน
แม้เขากับเพื่อนเน้นย้ำว่าไม่ร่วมกระบวนการที่ไม่ยุติธรรม และพร้อมต่อสู้ทางคดีต่อไป บรรยากาศในห้องสอบสวนนั้นเจ้าหน้าที่ยังคงทำหน้าที่โน้มน้าว เมื่อย้อนดูโปรไฟล์พวกเขาทั้ง 3 คน ล้วนไม่เคยตกเป็นผู้ต้องหาจากคดีความใดๆ ซึ่งมีโอกาสที่คำสั่งฟ้องศาลเยาวชนนั้นมีโอกาสถูกคว่ำสูง แต่พวกเขาก็ยังคงปฏิเสธข้อเสนอเหล่านั้น
สำหรับการต่อสู้ในอนาคต ภูมิยืนยันว่าเขาพร้อมออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเช่นเดิม เพราะมองว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ผิดกฎหมายหรือผิดรัฐธรรมนูญ แม้จะถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่หรือดำเนินคดีอีกก็ตาม
"ผมมองว่ามันคือประสบการณ์ใหม่ มีอะไรให้ทำอีกเยอะ ทุกวันนี้มีนอกเครื่องแบบมาติดตามบ้าง ตอนนี้ก็เริ่มกลับมาตามอีกแล้ว" คณพศ กล่าวพร้อมหัวเราะ
ย้อนไปเมื่อกลางปี 2563 ภูมิและเพื่อนได้ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นการศึกษา ภายใต้ชื่อกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ด้วยจุดมุ่งหมายคือปฏิวัติระบอบการศึกษาไทย
ครั้งหนึ่งเขาเคย ให้สัมภาษณ์ 'วอยซ์' นิยามการศึกษาไทยว่า "มันเป็นโรงงานผลิตทาส โรงงานผลิตปลากระป๋อง ที่ต้องทำตามคำสั่งเพื่อโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในสังคม "
ปัจจุบันหลังออกมาเคลื่อนไหว 'ภูมิ' มองว่าการพูดถึงประเด็นการศึกษาอย่างเดียว ผลลัพธ์อาจไม่จบที่รุ่นพวกเขา
19 ก.ย. ภาพชายร่างเล็กสวมแว่นทรงกลมในเครื่องแบบชุดนักเรียน ถูกห้อมล้อมด้วยแกนนำราษฎรรุ่นพี่ๆ ระหว่างพิธีฝังหมุดคณะราษฎร นั่นคือวันที่เขาตัดสินใจร่วมขบวนทะลุฝ้าเพดานความคิดไปกับกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า 'ราษฎร'
"เราเริ่มเปลี่ยนใจว่าการศึกษาต้องถูกแก้ที่ระบบโครงสร้างทั้งหมด หากเราสามารถไล่นายกรัฐมนตรี รวมถึงแก้รัฐธรรมนูญได้ การปฏิรูปการศึกษาไทยก็จะแก้ไขได้ทั้งหมด" แนวร่วมกลุ่มนักเรียนไท กล่าว
ทุกการเคลื่อนไหวย่อมมีผลบวกและลบเสมอ เช่นเดียวกับ 'คณพศ' เขาต้องเผชิญสายตาของคนรอบข้างที่ไม่ยอมรับต่ออุดมการณ์ของเขาเช่นกัน แม้กระทั่งคนในครอบครัวที่ไม่คุ้นชินภาพลักษณ์ของภูมิในฐานะนักปราศรัย
"ตอนออกไปช่วงนั้น (19 ก.ย.) โดนครอบครัวด่าเหมือนกัน ผมต้องออกไปอยู่ข้างนอกบ้าน แต่ตอนนี้ที่บ้านก็ดีขึ้นแล้ว เขาเริ่มเปิดใจยอมรับว่ายิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ เขาจึงปล่อยเราลองผิดลองถูก เคลื่อนไหวเรียนรู้ไปเอง" ภูมิ กล่าวทิ้งท้าย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง