กันนูนชีถูกสั่งจำคุกมาตั้งแต่เดือน เม.ย.ปีที่แล้ว ด้วยข้อหายุยงปลุกปั่น และวางแผนต่อต้านความมั่นคงของรัฐ ซึ่งฝ่ายค้านและผู้สนับสนุนเขากล่าวว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่มีมูลความจริง ทั้งนี้ กันนูนชีเป็นคนที่วิพากษ์วิจารณ์ ไคส์ ซาอีด ประธานาธิบดีตูนิเซียอย่างดุเดือด
ประธานาธิบดีตูนิเซียถูกกล่าวหาโดยฝ่ายค้าน ว่าเขาได้ยกระดับความเป็นอำนาจนิยม และเขาได้ก่อรัฐประหาร เมื่อซาอีดสั่งยุบรัฐสภาและไล่รัฐบาลของประเทศออก เมื่อเดือน ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ซาอีดได้เดินหน้าการปกครองประเทศ ด้วยการประกาศรัฐกฤษฎีกาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
กันนูนชี ในวัย 82 ปี ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคเอนนาห์ดา หรือ “มุสลิมเดโมแครต” ของตูนิเซีย เคยเป็นประธานรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งปี 2562 จนกระทั่งซาอีดส่งรถถังเข้าไปปิดรัฐสภาในปี 2564 ทั้งนี้ กันนูนชีถูกตัดสินเบื้องหลังจำเลย ให้ต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 1 ปี ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ในขณะที่เขาปฏิเสธที่จะปรากฏตัวต่อหน้าศาล เนื่องจากเขากล่าวว่ากระบวนการทางตุลากรนี้ เป็นการพิจารณาคดีทางการเมืองที่ปลอมแปลงขึ้น
แถลงการณ์ของพรรคเอนนาห์ดาเมื่อวันศุกร์ (29 ก.ย.) ระบุว่า กันนูนชีเริ่มอดอาหารประท้วงเพื่อเรียกร้องให้ทางการปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด และ "ยุติความอยุติธรรมต่อพวกเขา" แถลงการณ์ดังกล่าวยังแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับกันนูนชี และ โยฮาร์ เบน มีบาเร็ก หัวหน้าแนวร่วมกอบกู้ชาติ ซึ่งเป็นแนวร่วมฝ่ายค้าน ที่เริ่มการอดอาหารประท้วงเมื่อ 4 วันก่อน พร้อมประกาศว่าทางการตูนิเซียต้องรับผิดชอบต่อ “อันตรายใดๆ ที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพ และความปลอดภัยของนักโทษ เมื่ออดอาหารประท้วง”
นอกจากนี้ แถลงการณ์ของพรรคเอนนาห์ดายังระบุด้วยว่า นักโทษการเมืองส่วนใหญ่ในตูนิเซียถูก “เจ้าหน้าที่ทำการรัฐประหาร” และถูกสั่งจำคุกโดยไม่ได้รับการพิจารณาคดี หรือสอบปากคำใน “คดีปลอมแปลงที่มีจุดประสงค์เดียว คือการกำจัดคู่แข่งทางการเมืองที่ต่อต้านขัดขืน”
ดาลิลา มีซัดเดก ทนายความของ เบน มีบาเร็ก กล่าวว่า เบน มีบาเร็ก ถูกคุมขังก่อนการพิจารณาคดีเป็นเวลามากกว่า 7 เดือน ทั้งนี้ มีซัดเดกระบุบนเฟซบุ๊กอีกว่า การอดอาหารประท้วงของ เบน มีบาเร็ก เป็นการประท้วง “เรื่องตลกขบขันของศาล ที่นำโดยผู้พิพากษาสอบสวนของแผนกต่อต้านการก่อการร้าย”
ตำรวจตูนิเซียได้จับกุมบุคคลสำคัญทางการเมืองมากกว่า 20 คนในปีนี้ รวมถึงกันกันนูนชี โดยทางการกล่าวหาว่า ผู้นำฝ่ายค้านบางคนวางแผนต่อต้านความมั่นคงของรัฐ ทั้งนี้ ในบรรดาผู้ถูกจับกุมยังรวมถึงทนายความ นักธุรกิจ และหัวหน้าสถานีวิทยุยอดนิยมแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักจากการเป็นเวทีในการวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีของประเทศ
ทนายความของกันนูนชีกล่าวว่า ข้อกล่าวหาของเขาเกิดขึ้น จากการแสดงความไว้อาลัยในงานศพ ที่กันนูนชีกล่าวเอาไว้เมื่อปีที่แล้วแก่ สมาชิกพรรคเอนนาห์ดาของเขา โดยกันนูนชีกล่าวในคำไว้อาลัยว่า ผู้เสียชีวิต “ไม่กลัวผู้ปกครองหรือผู้เผด็จการ (และ) เกรงกลัวต่อพระเจ้าเท่านั้น”
ในการรณรงค์ทางออนไลน์ 'ปล่อยกันนูนชี' ที่เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้นำฝ่ายค้าน ยังมีการออกแถลงการณ์เมื่อวันศุกร์ โดยระบุว่า ซาอีด “ต้องรับผิดชอบอย่างเต็มที่ ต่อผลที่ตามมาจากการประท้วงที่มีผลต่อสุขภาพของ... กันนูนชี… การอดอาหารประท้วงเพื่อเสรีภาพและศักดิ์ศรีของนักโทษการเมืองทุกคน ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับ ราเชด กันนูนชี ซึ่งใช้เวลากว่า 4 ทศวรรษในการดิ้นรนเพื่ออิสรภาพ ความยุติธรรม และคุณค่าอันสูงส่งอื่นๆ ของมนุษย์”
ซาอิด ซึ่งสถานปนาฐานอำนาจใหม่ของเขาไว้ในรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านการลงประชามติเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งมีผู้ออกมาใช้สิทธิในจำนวนที่น้อยมาก ปฏิเสธว่าการกระทำของเขาไม่ใช่การทำรัฐประหาร และกล่าวว่าพวกเขาจำเป็นต้องกอบกู้ตูนิเซียจากความวุ่นวายหลายปี นอกจากนี้ เขายังเรียกนักวิจารณ์ต่อตัวเขาว่าเป็นอาชญากร ผู้ทรยศ และ “ผู้ก่อการร้าย” และเตือนว่าผู้พิพากษาคนใดก็ตามที่ปล่อยตัวคนเหล่านี้ไป จะถูกพิจารณาว่าเป็นผู้สนับสนุนคนกลุ่มดังกล่าว
ก่อนการประท้วงลุกฮือในตูนิเซียเมื่อปี 2554 ซึ่งเป็นการโค่นล้มอดีตผู้นำเผด็จการอย่าง ซัยนุลอาบิดีน เบน อาลี ออกจากอำนาจ กันนูนชีใช้เวลากว่า 20 ปีในการลี้ภัยอยู่ในกรุงลอนดอน เขาเดินทางกลับมาที่ตูนิเซียในเดือน ม.ค. 2554 ท่ามกลางการต้อนรับ ก่อนที่ในเดือน ต.ค.ของปีนั้น พรรคเอนนาห์ดาได้รับคะแนนเสียง 37% ในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา กลายเป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุดเป็นฝ่ายชนะ ทั้งนี้ พรรคเอนนาห์ดาดำเนินการอย่างแข็งขันหลายครั้งในการเลือกตั้งตูนิเซีย จนกระทั่งซาอีดยึดอำนาจการปกครองไปในปี 2564 และนับตั้งแต่นั้นมา ประธานาธิบดีตูนิเซียได้ประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้ง
ที่มา: