ไม่พบผลการค้นหา
'กมธ.ที่ดิน-กมธ.มั่นคงฯ' เผยข้อพิพาทที่ดิน ส.ป.ก. โคราช 'อุทยานฯ-กรมแผนที่ทหาร' ยังเถียงกันไม่จบเรื่องแนวเขต แต่ สปก.จังหวัด ยอมรับเองกระบวนการสอบสิทธิ์ผิดปกติ-ไม่ถูกต้อง ตั้งคำถามอาจมีเบื้องหลัง

วันที่ 28 ก.พ. ที่อาคารรัฐสภา อภิชาติ ศิริสุนทร สส.แบบบัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยผลสรุปของการเชิญกรมแผนที่ทหาร และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) เพื่อพิจารณาปมข้อพิพาทที่ดิน สปก.โคราช

โดย อภิชาติ ระบุว่า ทั้ง 2 หน่วยงานก็ยังโต้เถียงกันเรื่องแนวเขต ทางกรมอุทยานฯ ก็ยังไม่ยอมรับแนวเขตตามที่กรมแผนที่ทหารส่งให้นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ทางอุทยานฯ ยังยืนยันแนวเขตตามพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ปี 2505 ว่าถูกต้องแล้ว ขณะที่ทาง สปก. เองก็ยึดแนวเขตตามกรมแผนที่ทหารได้เสนอมา ดูอย่างนี้แล้วก็คงไม่จบ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แถลงข่าวไป

แต่ทาง สปก.ระดับจังหวัด มาให้การเองว่า กระบวนการตรวจสอบสิทธิ์เป็นไปโดยมิชอบ และเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยมีการท้วงติงจากหน่วยงาน เพราะตามหลักการการออกพื้นที่รังวัดต้องมีผู้รับรอง แต่ทางผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอเองก็ไม่ทราบ จึงเห็นได้ว่ามีการเร่งออกอย่างรวดเร็วผิดปกติ

"จึงเป็นคำถามใหญ่ๆ ว่า ถ้าหากเพียงสายระดับปฏิบัติการ ระดับพื้นที่ จังหวัด จะกล้าทำขนาดนี้เชียวหรือ มีขบวนการใดที่อยู่เบื้องหลังหรือเปล่า เราจะสืบค้นต่อ" อภิชาติ กล่าว

สำหรับคุณสมบัติของผู้ถือครองทั้ง 5 ราย อภิชาติ กล่าวว่า ทางคณะกรรมาธิการก็ได้ขอข้อมูลการไต่สวนมาทั้งหมดจาก สปก.โคราช ว่าเหตุใดจึงเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติ และในวันที่ 4 มี.ค. ทางกรรมาธิการฯ จะลงไปดูพื้นที่จริง และสอบถามผู้เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ อภิชาติ ยังเผยว่า แนวเขตที่กรมแผนที่ทหารให้ความเห็นมา ยังไม่ได้รับรองตามกฎหมาย จึงยังต้องยึดตาม พ.ร.ฎ. ของ 2 หน่วยงาน ถ้าให้เป็นที่สิ้นสุดจริงๆ สกทช. จะต้องส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับรองแนวเขต One Map ตามกระบวนการที่ถูกต้อง ก็จะเป็นข้อสรุปที่ชี้ชัดว่า เขตของอุทยานฯ และ สปก. เป็นที่เดียวกัน

ด้าน รังสิมันต์ โรม สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ กล่าวว่า ในเมื่อวันนี้ สปก. กลางไม่ได้มาชี้แจง ทางกรรมาธิการจึงพยายามทำหน้าที่เป็นกลางในการรับฟังทุกฝ่าย ขณะเดียวกันก็ไม่อยากให้เสียเวลา หากถึงที่สุดมีข้อยุติบางประการได้ ข้อมูลข้อเท็จจริงต่างๆที่ได้มาจะไหลเข้าสู่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ป.ป.ช. โดยตรง อย่างไรก็ตาม กรณีนี้อาจมีความเกี่ยวพันกับการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ

รังสิมันต์ กล่าวต่อไปว่า ทางอุทยานฯ ก็คงไปร้องดำเนินการกับ ป.ป.ช. ข้อมูลจากบันทึกการประชุม ชวเลขต่างๆ ก็จะเป็นประโยชน์ในการดำเนินคดี และส่วนตัวเข้าใจว่าคงไม่ได้มีเฉพาะที่ดินแปลงนี้ แต่ยังมีแปลงอื่นอีกจำนวนมากที่เกี่ยวข้องอยู่ หากมีการกระทำผิดอีกก็คงต้องดำเนินการต่อ เบื้องต้นก็อยากทำงานให้รวดเร็ว โดยมีทางคณะกรรมาธิการการที่ดินเป็นเจ้าภาพ และคณะกรรมาธิการความมั่นคงฯ มาร่วมกันทำงาน เพราะอยากให้เรื่องนี้จบเร็ว อะไรที่ผิดก็ว่ากันตามกฎหมาย ส่วนข้อโต้แย้งว่าควรจะเชื่อใครเรื่องแนวเขต ก็ให้ว่ากันไปในกระบวนการตามกฎหมาย

รังสิมัสต์ เผยว่า นอกจากนี้ ยังได้ทราบว่ามีการทำหนังสือไปยัง สปก. ต่อประเด็นปัญหาดังกล่าวเมื่อไม่นานนี้เอง แต่ในเมื่อยังไม่มีการดำเนินการอะไร ก็คิดว่าคงจะยิ่งขยายผล ว่าทำไมผู้หลักผู้ใหญ่ในองค์กรจึงปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้น ก็พยายามรับฟังทั้งสองฝ่าย แต่เสียดายที่สปก. กลางไม่มาชี้แจง หวังว่าสัปดาห์หน้าจะมีโอกาสได้รับฟัง เพราะไม่อยากชี้ว่าใครผิดใครถูกในตอนนี้

"แต่พอเราฟังทั้งหมด สปก. ระดับพื้นที่ เขาก็ยอมรับ จึงทำให้ข้อมูลค่อนข้างเอนเอียงไปทางข้อเท็จจริงที่อาจบอกได้ว่า สปก. เป็นฝ่ายผิด แต่เราก็ทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง ส่วนจะขยายผลไปถึงใคร ก็ต้องให้ผู้ที่มีอำนาจทางกฎหมายดำเนินการต่อไป" รังสิมันต์ ระบุ

ทั้งนี้ รังสิมันต์ ระบุด้วยว่า จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อสอบสวนประเด็นดังกล่าว โดยมีกรอบเวลาดำเนินการ 30 วัน ส่วนตัวมองว่า ไม่จำเป็นต้องรอ เพราะมีข้อเท็จจริงหลายอย่างจาก สปก. จังหวัดแล้ว