ไม่พบผลการค้นหา
‘รองนายกฯ ประเสริฐ’ ปลุกทุกภาคส่วน ร่วมผลักดันประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ย้ำรัฐบาลให้ความสำคัญปัญหาสิ่งแวดล้อม เตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ชื่นชม ‘GC’ จับมือทุกฝ่ายผลักดันแนวคิด ‘ยั่งยืนไม่ยาก’

วันที่ 18 ตุลาคม 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวในการปาฐกถาพิเศษ เปิดงาน GC Sustainable Living Symposium 2024 ซึ่งจัดโดยบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ภายใต้แนวคิด ‘ยั่งยืนไม่ยาก’ ซึ่งเป็นการรวมพลังครั้งสำคัญของคนหัวใจรักษ์โลก หรือ GEN S (Generation Sustainability) เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำว่า ขอแสดงความยินดีและชื่นชมกับ พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ GC ที่ได้จัดงาน Sustainable Living Symposium 2024 ขึ้นเป็นครั้งที่ 5 ในปีนี้ เพื่อให้ Gen S ได้มาแสดงจุดยืนร่วมกันว่า ‘การสร้างความยั่งยืน≠ยาก’ และเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน

S__860169.jpg

เวทีการเสวนาที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้จะเกิดการระดมความคิดเห็น บอกเล่าวิธีแก้ปัญหา แบ่งปันเรื่องราวการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตของผู้คน ตลอดจนสะท้อนให้เห็นว่า บทบาทของภาคธุรกิจที่จะร่วมกันก้าวข้ามความยากสู่ความยั่งยืนไปด้วยกันเป็นอย่างไร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการผลักดันประเทศไทยไปสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำอย่างเป็นรูปธรรม 

นายประเสริฐ กล่าวว่า การขับเคลื่อนการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือระหว่างกัน และกระผมรู้สึกประทับใจมากที่ได้เห็น Gen S จากทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม มาร่วมหาแนวทางและแบ่งปันประสบการณ์และเผยแพร่นวัตกรรมที่ทันสมัยที่จะมาสร้างสมดุลทางสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคนอย่างเท่าเทียม และจะส่งผลต่อเศรษฐกิจ และสังคมตลอดจนความน่าเชื่อถือของประเทศไทยบนเวทีโลก  

ภาครัฐได้ให้ความสำคัญและขับเคลื่อนเรื่องการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนและพยายามร่วมกันลดผลกระทบมานับ 10 ปี

“วันนี้เราทุกคนได้ตระหนักชัดแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความรุนแรงมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทั่วโลกและประเทศไทย และมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้นในอนาคต เมื่อภาวะโลกร้อนได้ยกระดับความรุนแรงจนเรียกได้ว่าเข้าสู่ภาวะโลกเดือด (Boiling World) ที่ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งรุนแรงในหลายพื้นที่ทั่วโลก ขณะที่พายุฝนประจำถิ่นสร้างความเสียหายแก่หลายประเทศมากกว่าที่เคยเป็นมา 

และอุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรที่สูงขึ้นทำให้เรายังได้พบเจอกับ Rain Bomb ที่มีคนเปรียบเทียบว่าเหมือนระเบิดฝนที่ตกลงมาคล้ายกับ ‘สึนามิจากฟ้า’ มีความรุนแรงและความรวดเร็วจนพี่น้องประชาชนในภาคเหนือและทภาคใต้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหนักเฉียบพลัน ซึ่งสร้างความเสียหายทั้งทางความเป็นอยู่ ทรัพย์สินและเศรษฐกิจท้องถิ่นในวงกว้าง” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีกล่าว   

S__860173.jpg

รัฐบาลจะเดินหน้าทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนในการแก้วิกฤตสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย โดยมีนโยบายและแผนพลังงานชาติที่กำหนดแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ.2065  เรากำหนดเป้าหมายให้มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50% ภายใน ปี พ.ศ.2573 ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคไฟฟ้าและขนส่งได้อย่างมีนัยสำคัญ และที่สำคัญไม่แพ้กันคือความท้าทายจากการใช้กลไกราคาคาร์บอนมากำหนดมาตรการทางภาษี ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันและการดำเนินธุรกิจทั่วโลก ดังนั้น การกำหนดนโยบาย เช่น กลไกภาษีคาร์บอน ควบคู่กับการกลไกสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำต่าง ๆ ของประเทศไทย จึงมีความจำเป็นต้องขับเคลื่อนโดยการร่วมคิดของทุกภาคส่วน เพื่อสนับสนุนและเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการไทย

รัฐบาลมุ่งที่จะสนับสนุนภาคเอกชนในการใช้พลังงานหมุนเวียน การพัฒนาเทคโนโลยีสะอาดไปพร้อมกับการส่งเสริมการปรับตัวเพื่อลดความสูญเสียจากภัยธรรมชาติ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ  รวมถึงในมิติของการลงทุน รัฐบาลให้การสนับสนุนแนวทางของกองทุน ESG ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้น อันจะเป็นกลไกสำคัญในการลงทุนเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ เพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังช่วยภาคธุรกิจสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่งในยุคที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

S__860171.jpg

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีโครงการแก้ปัญหาขยะล้นเมือง โดยรัฐจะสนับสนุนระบบ Circular System เพื่อลดปริมาณขยะและเป็นการสร้าง Value chain สนับสนุนการคัดแยก การขนส่ง การจัดเก็บและการทำลายให้ถูกวิธี อย่างไรก็ดี การที่ประเทศไทยของเราสนับสนุนกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมให้มีความเข้มแข็ง  เป็นการสร้างผลลัพธ์ที่ดี ด้านการลงทุนจากต่างประเทศ  นักลงทุนจากทั่วโลกเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยั่งยืน รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมความร่วมมือทุกระดับ เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การเข้าถึงบริการพลังงานสะอาด ในราคาที่เหมาะสมและมีความน่าเชื่อถือภายในปี พ.ศ.2573 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ เช่น การสร้าง Ecosystem ของการผลิตและใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ผลิตพลังงานชีวมวล และการลงทุนด้านการบริหารจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมของไทยได้รับเสียงชื่นชมในระดับโลก  

S__860174.jpg

นายประเสริฐ กล่าวว่า ในวันนี้ขอเชิญชวน Generation Sustainability หรือ Gen S ทุกท่านร่วมมือกันสร้างอนาคตที่ยั่งยืนเพื่อเป็นประโยชน์ของคนไทยและประเทศไทยของเราและเราจะทำเรื่องยากให้กลายเป็นเรื่องง่ายได้ เพื่อปกป้องโลกใบนี้ไปด้วยกัน  และกระผมเชื่อมั่นว่าเวทีเสวนาในงานนี้จะนำไปสู่แนวทางใหม่ๆ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) และสร้างอนาคตที่ดีขึ้นสำหรับพวกเราและลูกหลานของเรา

S__860172.jpg